สหรัฐแก้ปัญหา PM2.5 อย่างไร?

สหรัฐแก้ปัญหา PM2.5 อย่างไร?

ทุกวันนี้พวกเราต้องการอากาศดีๆ อากาศสะอาด บริสุทธิ์ และเชื่อว่าปลอดภัยต่อสุขภาพเรา

ในสมัยเมื่อสิบกว่าปีก่อน ดิฉันได้ทำงานวิจัยศึกษาความเต็มใจจ่าย(Willingness to pay) ของบุคคลเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศที่ดีในกรุงเทพมหานคร ซึ่งการศึกษาความเต็มใจจ่าย เป็นวิธีการประเมินมูลค่าของสิ่งแวดล้อมในทางเศรษฐศาสตร์สำหรับทรัพยากรที่ไม่มีตลาดสำหรับซื้อขาย

ในช่วงนั้น เรื่องคุณภาพอากาศดูจะเป็นเรื่องไกลตัวและจับต้องไม่ได้ของผู้คน เพราะเหมือนอากาศดูเป็นของฟรีๆ และคุณภาพอากาศยังไม่ได้เลวร้ายจนต้องให้มูลค่ามากนัก การศึกษาจึงพบว่าความเต็มใจจ่ายหรือให้คุณค่ากับคุณภาพอากาศที่ดีของคนในกรุงเทพอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก

แต่ทุกวันนี้ ทุกคนมองเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น และคนจำนวนมากเต็มใจลงทุนเพื่ออากาศที่สะอาดมากขึ้น ซึ่งเราจะพบตั้งแต่การซื้อหน้ากากอนามัย เครื่องตรวจวัดฝุ่น ไปจนถึงเครื่องกรองอากาศคุณภาพสูง และทุกฝ่ายก็ต่างเรียกร้องกับภาครัฐไม่ให้นิ่งนอนใจ และดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้น รวมไปถึงข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้ผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด หรือ Clean Air Act ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยเสียที

เรื่องอากาศสะอาดนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่ ฝุ่น PM 2.5 เพราะยังมีสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหลายตัวในอากาศ เช่น ตะกั่ว ปรอท สารโลหะหนัก ที่ก่อมะเร็งและโรคภัยต่างๆ ให้กับมนุษย์ ดังนั้น อากาศที่สะอาด จึงเป็นสิ่งพื้นฐานที่จำเป็นมากสำหรับมนุษย์ทุกคน

ซึ่งหากมองไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก เราพบว่า สหรัฐเป็นประเทศหนึ่งที่ได้มีกฎหมายอากาศสะอาด(Clean Air Act) มายาวนานแล้วตั้งแต่ปี 1970 แล้ว โดยให้อำนาจทั้งรัฐบาลกลางและมลรัฐต่างๆ ออกกฎเกณฑ์เพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซต่างๆ ทั้งกับโรงงานอุตสาหกรรมและยานพาหนะ

จุดเด่นที่น่าสนใจ คือ สหรัฐมีหน่วยงานที่ชื่อว่า สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ(United States Environmental Protection Agency หรือ EPA) ขึ้นตรงกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำหน้าที่ออกระเบียบวางแผนทบทวนแผนและตรวจสอบ รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานของสารพิษในอากาศ หากพบผู้ละเมิด ทาง EPA จะออกคำเตือนออกคำสั่งให้แก้ไขรวมไปถึงมีอำนาจในการสั่งปรับ หรือแม้กระทั่งฟ้องผู้ละเมิดในศาลได้ด้วย

สหรัฐมีเครื่องมืออะไรในการขับเคลื่อนกฎหมายอากาศสะอาดให้เกิดผลได้จริง?

มาตรการเครื่องมือทางนโยบาย (Policy Instruments) ภายใต้กฎหมายอากาศสะอาดของสหรัฐ แบ่งเป็นวิธีหลักๆ ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยี (Technology Standards) การกำหนดมาตรฐานคุณภาพ (Performance Standard)การควบคุมระดับการปล่อยมลพิษ ระบบการค้าการปล่อยมลพิษ (Emission Trading Systems)และมาตรการทางภาษี

นอกจากนี้ EPA จะระบุถึงกลุ่มผู้ก่อมลพิษ กำหนดมาตรฐานและเกณฑ์ของผู้ก่อมลพิษ เพื่อไม่ให้ปล่อยมลพิษในระดับที่สูงเกินมาตรฐานและส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสวัสดิการสังคม รวมทั้งมีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศแห่งชาติสำหรับสารมลพิษที่เจือปนในอากาศ (National Ambient Air Quality Standards) กำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษที่เกิดจากแหล่งกำเนิดใหม่ๆ (New Source Performance Standards) เพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดประเภทโรงงานอุตสาหกรรม หรือแหล่งกำเนิดมลพิษที่เคลื่อนที่ไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นสหรัฐอเมริกาได้จัดให้มีการพัฒนาแผนปฏิบัติการระดับรัฐ (State Implementation Plans) ซึ่งทำให้มีความชัดเจนในการดำเนินการเฉพาะสำหรับพื้นที่ต่างๆ

เราอาจกล่าวได้ว่า กฎหมายของสหรัฐมีทั้งเน้นการควบคุม และส่งเสริมให้ลดมลพิษอย่างเป็นระบบด้วย ที่สำคัญสหรัฐมีกฎหมายควบคุมมลพิษเฉพาะด้าน เช่น กฎหมายควบคุมคุณภาพอากาศ กฎหมายควบคุมคุณภาพน้ำ ในขณะที่ที่ผ่านมากฎหมายสิ่งแวดล้อมของไทยยังรวมอยู่ในพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพียงฉบับเดียว

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ร่างกฎหมายอากาศสะอาดขึ้นแล้ว โดยเมื่อต้น ม.ค.ที่ผ่านมา หลายฝ่ายได้เร่งรัดผลักดัน พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่อความสะอาดของอากาศ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ความท้าทายที่สำคัญ คือ การตั้งหน่วยงานกลางอย่างEPA ที่มีกลไกการบริหารจัดการอย่างชัดเจนสามารถแก้ไขสถานการณ์วิกฤตคุณภาพอากาศให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมีการติดตามตรวจสอบอากาศในระดับพื้นที่ มีการปฏิบัติการที่ตอบโจทย์ในระดับจังหวัดและสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณภาพอากาศเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบกับประชาชนทุกคน และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ จำนวนมาก ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศที่ดีมากขึ้น ซึ่งในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่คุณภาพอากาศที่ดีจำเป็นต้องที่ทุกฝ่ายจะต้องปรับตัว โดยภาครัฐให้การสนับสนุนในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ประชาชน เกษตรกร หรือโรงงานจะต้องลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ น้ำมัน รถยนต์ การเก็บเกี่ยวผลิตผลทางการเกษตรและอื่นๆ การร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้คุณภาพอากาศของประเทศไทยกลับมาใสสะอาดได้อย่างแท้จริง

โดย... 

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation