เด็กฝาก

เด็กฝาก

เราทุกคนคงรู้จักดีถึงคำว่า ‘เด็กฝาก’ หมายถึงผู้สมัครที่มีคนรู้จักฝากฝัง ยกหูกริ๊งกร๊างมาบอกว่า “เฮ้ย ช่วยดู ๆ ให้ด้วยนะ” เป็นอันรู้กัน

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน บริษัท องค์กร กระทั่งหลักสูตรเรียน ต่างมีทั้งนั้น

คำถามคือ ‘เด็กฝาก’ ต่างจาก ‘เด็กไม่ฝาก’ หรือเปล่า? คนฝากก็อยากรู้ว่าฝากแล้วเข้าได้จริงไหม ส่วนคนที่ถูกฝากก็อยากรู้ว่าเข้ามาแล้วเป็นอย่างไร ใช้งานได้จริงหรือเปล่า

ข้อดีของการเป็น Professor of Practice คือจะมีงานวิจัยและอาจารย์เก่ง ๆ จาก MIT มาแชร์อะไรต่ออะไรให้ได้เรียนรู้เรื่อย ๆ โดยครั้งนี้คือ Dr. Emilio Castilla

ประวัติแกยืดยาว ตั้งแต่ Stanford ไป Wharton จนปัจจุบันอยู่ที่ Sloan School of Management ความเชี่ยวชาญด้าน Human Analytics แปลแบบผมคือ การใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์เรื่องของมนุษย์

“So what happened if you are endorsed?” หมายถึงเด็กฝาก

Emilio ใช้ข้อมูลการสมัครเข้า Business School เป็นฐานของงานวิจัย ใบสมัครใช้ข้อมูลที่สถาบันกำหนด เช่น คะแนนเรียน เรียงความ คำแนะนำจากอาจารย์ กิจกรรม ฯลฯ และมีบางส่วนที่เสริมด้วยการ ‘ฝากฝัง’ ซึ่งในข้อมูลจะระบุว่าเป็นใครบ้าง แล้วนำผู้สมัครสองชุดนี้มาเปรียบเทียบกัน

“ข้อมูลบอกว่า โอกาสของเด็กฝากในการผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์คือ 82% ในขณะที่อัตราสำหรับผู้สมัครทั่วไปคือ 34%” แปลง่าย ๆ คือ เด็กฝาก 10 คนจะได้ไปต่อ 8 คน ส่วนคนที่ไร้การฝากฝัง 10 คน จะรอดไปเพียง 3 คนกว่าๆ

เอาล่ะ นั่นแค่รอบแรก แล้วรอบสุดท้ายล่ะ สุดท้ายสัมภาษณ์แล้วได้งานหรือเปล่า?

“64% of endorsed applicants received an admissions offer compared to 52% of non-endorsed applicants” ในรอบสอง เด็กฝากก็ยังมีอัตราสูงกว่าอยู่ดี แม้จะไม่มากนัก

แต่หากนำมาคิดรวมกัน เท่ากับว่า 5 คนจาก 10 คน หรือครึ่งหนึ่งของเด็กฝากได้งาน ส่วนเด็กทั่วไปจะได้เพียง 1.5 คนจาก 10 คนเท่านั้น!

สรุปว่าระบบการฝากฝังมันแย่ ควรกำจัดให้สิ้นซาก ใช่ไหม?

ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง

1. Performance องค์กรต่าง ๆ ล้วนมีคำถามเดียวกัน นั่นคือ จะฝากหรือไม่ฝากเราอยากรู้ว่าพอรับมาแล้ว ทำงานได้ต่างกันไหม เด็กฝากห่วยกว่าเด็กไม่ฝากหรือเปล่า? ในเคสนี้ ข้อมูลบอกว่าไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะตั้งแต่การพิจารณาช่วงสมัคร ผลประเมินจากการสัมภาษณ์ คะแนนเรียน ไปจนถึงงานที่ได้หลังจบ อัตราเงินเดือน ฯลฯ เด็กฝากไม่ได้แย่กว่า และเด็กฝากก็ไม่ได้ดีกว่าอย่างมีนัยยะ แค่ไม่ต่างกัน

2. Citizenship หากวิเคราะห์ให้ลึกลงไป มีบางเรื่องที่ เด็กฝาก ดูจะต่างจากเด็กอื่น นั่นคือพวกเขามีส่วนร่วมกับกิจกรรมขององค์กรมากกว่า แสดง Leadership และ Citizenship มากกว่า มีการตั้งชมรม เข้าชมรม ลงสมัครเลือกตั้งผู้นำนักเรียน เป็นจิตอาสา รวมถึงเมื่อจบมาแล้ว ก็จะเป็นศิษย์เก่าที่มีความผูกพันกับสถาบัน เช่น บริจาคเงิน มาร่วมงานโรงเรียน

3. Social Connection อย่าลืมว่าการทำ Analytics ลักษณะนี้ เป็นเพียง Correlation ไม่ใช่ Causation แปลว่าผลไม่สามารถนำมาสรุปได้ว่าเด็กฝากดีหรือไม่ดีกว่าผู้สมัครทั่วไปอย่างไร ซึ่งผลชัดที่สุดในกรณีศึกษานี้คือ การมีคนฝากฝังเราน่าจะดีกว่าไม่มี ทางทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตไว้อย่างหนึ่งว่า ความสำคัญด้านสังคม หรือ Social Connection ดูจะมีผลต่อการตัดสินใจของมนุษย์ เช่น ในรอบแรกเมื่อรู้ว่าใครเป็นเด็กฝาก โอกาสของพวกเขาสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 82% ต่อ 34% แต่ในรอบสอง ผู้สัมภาษณ์ไม่รู้ว่าใครบ้างเป็นเด็กฝาก ความแตกต่างของผลที่เกิดน้อยลง คือ 64% ต่อ 52%

“So Emilio, if I’m the Dean of this Business School and I have a choice to implement a ‘no endorsement policy’, what’s your recommendation?” ผมอดไม่ได้ที่จะถาม

“I’d say don’t go that far, but do keep monitoring the situation” ยังไม่ต้องถึงขนาดออกกฎห้ามฝาก แต่ควรใช้ข้อมูลจับตาดูความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

หากการฝากฝัง ทำให้เราได้ผู้สมัครมากขึ้นและดีขึ้น เข้าสู่กระบวนการคัดกรองแล้วผลการทำงานไม่ต่างกันอย่างมีนัยยะ แถมดูจะมีภาวะผู้นำมากกว่า มีส่วนร่วมมีส่วนผูกพันกับองค์กรมากกว่า อย่างที่งานวิจัยนี้พบ ก็ให้ฝากกันต่อไป

แต่ถ้าการฝากฝัง ทำให้เราได้พนักงานที่แย่กว่า เข้ามาแล้วเตะฝุ่นนั่งเล่นไปวัน ๆ ไม่ใส่ใจไม่ให้ความร่วมมือใด ๆ คิดแต่ว่าฉันเส้นใหญ่ไม่มีใครแตะได้ โบนัสก็จะเอาเยอะกว่า ความผิดก็โยนให้คนอื่น เป็นมะเร็งของส่วนรวม อย่างนี้ก็ไม่ควรเอาไว้ ซึ่งข้อมูลมันจะฟ้อง

ผมจึงสรุปสั้น ๆ ให้ว่า เด็ก ‘ฝาก’ โอเค แค่เด็ก ‘กาฝาก’ ไม่โอเค ครับ!