'ผู้นำ' เก่งหรือไม่ ต้องดูในช่วงวิกฤต

'ผู้นำ' เก่งหรือไม่ ต้องดูในช่วงวิกฤต

ตั้งแต่ต้นปีใหม่นี้เป็นต้นมา มีเหตุการณ์ สถานการณ์หลายประการที่เกิดขึ้นทั้งในระดับประเทศและนานาชาติที่ไม่ได้คาดหวังหรือวางแผนล่วงหน้าไว้

ก่อนนำไปสู่ความท้าทายที่สำคัญ สำหรับผู้นำในทุกระดับว่าภายใต้สถานการณ์ที่ผิดปกติเช่นนี้จะนำพาองค์กรผ่านพ้นช่วงวิกฤตเหล่านี้ได้อย่างไร?เหมือนที่กล่าวกันว่ามาตรวัดผู้นำที่แท้จริงไม่ใช่ในภาวะปกติแต่เป็นในช่วงที่สถานการณ์ไม่ปกติ ช่วงภาวะวิกฤต ดังนั้นเรามาดูกันว่าในช่วงสถานการณ์ไม่ปกตินี้ผู้นำควรจะต้องทำอะไรบ้าง

ประการแรกสุดเลย คือผู้นำจะต้องมีสติจะต้องไม่แตกตื่นลนลานไร้เหตุผลฉุนเฉียว หรือเสียสติเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ผิดปกติขึ้นมา มีโอกาสความเป็นไปได้สูงที่ผู้นำจะรู้สึกแตกตื่นลนลานและขาดสติผู้นำ บางคนจะลืมนึกถึงองค์กรและส่วนรวมไปเลย โดยพยายามเอาตัวรอดไว้ก่อนขณะเดียวกันผู้นำที่ดีนั้นจะมีสติสามารถควบคุมตนเองให้สงบเยือกเย็นซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสู่ปัจจัยอื่นๆ ที่ผู้นำต้องทำในภาวะวิกฤต

ประการที่ 2 คือผู้นำจะต้องรู้จักใช้การสื่อสารให้เป็นประโยชน์เพราะเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นไม่ใช่แค่ผู้นำคนเดียวที่ต้องเผชิญกับภาวะดังกล่าว ทุกๆ คนในองค์กรก็จะเผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้นการสื่อสารข้อมูลข่าวสารต่างๆ จากผู้นำถึงทุกคนที่เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น ผู้นำจะต้องสามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจน ตรงประเด็น และภายใต้เวลาที่เหมาะสม(เร็วเกินไปก็ไม่ดี ช้าเกินไปก็ไม่ได้) อีกทั้งยังต้องคอยสื่อสารอย่างสม่ำเสมอตลอดช่วงเวลาแห่งความไม่ปกติและในระหว่างการสื่อสารนั้น ภาพที่ผู้นำจะต้องสื่อออกไป คือภาพของความมีสติและเยือกเย็น

ประการที่ 3 คือผู้นำและองค์กรจะต้องมีการตัดสินใจและการกระทำที่รวดเร็วแต่ไม่ร้อนรนเมื่อสถานการณ์ไม่ปกติ ผู้นำจะต้องเป็นผู้ชี้นำถึงแนวทางในการแก้ไขหรือก้าวข้ามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การตัดสินใจและการกระทำต่างๆ นั้นจะต้องเป็นไปด้วยความรวดเร็วให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่ขณะเดียวกันความรวดเร็วดังกล่าวก็ไม่ใช่การตัดสินใจที่ร้อนรนขาดการไตร่ตรองที่รอบคอบ และระมัดระวังจนนำไปสู่ความเสียหายแก่องค์กร

ประการที่ 4 คือการบริหารความคาดหวังของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเนื่องจากเมื่อมีสถานการณ์ที่ผิดปกติเกิดขึ้น ทุกคนที่เกี่ยวข้องย่อมอยากจะให้สถานการณ์ดังกล่าวจบสิ้นลงอย่างรวดเร็วซึ่งไม่สามารถเป็นไปได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้นำที่จะรู้จักที่จะสื่อสารและบริหารความคาดหวังของทุกๆ คน ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของขนาด ขอบเขตของความรุนแรง หรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ผู้นำย่อมไม่ต้องการทำให้ทุกคนตกใจหรือตื่นกลัวจนเกินเหตุ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ต้องการให้ทุกคนสบายใจจนประมาท

ประการที่ 5 คือผู้นำจะต้องเปิดหูและเปิดใจรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจเพราะในสถานการณ์วิกฤต องค์กรจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่มีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันในการแก้ไขปัญหา ขณะเดียวกันผู้ที่จะใกล้ชิดกับปัญหามากที่สุด ไม่ใช่ผู้อยู่สูงสุดขององค์กรแต่เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในแนวหน้า ดังนั้นการที่ผู้นำสามารถเปิดใจรับฟังความคิดเห็นและข้อมูลจากรอบด้าน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น

ประการที่ คือการปรับตัวอย่างรวดเร็วผู้นำที่ดีในยุควิกฤตจะต้องสามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ผู้นำจะต้องไม่ยึดติดกับแนวทางหรือกลยุทธ์แบบใดแบบหนึ่ง แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปหรือมีข้อมูลใหม่มากขึ้น ผู้นำจะต้องเปลี่ยนและปรับการตัดสินใจได้ตลอดเวลา

ประการที่ 7 คือผู้นำจะต้องเป็นผู้ให้มุมมองและตัดสินใจในภาพใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งองค์กรได้ ผู้นำจะต้องมองภาพใหญ่ของทั้งองค์กรให้ได้ชัดเจน อีกทั้งผู้นำยังจะต้องเป็นผู้ที่สามารถคิดสร้างสรรค์แนวทางและวิธีการใหม่ๆ ที่จะช่วยนำพาองค์กรให้ก้าวผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปให้ได้

ลองดูนะครับว่า ผู้นำของท่านได้ใช้ภาวะผู้นำที่เหมาะสมในสภาวการณ์ที่ไม่ปกตินี้หรือไม่