ถกเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย

ถกเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย

อาทิตย์ที่แล้ว ผมไปร่วมเป็นวิทยากรให้กับงานสัมมนาเศรษฐกิจ จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ

ในหัวข้อ เศรษฐศาสตร์ของความไม่แน่นอนในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีคุณเบอร์กิท ฮานสว์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย รองศาสตาจารย์ ภวิดา ปะนะนนท์ สาขาวิชาการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ โลจิสติกส์และขนส่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยด้านวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ร่วมเป็นวิทยากร มี เกวน์ โรบินสัน บรรณาธิการทั่วไป นิตยสาร นิเคอิ เอเชีย รีวิว และ ประธานสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินรายการ ถือเป็นการรวมพลของนักเศรษฐศาสตร์ นอกภาคราชการที่น่าสนใจเพราะมาจากทั้งภาคเอกชน มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยและองค์กรระหว่างประเทศ แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องเศรษฐกิจกันอย่างตรงไปตรงมา ต่อหน้าผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่มาร่วมฟังแบบเต็มห้องประชุม 

วันนี้จึงจะอยากจะนำสองสามประเด็นจากการสัมมนามาอยากแชร์ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

1.เศรษฐกิจโลก ปลายปีที่แล้ว ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก มองว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากปีที่แล้ว ผลักดันโดยการขยายตัวดีขึ้นของประเทศตลาดเกิดใหม่จากมาตรการภาครัฐที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่นโยบายที่มี แต่ความรู้สึกขณะนี้ได้เปลี่ยนไปเพราะความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกมีมาก โดยเฉพาะด้านนโยบายจากข้อขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าจะยืดเยื้อและจะกดดันเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกต่อไป ที่สำคัญคือ มีความไม่ชัดเจนมากว่าอนาคตของระเบียบการค้าโลกจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร เป็นความไม่แน่อนที่ทำให้การลงทุนเอกชนหยุดชะงัก เร่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ปีที่แล้วขยายตัวต่ำสุดที่ร้อยละ 2.3

นอกจากนี้ ก็มีข้อกังวลใหม่ คือ ผลกระทบจากการระบาดของไข้หวัดอู่ฮั่น ที่จะกระทบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งผลกระทบคงมีมากสุดที่ประเทศจีน ที่จะกระทบความเชื่อมั่นของผู้บริโภค กระทบการใช้จ่าย กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจจีนปีนี้คงจะทรุดลงและอาจมากกว่าปีที่แล้ว ที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวประมาณร้อยละหก หรือต่ำกว่า แต่จากที่จีนเป็นประเทศใหญ่และเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของทุกประเทศในเอเชีย การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จะส่งผลแน่นอนต่อเศรษฐกิจภูมิภาค ผ่านช่องทางการเชื่อมต่อทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน การท่องเที่ยว และห่วงโซ่การผลิต ดึงให้เศรษฐกิจภูมิภาคชะลอลงตาม

สำหรับระยะยาว เศรษฐกิจโลกก็จะเจอกับการตกต่ำของศักยภาพการผลิตที่ผลิตภาพการผลิต(Productivity)เพิ่มขึ้นในเกณฑ์ต่ำ เสริมด้วยปัญหาสังคมสูงวัยและภาวะโลกร้อน สิ่งเหล่านี้ ชี้ว่า ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่เศรษฐกิจโลกมียังไม่สามารถทำให้ศักยภาพการผลิตของเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ซึ่งน่าเสียดายมาก

2.เศรษฐกิจภูมิภาค ภายใต้แนวโน้มที่ดูจะเป็นลบมากกว่าบวก สิ่งที่ดีก็มีเหมือนกัน คือ ศักยภาพทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียที่ได้พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นภูมิภาคเศรษฐกิจที่เติบโตและมีพลวัตมากที่สุดในโลก เป็นผลจากการปฏิรูปเศรษฐกิจ การลงทุน และขยายตัวของการค้าภายในภูมิภาคขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาค ดึงเงินลงทุนและเทคโนโลยี จากต่างประเทศเข้ามาในภูมิภาค และเศรษฐกิจภูมิภาคก็ซื้อขายระหว่างกันมากขึ้น จากการเติบโตของชนชั้นกลางที่กำลังอยู่ในวัยใช้จ่าย เป็นโมเม้นตัมให้ภูมิภาคเอเชียเติบโตได้ต่อเนื่อง

สิ่งเหล่านี้ ทำให้เศรษฐลักษณ์ของภูมิภาคเอเชียได้เปลี่ยนไปจาก การเป็นฐานการผลิตให้คนอื่นเพื่อป้อนตลาดต่างประเทศ มาเป็นการผลิตโดยเอเชียเพื่อการบริโภคของคนในเอเชีย นอกจากนี้ นวัตกรรมด้านดิจิทัลเทคโนโลยีก็ทำให้แบบแผนและวิธีการใช้ชีวิตของคนในภูมิภาคเปลี่ยน เป็นการบริโภคสินค้าบริการมากกว่าสินค้าอุตสาหกรรม เช่น การศึกษา การท่องเที่ยว และการรักษาสุขภาพอนามัย ผลคือ อุตสาหกรรมบริการในภูมิภาคเติบโตเร็วมาก และเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับทุกประเทศในเอเชีย ที่จะพัฒนาความเป็นเลิศด้านบริการรองรับตลาดภูมิภาคที่กำลังขยายตัว นี่คือ โอกาสทางเศรษฐกิจ ที่ประเทศในภูมิภาคจะแข่งกันต่อยอดหาประโยชน์จากแนวโน้มที่เกิดขึ้น ถือเป็นพัฒนาการที่ดี ท่ามกลางสิ่งที่ไม่ค่อยดีที่เศรษฐกิจโลกมีขณะนี้

3.เศรษฐกิจไทย ที่ปีนี้จะมีความท้าทายมาก เพราะปัจจัยภายนอกไม่สนับสนุน ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวที่จะกระทบการส่งออก และการระบาดของไข้หวัดอู่ฮั่น ที่จะกระทบการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย

โดยปรกติเมื่อสถานการณ์ภายนอกไม่เอื้ออำนวย เกิดช็อคจากข้างนอกเข้ามากระทบเศรษฐกิจ เศรษฐกิจจะชะลอมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับความสามารถของเศรษฐกิจที่จะปรับตัว โดยอาศัยความเข้มแข็งของกลไกภายในประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและตัวนโยบาย ที่ประเมินกัน ขณะนี้ เครื่องยนต์เศรษฐกิจของเราทั้งสามตัวดูอ่อนแรง หรืออาจจุดไม่ค่อยติด ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีปัญหาเรื่องกำลังซื้อหรือรายได้ต่ำและความเป็นหนี้ของครัวเรือนที่สูง การลงทุนภาคเอกชนก็ค่อนข้างอ่อนแอ ซึ่งเป็นปัญหาสะสมมาต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาครัฐก็ให้ผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้จำกัด ทั้งจากขนาดของเม็ดเงินที่ใส่ไปและประสิทธิภาพของวิธีใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการ “ชิม ช้อบ ใช้” นอกจากนี้ บีนี้เรามีปัญหาภัยแล้งเข้ามากระทบอีก ทำให้เศรษฐกิจปีนี้เจอหลายปัจจัยกดดัน ซึ่งถ้าการบริหารจัดการเศรษฐกิจไม่ดีพอ ผลทางลบต่อเศรษฐกิจก็จะมาก จากการขาดความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและประชาชนต่อการบริหารจัดการของภาครัฐ

นี่คือประเด็นที่วิทยากรทุกคนในการสัมมนาแสดงความห่วงใย คือ ความสามารถของภาครัฐ หรือรัฐบาลที่จะดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จ ถ้าทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดี ปีนี้ก็อาจเป็นอีกปีที่เศรษฐกิจไทยจะเสียโอกาส และตกอยู่ในกับดักสามต่ำต่อไป คือ โตต่ำ เงินเฟ้อต่ำ และอัตราดอกเบี้ยต่ำ