ทำงานสายการเงินอย่างไร ให้อยู่รอด!

ทำงานสายการเงินอย่างไร ให้อยู่รอด!

คนทำงานสายการเงิน ทำอย่างไรให้พลิกวิกฤตินี้เป็นโอกาส ให้อยู่รอดในสายงาน

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผมได้พูดถึง Fintech Start-up และการทำ Digital Disruption ของสถาบันการเงินต่าง ๆ มาหลายตัวอย่าง มาในวันนี้ผู้คนทั่วโลกต่างได้รับความสะดวกจากบริการด้าน Fintech อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น Mobile Banking, eWallet, Algo Trading, Robo-advisor, Crowdfunding ฯลฯ ในวันนี้ผมจะขอพูดถึงผลกระทบอีกด้านหนึ่งของกระแสการพัฒนาดังกล่าว ที่มีต่อบุคลากรที่ทำงานด้านการเงิน นั่นคือข่าวการปลดพนักงานของสถาบันการเงินระดับโลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2019 ต่อเนื่องมาถึงปี 2020

ก่อนหน้านั้น คนที่ทำงานในวงการการเงินเคยถูกเปรียบเปรยว่าเป็นมนุษย์ทองคำ เนื่องจากได้เงินเดือนค่อนข้างสูงกว่าสายงานอื่น และในบางครั้งอาจจะได้รับโบนัสสูงกว่าเงินเดือนอีกด้วยซ้ำ อย่างที่เคยเป็นประเด็นดราม่าในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 มาแล้ว 10 ปีผ่านไป ในวันที่เทคโนโลยีด้าน Fintech สามารถทำงานทดแทนมนุษย์ได้มากขึ้น มนุษย์ทองคำบางคนได้ถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ซึ่งสามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติ ทั้งในรูปแบบที่ถูกตั้งโปรแกรมไว้ก่อน (Rule-based Automation) และในแบบที่ให้หุ่นยนต์คิดได้ด้วยตัวเอง (Artificial Intelligence)

งานสายการเงินที่ถูกแทนที่ด้วย Fintech ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในวันนี้คือพนักงานตามสาขาธนาคาร เนื่องจากความสะดวกสบายในการใช้งาน Mobile Banking และ Digital Payment ทำให้ผู้บริโภคใช้บริการสาขาธนาคารน้อยลงอย่างมาก ส่งผลให้แทบทุกธนาคารทั่วโลกมีนโยบายในการลดจำนวนสาขาลง งานถัดมาที่ถูก Disrupt อย่างชัดเจนคือบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดทุน เนื่องจาก Mobile Trading ซึ่งมีต้นทุนค่าธรรมเนียมถูก ได้เข้ามาแทนที่เจ้าหน้าที่การตลาดที่รับคำสั่งซื้อขายทางโทรศัพท์ Trader ที่มีประสบการณ์ไม่มากนักถูกแทนที่ด้วย Algo Trading ซึ่งลงทุนแบบอัตโนมัติ แบบที่ Goldman Sachs ได้เคยปลด Trader จำนวนมากมาแล้ว Investment Advisor ซึ่งจัดพอร์ตการลงทุนแบบ Asset Allocation ถูกแทนที่ด้วย Robo-advisor ซึ่งสามารถดูแลลูกค้าจำนวนมากได้พร้อมกัน จนล่าสุด UBS ยักษ์ใหญ่ในวงการ Wealth Management สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งดูแลลูกค้าระดับ High Net Worth ก็เริ่มลดจำนวนพนักงานลงถึง 10%-20% แล้ว กระแสการลดจำนวนพนักงานทั้งหมดที่พูดถึงได้มาพร้อมกับกระบวนการ Digital Disruption ทำให้สถาบันการเงินส่วนใหญ่สามารถเพิ่มผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง และในบางรายมีผลกำไรที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ก่อตั้ง

สำหรับคนที่ทำงานในสายการเงิน คำถามคือทำอย่างไรให้พลิกวิกฤตินี้เป็นโอกาส ทำอย่างไรให้อยู่รอดในสายงานและเจริญก้าวหน้าในยุค Fintech Disruption คำตอบคือ เราต้องไม่มองว่าเทคโยโลยีเป็นศัตรู อย่ามองว่าหุ่นยนต์จะมาแย่งงาน ในทางกลับกัน เราต้องเรียนรู้ที่จะทำงานคู่กับหุ่นยนต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ตัวอย่างเช่น Trader ควรพัฒนาทักษะด้านการเขียนโปรแกรมออกแบบโมเดลการเทรดหุ้นแบบอัตโนมัติโดยใช้ Algo Trading เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ทั้งกับคนด้วยกันเอง ทั้งกับหุ่นยนต์ และกับคนที่ใช้หุ่นยนต์ คนที่ทำหน้าที่ด้านการให้คำปรึกษาการลงทุน จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีด้าน Robo-advisor และ Algo Trading เพื่อช่วยจัดพอร์ตและปรับพอร์ตการลงทุนให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ทันกับสถานการณ์ในโลกที่เปลี่ยนไปแทบทุกวัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะด้านการดูแลลูกค้าในแบบที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้ ซึ่งอาจเป็นการแสดงความเห็นอกเห็นใจ และการดูแลเอาใจใส่ด้วยความจริงใจ Investment Banker ควรศึกษาเกี่ยวกับ Blockchain และ Digital Asset เพื่อนำเสนอบริการที่มีต้นทุนต่ำลงให้กับบริษัทที่ต้องการระดมทุน กล่าวโดยสรุปคือ เราต้องทำงานคู่กับหุ่นยนต์ให้ได้พร้อมกับทำในสิ่งที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้นั่นเอง