ข่าวกัญชาที่ปรากฎในสื่อ รู้สึกว่าจะไปกันใหญ่ เกินจินตนา

ข่าวกัญชาที่ปรากฎในสื่อ รู้สึกว่าจะไปกันใหญ่ เกินจินตนา

คนเป็นจำนวนมากฝันไกลถึงขนาดจะได้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ทำเงินเข้าประเทศเป็นพันล้านหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้

เพราะกัญชา ที่ไม่ใช่เพื่อการแพทย์ยังถือเป็นสิ่งเสพติดตามที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนด และทุกประเทศทั้งโลกเกือบ 200 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ก็จะต้องปฏิบัติตามฉะนั้นที่ประเทศเล็กประเทศน้อย รวมถึงประเทศไทย ประกาศจะเป็นแหล่งผลิตเพื่อส่งออกปีละเป็นพันเป็นหมื่นตันนั้น ทำไม่ได้เลย

แต่ถ้าเป็นเรื่องภายในประเทศ อยู่ในความควบคุมของรัฐอย่างชัดเจนในทุกกระบวนการผลิต มีการขอรับอนุญาตทุกขั้นตอนไม่ว่าปลูก จำหน่าย พัฒนา บริการ รวมถึงวิจัยและพัฒนา อย่างนี้ทำได้

องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) นั้น ไม่เคยยกเลิกกัญชาออกจากสารเสพติดระดับโลก และยังควบคุมสารสกัดจากกัญชาไม่ให้แพร่ขยายอย่างเสรีประเทศต่างๆ ที่ผลิตและจำหน่ายเช่นแคนาดา เนเธอร์แลนด์ สหรัฐ ที่ขยายไปสู่ภาคการผลิตเพื่อนันทนาการ(Recreation) นั้น ต่างอยู่ในกรอบที่ไม่ขัดต่อ WHO เรื่องยาเสพติดทั้งสิ้น มีการควบคุมในทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำไม่ใช่เสรีอย่างที่หลายคนเข้าใจกันเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศที่ต้องการทำธุรกิจกัญชาจึงต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบของ WHO ไม่เช่นนั้นก็ต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกของ WHOแล้วก็ต้องยอมรับสภาพหัวเดียวกระเทียมลีบในเรื่องอื่นๆ ที่เคยได้รับการช่วยเหลือจาก WHO ไม่ว่าเรื่องยา เรื่องวัคซีน เรื่องข้อมูลโรค การระบาดของโรค การควบคุมโรคและอีกมากมายจะทำอย่างไร ถามตัวเองก่อนว่า ถ้าต้องออกจาก WHO ตัดขาดจากการเป็นสมาชิกภาพ แล้วจะอยู่ได้ไหมยิ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศกลุ่มแรกๆที่เข้าร่วมก่อตั้ง WHO และได้รับการชื่นชมจากหลายนโยบายเช่นเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การควบคุมโรคระบาดที่มีผลสัมฤทธิ์สูงเป็นแบบอย่างที่ WHO ยกเป็นตัวอย่างประเทศอื่นๆ แล้วถ้าเราประกาศขัดขืน เพียงเพราะต้องการทำเรื่องกัญชาเสรี ก็ต้องคิดให้ดีๆ เรามีอีกหลายเรื่องที่ต้องพึ่ง WHO เช่นเรื่องการผลิตวัคซีน ที่ WHO ช่วยเรามาตลอด แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ถ้า WHO ไม่รับรองเรา แล้วจะทำอย่างไร ผลิตวัคซีนแล้วจะไปขายใคร ใครจะกล้าซื้อ ใครจะกล้าใช้

นอกเหนือจากเรื่องเหล่านี้ ยังมีเรื่องการเมืองในองค์กรระหว่างประเทศที่หลายคนไม่รู้ เพราะองค์กรระหว่างประเทศทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด ไม่มีรายได้ของตัวเอง แต่ได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศสมาชิกเป็นเงินบำรุงประจำปี เงินบำรุงเหล่านี้มาจากการคำนวณตามสัดส่วนขนาดเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ หรือ Gross Domestic Product (GDP) นั่นหมายความว่า ยิ่งประเทศที่มี GDP สูงก็จ่ายมาก ประเทศพัฒนาแล้วไม่ว่าสหรัฐ แคนาดา เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ รวมถึงประเทศเล็กๆ แต่ร่ำรวยในยุโรปตะวันตกแถบสแกนดิเนเวีย จ่ายค่าบำรุงในสัดส่วนที่สูง

ตรงข้ามกับประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาจ่ายเงินบำรุงน้อยหรือไม่จ่ายเลยก็มี เพราะยากจนอำนาจของประเทศที่จ่ายเงินบำรุงจำนวนมากมีอิทธิพลในองค์กรระหว่างประเทศสูงมาก เพราะถ้าประเทศเหล่านี้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกเมื่อไร องค์กรทั้งหลายจะเอาเงินที่ไหนมาบริหาร และช่วยประเทศด้อยพัฒนาฉะนั้นประเทศร่ำรวยจึงทำอะไรได้มากกว่าประเทศยากจน ต้องเอาความจริงมาพูดกันพูดตรงๆก็คือ ถ้าประเทศสมาชิกร่ำรวยทำอะไร องค์กรจะไม่ขัดขวางมากนัก แต่ถ้าเป็นประเทศเล็กๆอย่างประเทศไทย ย่อมหนีไม่พ้นที่จะอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเคร่งครัดตามกฎระเบียบขององค์กร

ยังมีอีกมากมายหลายเรื่องที่เราถูกครอบงำด้วยกฎระเบียบ ทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้อย่างเสรี เพราะต้องคิดถึงผลกระทบอีกหลายอย่างทั้งโดยตรงและโดยอ้อมรัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ดีๆ