Halo effect ของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า

Halo effect ของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า

World Economic Forum(WEF) ได้ทำคลิปวิดีโอแสดงความสำเร็จของระบบสุขภาพไทย ที่น่าชื่นชมเป็นด้านบวก

แสดงให้เห็นว่าประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยก็สามารถให้บริการระบบสุขภาพแบบถ้วนหน้าได้เช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศในยุโรปเป็นความกล้าของประเทศไทยที่ใช้เงินจากงบประมาณของประเทศ ในขณะที่ประเทศตะวันตกจะไม่ยอมใช้เงินจากงบประมาณ แต่จะมาจากเงินกองทุนที่มาจากภาษีประชาชน อันเป็นข้อจำกัดที่ประเทศกำลังพัฒนาทำไม่ได้การใช้เงินจากงบประมาณของรัฐบาลทำให้การบริการทำได้อย่างไม่ติดขัด เพราะเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่รัฐบาลต้องจัดสรรให้

ในขณะที่ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติทำให้คนไทยเข้าถึงหลักประกันสุขภาพทั่วถึงถ้วนหน้าในฐานะผู้รับบริการ ก็เกิดผลกระทบทางลบอีกมากมายทางด้านผู้ให้บริการแต่ WEF ไม่ได้มองที่จุดนี้ผลกระทบเหล่านี้ ถือเป็น Halo effect ทางลบในระบบสุขภาพ ที่ประเทศอื่นจะต้องเอาไปคิด ถ้าจะใช้ประเทศไทยเป็น model เพราะนั่นหมายถึงการใช้งบประมาณของรัฐมหาศาลที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปี

เฮโล เอ็ฟเฟ็กต์ (Halo effect) นี้เป็นผลการวิจัยเรื่องผลกระทบที่เกิดจากการทดลองของนักวิจัยที่เมือง ฮอธอร์น ที่เรียกว่า Hawthorn experiment เมื่อสมัยเริ่มต้นศึกษาการจัดการสมัยใหม่ เป็นการทดลองแบบ experimental โดยแบ่งกลุ่มทดลองเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มทดลองใช้มาตรการกระตุ้น (experimental group) และกลุ่มที่ดำเนินการเป็นปกติไม่ใช้มาตรการกระตุ้น (control group)เพื่อดูว่า เมื่อมีการใช้มาตรการกระตุ้นเพื่อให้กลุ่มทดลองเพิ่มศักยภาพ ผลของการทดลองจะสามารถสร้างความแตกต่างจากกลุ่มที่ดำเนินการตามปกติ อย่างไรตามสมมติฐานของการทดลองนั้น ผู้ทดลองเชื่อว่ากลุ่มทดลองจะสร้างผลิตภาพได้มากกว่ากลุ่มปกติ

แต่ผลการทดลอง ปรากฎว่า ทั้ง 2 กลุ่มต่างเพิ่มผลิตภาพได้เหมือนกันเหตุผลก็คือ กลุ่มปกติ แม้ไม่ได้รับการกระตุ้นด้วยมาตรการเพิ่มผลผลิตเหมือนกลุ่มทดลอง แต่เมื่อเห็นกลุ่มทดลองทำงานอย่างมีศักยภาพ กลุ่มปกติก็ปรับตัวเองให้มีศักยภาพเช่นกัน จึงทำให้ผลิตภาพเพิ่มขึ้นไม่ต่างกันลักษณะเช่นนีถูกเรียกว่า Halo effect ตั้งแต่นั้นมาแต่เนื่องจากเป็นการทดลองในช่วงสั้นๆ จึงไม่มีเรื่องผลระยะยาวว่าจะเกิดอะไรขึ้นระหว่าง 2 กลุ่ม

สำหรับประเทศไทย เมื่อเริ่มใช้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ก็ทำให้เกิด 2 กลุ่มที่เกี่ยวข้องกัน คือกลุ่มประชาชนที่ใช้บริการหรือที่เรียกว่ากลุ่มทดลอง (Experimental group) กับกลุ่มบุคคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการที่เรียกว่ากลุ่มปกติ (control group) ทำให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการด้านสุขภาพอย่างถ้วนหน้า ไม่มีการแยกแยะว่าผู้รับบริการจะมีพื้นฐานและความต้องการบริการต่างกันหรือไม่ ทุกคนได้เหมือนกันหมด ถือเป็นกลุ่มทดลองที่แสดงถึงผลสำเร็จของโครงการที่น่าพอใจในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ให้บริการยังคงดำเนินการให้บริการเป็นปกติต่อเนื่อง และเพิ่มการให้บริการตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้รับบริการ จึงอาจถือได้ว่าระบบประกันสุขภาพแห่งชาติทำให้เกิดการเพิ่มบริการเป็นเงาตามตัวจากการเพิ่มการใช้บริการ

นี่คือผลระยะสั้น ที่อาจเปรียบเทียบได้ว่าคือ Halo effect เหมือนดังเช่นที่เกิดในการทดลอง Hawthorn experiment เพราะเกิดผลบวกทั้งฝั่งประชาชนผู้ใช้บริการและฝั่งบุคคลากรทางการแพทย์ผู้ให้บริการ

การทดลอง Hawthorn experiment เป็นเรื่องผลระยะสั้นแต่ระบบสุขภาพแห่งชาติของเราเป็นเรื่องผลระยะยาวเป็นหนังเรื่องยาวผลกระทบจากบริการสุขภาพแบบถ้วนหน้า ทำให้เกิดสภาวะงานล้นคน จำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นกว่า 300% ในขณะที่ฝั่งผู้ให้บริการยังคงจำนวนเดิมไม่ว่าจำนวนบุคคลากรเครื่องมืออุปกรณ์วัสดุภัณฑ์เวชภัณฑ์ เพราะไม่มีแผนเพิ่มอัตรากำลังล่วงหน้าและไม่มีใครคิดถึงเรื่องนี้

ผลระยะยาวเริ่มมีผลกระทบมากขึ้น เพราะรัฐบาลคำนึงถึงการให้อย่างเท่าเทียมกับประชาชนถ้วนหน้า แต่ไม่ได้ให้ฝั่งบุคคลากรทางการแพทย์ผู้ให้บริการอย่างถ้วนหน้าด้วยอัตราหรือสัดส่วนเดียวกัน นั่นหมายความว่า ถ้าการเพิ่มการใช้บริการสูงถึง 300% รัฐบาลก็ต้องให้งบประมาณกับฝั่งผู้ให้บริการเพิ่มขึ้น 300% เช่นกันแต่รัฐบาลไทยไม่ได้ทำเช่นนั้นเลย

ความผิดพลาดของรัฐบาลที่ผ่านมา คือการมองในแง่มุมผู้รับบริการเป็นหลัก และมุ่งเน้นความเท่าเทียมในฝั่งประชาชนผู้ใช้บริการ โดยไม่ได้ดูว่าเกิดความไม่เท่าเทียมในฝั่งผู้ให้บริการ เกิดความเลวร้ายขึ้นตามมาเพราะรัฐใช้อำนาจและกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติบังคับให้ฝั่งผู้ให้บริการทางการแพทย์ของหน่วยบริการต้องดำเนินการให้ได้ โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) เป็นเครื่องมือบีบบังคับสร้างกฎเกณฑ์การให้บริการทางการแพทย์ ทั้งๆ ที่การรักษาพยาบาลนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถสร้างกฎเกณฑ์ได้ เป็นเรื่องของดุลยพินิจของแพทย์ในการให้การรักษาแต่ละรายที่ต่างกัน แม้ว่าจะเป็นโรคเดียวกัน

ปรากฎการณ์บิดเบือนระบบสุขภาพที่มุ่งเน้นในเรื่องงบประมาณที่จำกัด และบีบบังคับให้ฝั่งผู้ให้บริการทำงานมากขึ้นแต่ไม่มีงบประมาณและบุคคลากรเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่เหมาะสมกับการใช้บริการทำให้เกิดโกลาหล สถานพยาบาลรัฐแออัดยัดเยียด การใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างไม่จำเป็น การใช้ยาและเวชภัณฑ์เกิดการเบิกจ่ายอย่างไม่สมเหตุสมผล ผู้ใช้บริการเรียกร้องให้บริการเร็วขึ้นมากขึ้น ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐไม่มีคนทำงานบริการ เกิดข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการ เกิดความรุนแรงภายในโรงพยาบาล ทั้งหลายทั้งปวงเป็นผลทางลบหรือ negative effect ที่เป็นผลระยะยาวของนโยบายประกันสุขภาพแห่งชาติที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง แก้ไม่ตกจนถึงปัจจุบัน

ปัญหาเหล่านี้ถือเป็น Halo effect ที่เป็นด้านลบ เป็นด้านที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO มองข้าม เป็นเรื่องที่องค์กร WEF ไม่ได้มองทะลุ แต่มองเพียงด้านบวก ด้านดีที่เกิดกับประชาชนโดยรวม

เหรียญนั้นมี 2 ด้านเสมอ สิ่งสำคัญสำหรับรัฐบาลก็คือจะทำอย่างไรให้ทั้ง 2 ด้านนั้น มีความสมดุล ไม่ใช่ด้านหนึ่งมีแต่ได้กับได้ แต่อีกด้านหนึ่งมีแต่เสียกับเสีย เพราะเมื่อเกิดสภาวะไม่สมดุลมากขึ้นเรื่อยๆโดยไม่มีการแก้ไข ในที่สุดระบบก็จะเข้าสู่จุดล้มเหลว ที่อาจไม่สามารถแก้ไขกลับคืนมาได้เป็น failure state ในด้านระบบสุขภาพที่ไม่มีใครอยากเห็น