จากทุนวัฒนธรรมสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย

จากทุนวัฒนธรรมสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย

ในหลายประเทศมีแนวทางการนำวัฒนธรรมมาต่อยอดเป็นสินค้าสร้างสรรค์แตกต่างกัน สำหรับไทยในอดีตอาจจะยังไม่เห็นภาพชัดเจนและขาดความต่อเนื่อง

เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่ดำเนินการภายใต้ภารกิจของแต่ละแห่ง แต่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ การขับเคลื่อนมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นจากการดำเนินการหลายๆ ด้าน

เริ่มตั้งแต่การจัดตั้ง Creative Economy Agency(CEA) หรือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)จากการยกระดับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC เป็นองค์การมหาชนเพื่อเป็นหน่วยงานเฉพาะด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ประกอบผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น วัฒนธรรม เทคโนโลยี การตลาดและการพัฒนาคนเพื่อให้การทำงานมีลักษณะ Agenda Based ที่ต้องมีการมองภาพและลงมือทำร่วมกันในมิติที่หลากหลาย เช่น การพัฒนาย่านสร้างสรรค์

CEA เริ่มดำเนินโครงการพัฒนาเจริญกรุงสู่ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative District) เมื่อปี 2558 โดยการย้ายสถานที่ตั้ง TCDC มายังอาคารไปรษณีย์กลาง เพื่อเป็นแลนด์มาร์กใหม่ เปลี่ยนอาคารเก่าให้กลายเป็นพื้นที่ใช้สอยใหม่ และสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพของเจริญกรุงในด้านการเป็นแหล่งรวมสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม พร้อมกับทำงานร่วมกับชุมชน นักสร้างสรรค์และนักวิจัยในการค้นหาแนวทางการพัฒนาพื้นที่ที่สะท้อนเอกลักษณ์ของย่านและสอดคล้องความต้องการของชุมชน จนได้เป็นแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ คือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การเชื่อมตรอกซอยเพื่อให้เกิดการสัญจร การเพิ่มป้ายหรือสัญลักษณ์บอกทาง การใช้อาคารเปล่าที่ถูกทิ้งไว้ให้เกิดประโยชน์ และการส่งเสริมให้เข้าถึงพื้นที่ริมน้ำ ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายมากมาย

หนึ่งในแพลทฟอร์มความร่วมมือที่สำคัญ คือ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 (Bangkok Design Week) ที่กำลังจะจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ในระหว่างวันที่ 1-9 ก.พ. 2563 โดยการผสมแนวทางของการพัฒนาย่านเจริญกรุงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล ตั้งแต่การใช้พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานเป็นสถานที่จัดแสดงผลงานการพัฒนาพื้นที่ เช่น ป้ายบอกทาง ป้ายรถเมล์ ทางม้าลาย รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการสัญจรภายในพื้นที่ โดยจากการประเมินผลของการจัดงานในช่วง 9 วันในปี 2562 พบว่าสามารถสร้างผลทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่า 280 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงชุมชนที่มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาชื่นชมวัฒนธรรมและขยายโอกาสในการนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าได้อีกด้วย

เมื่อเปรียบเทียบเจริญกรุง ตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มจนถึงปี 2562  มีการเปลี่ยนแปลงจากที่เคยซบเซากลับมามีชีวิตชีวา จำนวนพื้นที่ว่างและอาคารที่ไม่ถูกใช้งาน ลดลงถึง 62% มีธุรกิจเปิดใหม่กว่า 40 แห่ง พื้นที่ว่างหรือร้างถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ไม่น้อยกว่า 20 แห่ง และภายใน 1 ปี มีการจัดงานในย่านรวมกว่า 70 งาน (ประเภทงานศิลปะและออกแบบ 45 งาน) รวมถึงมีการลงทุนพัฒนาพื้นที่ริมน้ำที่เคยปิดให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ส่งผลให้ย่านเจริญกรุงเกิดภาพจำใหม่ ในฐานะ ย่านแห่งศิลปะและการออกแบบ” กลายเป็นอีกจุดหมายของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่ต้องการมาสัมผัสบรรยากาศแห่งความสร้างสรรค์ของกรุงเทพฯ

อีกหนึ่งแพลทฟอร์ม คือการสมัครเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก อย่างเช่นกรณีกรุงเทพฯ ที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ ที่ไม่เพียงเป็นการสร้างช่องทางในการประชาสัมพันธ์กรุงเทพฯ ในแง่มุมใหม่ๆ แต่ยังช่วยส่งเสริมการร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ ในการแลกเปลี่ยนความรู้และดำเนินโครงการพัฒนาเมืองเช่น โครงการต้นแบบการฟื้นฟูย่านเมืองเก่า ประเภทประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณกะดีจีน-คลองสาน โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณย่านตลาดน้อย และคลองโอ่งอ่างให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อนและการทำมาค้าขายของชุมชน 

ขณะที่เชียงใหม่และสุโขทัยเข้าร่วมเป็นเครือข่ายฯ สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) ส่วนภูเก็ตเป็นเครือข่ายด้านอาหาร (Gastronomy) ซึ่งจะทำให้หน่วยงานต่าง ๆ มองเห็นภาพการเล่าเรื่อง (Story Telling) ของเมืองไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้มีการวางแผนกำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองและจัดทำนโยบายร่วมกันได้ชัดเจนขึ้น

โมเดลย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์เจริญกรุงนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งและยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นCEA ยังต้องมีภารกิจในการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าถึง 1.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.1% ของGDP ในปี 2560 ให้เติบโตกลายเป็นขุมพลังในการผลิตสินค้าและบริการที่ก่อให้เกิดการจ้างงาน และเชื่อมโยงไปยังภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ให้เกิดการนำความคิดสร้างสรรค์ไปใช้สร้างมูลค่าเพิ่มและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

โดย... สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)