“Apple” เจ้าสังเวียนดีสรัปชั่น [3]

“Apple” เจ้าสังเวียนดีสรัปชั่น [3]

แอปเปิ้ลได้ชื่อว่าริเริ่มไลฟ์สไตล์ดิจิทัลในการใช้ชีวิตประจำวัน ดิสรัปการทำงานของผู้คนตลอดจนธุรกิจไปตลอดกาลผ่านไอโฟนที่ทำงานเหมือนคอมพิวเตอร์

และเปิดช่องทางการทำงานและการให้บริการผ่านแอพที่มีมากถึง 1,840,000 แอพในแอพสโตร์ (App Store) เพื่อให้เรียกใช้บริการใน 155 ประเทศและสร้างรายได้ให้กับเหล่านักพัฒนาแอพกว่า 155,000 ล้านดอลลาร์ ด้วยจำนวนผู้ใช้ไอโฟนกว่า 900 ล้านรายทั่วโลกช่วยให้แอปเปิ้ลถูกประเมินมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อเดือนธันวาคม 2019

ตั้งแต่ที่ไอโฟนเครื่องแรกถูกจำหน่ายในปี 2007 แอปเปิ้ลได้ดีสรัปอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องด้วยอุปกรณ์ที่ถูกใจผู้คนมากมายตั้งแต่ iPod, iPad, Mac, Watch, Apple TV, HomePod และ Siri ตามด้วยบริการแก่สมาชิกผ่าน iTunes Store, App Store, Apple Music, Arcade, iCloud รวมถึง Apple Pay และ Apple Card แต่แอปเปิ้ลก็กำลังเผชิญกับการท้าทายอย่างหนักในทุกสายผลิตภัณฑ์และบริการที่ริเริ่มขึ้น รวมถึงด้าน Map, Music, Streaming VDO, Digital Assistant หรือ Ambient Computing และที่สำคัญมากในเวลานี้คงไม่พ้น AI จนต้องจับตามองถึงกลยุทธ์และนวัตกรรมของแอปเปิ้ลในปี 2020 เพื่อให้สามารถครองความเป็นผู้นำดิจิทัลต่อไป

 

ขยายอีโคซิสเต็ม

จากการริเริ่มในการเป็นทั้งผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และผู้ให้บริการเซอร์วิสครบในตัว ทำให้แอปเปิ้ลสามารถสร้างสรรค์อุปกรณ์แห่งอนาคตผ่านทีมนักออกแบบนักวิจัยและพัฒนาระดับแนวหน้า โดยซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งและรีเทลล้ำสไตล์ จนเกิดเป็นอีโคซิสต้นแบบที่หลายแบรนด์ลอกเลียน ด้วยการสร้าง Smart Devices ที่ทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์หรือแอพไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพ ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์ อ่านบทความหรือทำงานได้เป็นเลิศก่อนใคร

ถึงวันนี้แอปเปิ้ลได้รุกหนักด้วยบริการแบบสมาชิก (Subscription Service) ผ่านความนิยมหลากหลาย อาทิ “Apple Music” มีเพลงกว่า 60 ล้านเพลงจาก 115 ประเทศและมีสมาชิกถึง 60 ล้านราย ในปี 2019 แอปเปิ้ลได้เปิดตัว “Apple TV+” พร้อมกันใน 100 ประเทศทั่วโลกพร้อมทั้งเปิดช่องกว่า 30 ช่องใน “Apple TV App” เพื่อนำเสนอรายการพรีเมี่ยมทั้งออนไลน์และออฟไลน์แก่สมาชิก อีกทั้งยังได้เปิดบริการ “Apple Arcade” เพื่อบริการเกมส์เอ็กซ์คลูซีพแก่สมาชิกรายเดือน รวมถึงบริการ “Apple News” ที่มีผู้อ่านกว่า 100 ล้านรายทั้งในอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลียและแคนาดา และการเปิดตัว “Apple News+” ที่รวมแมกกาซีนและหนังสือพิมพ์ชั้นนำเพื่อให้สมาชิกเลือกอ่านตามความพอใจ

นอกจากนี้แอปเปิ้ลยังได้สร้างเครดิตการ์ดขึ้นใหม่ที่ชื่อว่า “Apple Card” ซึ่งเปิดใช้งานในอเมริกาและหลายประเทศ โดยร่วมกับพันธมิตรสำคัญอย่าง Goldman Sachs และ Mastercard ที่มีจุดเด่นของการให้เงินคืน (Cash Back) แก่ผู้ใช้ทุกวัน โดย Apple Card ทำงานกับ “Apple Pay” ซึ่งเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลของแอปเปิ้ลที่มีผู้ใช้งานกว่า 440 ล้านราย เพื่อนำแอปเปิ้ลก้าวสู่การให้บริการทางการเงินแก่สมาชิก และเพิ่มความสะดวกในยุคสังคมไร้เงินสดผ่านไอโฟนและแอปเปิ้ลวอช

 

โอกาสของ Wearables และ Home

แม้ Siri ซึ่งเป็น Virtual Assistant ของแอปเปิ้ลได้ปรากฎตัวตั้งแต่ปี 2011 แต่ก็ถูก Alexa, Google Assistant และ Cortana เข้าช่วงชิงความเป็น Voice Platform ยอดนิยมที่อินทริเกรทเข้ากับอุปกรณ์ที่อยู่รายรอบตัว ซึ่งเมื่อเสริมเข้ากับนวัตกรรมอินเตอร์เน็ตออฟติงส์ (IoT) และคลาวด์คอมพิวติ้งจึงเพิ่มโอกาสในการดีสรัปธุรกิจผ่านรูปแบบ Ambient Computing ที่จะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ผู้คนไปอีกขั้น โจทย์ของแอปเปิ้ลที่ต้องนำ HomePod และพันธมิตรของ HomeKit ขยายเส้นทาง Smart Home ในสนามของ Amazon Echo และ Google Home จึงเป็นเรื่องท้าทายเกินกว่าจะถูกมองข้าม

แต่เมื่อแอปเปิ้ลมี Wearable สุดล้ำอย่าง Apple Watch, AirPod และ Beats Headphone มานำทัพจึงช่วยสร้างยอดขายกว่า 24,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 จนทำให้ Apple Watch และผลิตภัณฑ์ “Hearable” กลายเป็นประเภทสินค้ามาแรง

 

บุกตลาด Health

Apple Watch Series 5 ทำให้แอปเปิ้ลทิ้งห่างในสนาม Wearable และตรงเข้าสู่ตลาดสุขภาพด้วยฟังก์ชั่น ECG ที่สามารถบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และทำให้ Watch กลายเป็นศูนย์ควบคุมสุขภาพติดตัวด้วยฟังก์ชั่น Fitness Tracker ที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังสามารถใช้บันทึกเสียงการสนทนาหรือการประชุม (Voice Memo) และใช้เพื่อช่วยเตือนหากเสียงรอบข้างดังจนอาจเกิดอันตรายต่อโสตประสาท เชื่อว่าแอปเปิ้ลกำลังพัฒนาฟังก์ชั่นเพื่อเพิ่มความสามารถในการบันทึกและจัดการสุขภาพให้มากขึ้น จนเป็นที่กล่าวกันว่า Apple Watch จะเป็นอนาคตของแอปเปิ้ล

 

ดีสรัปอย่างสร้างสรรค์

ความสามารถของแอปเปิ้ลในการเป็นทั้งผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และผู้ให้บริการออนไลน์ได้สร้างอีโคซิสเต็มต้นแบบที่ดีสรัปชีวิตผู้คนและอุตสาหกรรมทั่วโลก และผลักดันให้แอปเปิ้ลสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่พรีเมื่ยมจนยากในการต่อกร โดยเฉพาะความเชื่อมั่นที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์ได้ทำให้แอปเปิ้ลรักษาภาพลักษณ์แห่งคุณภาพและความเป็นเลิศเหนือสถานการณ์ ความไม่หยุดนิ่งในการเป็นผู้นำแห่งนวัตกรรมและการออกแบบของแอปเปิ้ลคงทำให้อุตสาหกรรมต้องศึกษาและปรับตัวเพื่อก้าวให้ทันกับดีสรัปชั่นครั้งต่อไป