ทำความรู้จัก “วิสาหกิจเพื่อสังคม”

ทำความรู้จัก “วิสาหกิจเพื่อสังคม”

ในการประกอบธุรกิจที่จัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด

 มีเป้าหมายหลักคือแสวงหากำไรและแบ่งปันผลกำไรนั้นให้ผู้เป็นหุ้นส่วนตามสัดส่วนการลงทุน หรือนำกำไรจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนหุ้นที่ถือ

ที่ผ่านมา มีบุคคลที่มีความคิดจะจัดตั้งบริษัท เพื่อประกอบธุรกิจที่ไม่ได้หวังนำกำไรมาแบ่งปันกันเป็นเป้าหมายหลักแต่เพื่อการประกอบธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการจ้างงานแก่บุคคลที่สมควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพื่อไขปัญหาและพัฒนาชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ยังขยายตัวไม่มากและยังไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ตามเจตนารมณ์ เนื่องจากการจัดตั้งบริษัทประกอบกิจการเพื่อสังคมยังไม่มีกฎหมายส่งเสริมสนับสนุนรองรับ และการจัดตั้งบริษัทโดยจะไม่นำผลกำไรมาแบ่งปันกัน ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะหุ้นส่วนบริษัทมาตรา 1012 ที่บัญญัติว่า อันสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น

บัดนี้ได้มีการตราพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ส่งเสริมวิสาหกิจ เพื่อสังคม พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับแล้ว มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.2562 เป็นต้นไป โดยมีเหตุผล คือโดยที่การประกอบธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการจ้างงานแก่บุคคลผู้สมควรได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษ การแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชน สังคมหรือสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอื่นหรือคืนประโยชน์ให้แก่สังคม อันเป็นกิจการเพื่อสังคมหรือวิสาหกิจเพื่อสังคม สมควรได้รับการส่งเสริมให้ขยายตัวมากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

พระราชบัญญัติฉบับนี้มีสาระสำคัญโดยสรุปคือ

1 คำนิยาม ที่สำคัญคือ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” หมายความว่า บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่ายสินค้า หรือการบริการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการ และได้รับการจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.นี้

“กลุ่มกิจการเพื่อสังคม” หมายความว่า บุคคลธรรมดา กลุ่มบุคคล ชุมชน หรือนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่ายสินค้า หรือบริการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการ และได้รับการจดแจ้งเป็นกลุ่มกิจการเพื่อสังคม ตาม พ.ร.บ.นี้

2.วัตถุประสงค์และลักษณะของวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งการจะประกอบกิจการเพื่อสังคมต้องจดทะเบียนตามพ.ร.บ.นี้ และต้องเป็นกิจการที่มีมีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งต้องมีลักษณะ ตามมาตรา5 (1)ถึง(6) ที่สำคัญคือ(1) เพื่อส่งเสริมการจ้างงานแก่บุคคลผู้สมควรได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษ การแก้ปัญหาหรือพัฒนาชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม หรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอื่นหรือคืนให้สังคมตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

3.ประเภทของวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งตามมาตรา 6 การจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคม มี 2 ประเภทคือ วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่ประสงค์แบ่งกำไรให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น และวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ประสงค์แบ่งกำไรให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น

ตามมาตรา6 วรรคสอง บัญญัติให้วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่ประสงค์จะแบ่งปันกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้น ให้สามารถจัดตั้ง เป็นห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดได้ โดยให้ถือว่าวัตถุประสงค์ในการนำผลกำไรไปใช้เพื่อสังคมเป็นการแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น ซึ่งเป็นบทบัญญัติ ที่ทำให้วัตถุประสงค์ของกิจการเพื่อสังคมที่ไม่ประสงค์แบ่งกำไรให้หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นไม่แย้งกับกฎหมายลักษณะหุ้นส่วนบริษัท

4.คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมให้มีคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน มีหน้าที่และอำนาจตามมาตรา 19

5.สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมให้จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายงบประมาณหรือกฎหมายอื่น มีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ในกำกับของนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ตามมาตรา 24 มีหน้าที่โดยรวมคือ ให้ความช่วยเหลือและพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมและกลุ่มกิจการเพื่อสังคมและกำกับดูแลติดตามการดำเนินกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

6.กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ตามมาตรา 46 ให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมขึ้น ในสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยเงินส่วนหนึ่งมาจากเงินที่วิสาหกิจเพื่อสังคม ต้องจ่ายสมทบให้กองทุน

7.การส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม

ตามมาตรา 59 วิสาหกิจเพื่อสังคมอาจได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนคือ ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนตามมาตรา 48 หรืออาจได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรหรืออาจได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ หรืออาจได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอื่น

8.บทกำหนดโทษ

ผู้ใช้ชื่อวิสาหกิจเพื่อสังคมประกอบเป็นชื่อในการดำเนินการประกอบกิจการ โดยไม่ได้จดทะเบียน ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 2 หมื่นบาทและหากยังฝ่าฝืนต้องใช้ค่าปรับรายวันวันละ 500 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

9.ข้อสังเกต (1)ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่จัดตั้งขึ้นแล้ว หากจะจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยที่วัตถุประสงค์เดิม ไม่ได้ระบุเพื่อประกอบวิสาหกิจเพื่อสังคมไว้ คงต้องมีการเพิ่มเติมวัตถุประสงค์และจดทะเบียนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทด้วย

( 2)สำหรับห้างหุ้นส่วนบริษัท ที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่และจะจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทไม่แบ่งปันกำไรจะต้องอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 วรรคสองในการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน หรือบริษัท ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท

(3)ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือบริษัทที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม นอกเหนือจากมีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชี จัดงบการเงินและดำเนินการตามกฎหมายการบัญชีและตามกฎหมายหุ้นส่วนบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัดแล้วยังมีหน้าที่ทำรายงานผลประกอบการประจำปี รายงานทางการเงินที่รับรองโดยผู้สอบบัญชี และรายงานผลลัพธ์จากการดำเนินกิจการเพื่อสังคม ยื่นต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมตามมาตรา 12 ด้วย