ความท้าทายในการจัดตั้งตลาดหุ้นวิสาหกิจเพื่อสังคม

ความท้าทายในการจัดตั้งตลาดหุ้นวิสาหกิจเพื่อสังคม

ผมมีความสนใจเกี่ยวกับวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise หรือ SE) มาเป็นเวลานานราว 20 ปีแล้ว

โดยเป็นคนแรกๆ ที่นำเสนอแนวคิด“การประกอบการเพื่อสังคม” ในสังคมไทย(ตัวอย่างเช่นบทความล่าสุดเรื่อง “ผู้ประกอบการเพื่อสังคม : ความหวังใหม่ในการพัฒนาสังคมไทย” Blog OK Nation โพสต์เมื่อ 26 มี.ค.2550)นอกจากนี้ ผมทำงานวิจัยยุทธศาสตร์วิสาหกิจเพื่อสังคม 3 แสนองค์กร ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษอีกด้วย

ผมยังพยายามผลักดันการส่งเสริมSE ในประเทศไทย อาทิการจัดตั้งสถาบันการประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneurship Institute)รวมทั้งแสวงหาการสนับสนุนจากต่างประเทศ โดยผมได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานองค์กรผู้นำการเมืองเพื่อวิสาหกิจสังคม (Political Leaders for Social Enterprise) ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

นับว่าความพยายามของผมไม่เสียเปล่า เพราะหลังจากนั้น ภาครัฐและเอกชนเกิดความตื่นตัวในการส่งเสริมSE เช่น การจัดตั้งสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ ในปี 2554 ต่อมาเปลี่ยนเป็นสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ปี 2562 ขณะที่ภาคเอกชนรวมตัวเป็นสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม เป็นต้น

ความคืบหน้าในการส่งเสริม SE ที่ผมให้ความสนใจ คือ การอนุญาตให้ SE ที่จดทะเบียนตามพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม สามารถเสนอขายหุ้นต่อประชาชนได้ (แต่ยังนำหุ้นไปซื้อขายในตลาดรองไม่ได้)ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ส่งเสริมความตระหนักและความเข้าใจ เกี่ยวกับการลงทุนเพื่อสังคมจัดทำโครงการ social impact investment เพื่อเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจและภาคสังคม

ความคืบหน้าดังกล่าว สอดคล้องกับชุดแนวคิดเกี่ยวกับการลงทุนทางสังคม ที่ผมได้เสนอไว้เป็นเวลานานแล้ว อาทิ การส่งเสริมการลงทุนภาคสังคม (BOI ภาคสังคม) การระดมการลงทุนทางสังคมจากหน่วยธุรกิจทั่วโลก การลดภาษีสำหรับผู้ประกอบการเพื่อสังคม รวมทั้งการจัดตั้งตลาดหุ้นเพื่อสังคม(Social Stock Exchange: SSE) ด้วย

เหตุที่ผมสนใจประเด็นนี้ เนื่องจากการขาดแคลนเงินลงทุนเป็นปัญหาสำคัญขององค์กรภาคประชากิจ แม้ว่า SE มีความสามารถในการสร้างรายได้ด้วยตัวเอง แต่การขาดแคลนแหล่งเงินทุนเฉพาะสำหรับ SE ก็เป็นอุปสรรคในการจัดตั้งและขยายกิจการของ SE

ถึงแม้ว่านักลงทุนจำนวนหนึ่งพร้อมจะลงทุนกับ SEแต่พวกเขาต้องการความมั่นใจในความโปร่งใสทางการเงินและความสามารถสร้างผลกระทบทางสังคมของกิจการเพื่อสังคม ที่พวกเขาจะสนับสนุนทางการเงิน

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ SSEควรจะเกิดขึ้น ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างกิจการเพื่อสังคมและนักลงทุน โดยสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานทางบัญชี การเปิดเผยข้อมูล การตรวจสอบและรับรองมาตรฐานขององค์กรที่เข้ามาระดมทุน รวมทั้งจัดให้มีแพลตฟอร์มหรือกลไกสำหรับการเชื่อมโยงและซื้อขายหลักทรัพย์ของกิจการเพื่อสังคม

อย่างไรก็ดีการพัฒนาตลาดทุนสำหรับ SE ในประเทศไทย ยังมีความท้าทายบางประการที่ต้องจัดการให้ได้

ประการแรก คือ การพัฒนาSE ในเชิงคุณภาพและปริมาณ

ประเด็นสำคัญของการพัฒนาตลาดทุนสำหรับ SE ในประเทศไทย ไม่ใช่เพียงการพัฒนานักลงทุนทางสังคมเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาคุณภาพของ SE ทั้งระบบเพราะหากในประเทศมี SE จำนวนมากพอ มีความสามารถสร้างผลกระทบทางสังคม รวมทั้งสามารถสร้างผลกำไร เพื่อคืนกำไรบางส่วนให้กับนักลงทุนได้ นักลงทุนย่อมยินดีที่จะนำเงินมาลงทุน

แต่ปัจจุบัน SE ในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น จำนวนองค์กรยังมีไม่มากนัก ยิ่งไปกว่านั้นที่มีอยู่ยังไม่แข็งแรงพอ ทำให้ตัวเลือกสำหรับการลงทุนยิ่งมีจำนวนน้อยลง ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กับการสร้างความตระหนักและความเข้าใจแก่นักลงทุน คือ การพัฒนา SE ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ

ผมได้เสนอแนวคิดไว้จำนวนหนึ่ง ในการส่งเสริม SE อาทิ การปรับปรุงแนวคิดของระบบการศึกษา จากเดิมที่เน้นพัฒนาคนและองค์ความรู้ เพื่อตอบสนองความต้องการของภาครัฐกิจและธุรกิจ มาเป็นการให้ความสำคัญกับการผลิตผู้ประกอบการ บุคลากรและองค์ความรู้ สำหรับภาคประชากิจมากขึ้น การพัฒนาระบบนิเวศน์ของ SE การพัฒนาระบบสนับสนุนองค์กรภาคประชากิจ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งกระทรวงประชากิจ แหล่งเงินทุนสำหรับ SEศูนย์บ่มเพาะ SE เป็นต้น

ประการต่อมา คือ การพัฒนามาตรฐานสำหรับSE

การที่ SE จะสามารถจดทะเบียนใน SSE ไม่ใช่เรื่องง่าย ในประเทศกำลังพัฒนา SE ต้องใช้เวลา 12-18 เดือน เพื่อเตรียมการจดทะเบียนในSSE ตั้งแต่การทำความเข้าใจกฎระเบียบเกี่ยวกับมาตรฐานทางบัญชีและการเงิน ความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับการจัดหาเงินทุน การเปิดเผยข้อมูลการประกอบการ การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบที่เป็นมาตรฐาน เพื่อสื่อสารผลกระทบทางสังคมต่อนักลงทุน

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังขาดมาตรฐานสำหรับองค์กรแบบ SE ซึ่งมีความแตกต่างจากองค์กรธุรกิจทั่วไป เพราะวัตถุประสงค์หลักของ SE คือ การสร้างผลกระทบทางสังคม แต่กระนั้นการวัดผลกระทบทางสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการดำเนินงานทางสังคมมีความแตกต่างหลากหลาย และผลกระทบทางสังคมมีหลายรูปแบบ อาจไม่ปรากฏชัดเจนเหมือนกับผลกำไรของภาคธุรกิจ

ผมคิดว่า หากเป็นไปได้ มาตรฐานการประเมินผลกระทบทางสังคมสามารถวัดออกมาเป็นรูปตัวเงินได้ซึ่งจะทำให้นักลงทุนหรือนักวิเคราะห์สามารถวิเคราะห์และเปรียบเทียบผลประกอบการของ SE ได้ รวมทั้งวิเคราะห์ราคาหุ้นของ SE ได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ดี การประเมินดังกล่าวอาจต้องใช้เทคนิคการประเมินที่ซับซ้อน อาจจำเป็นต้องมีผู้ประเมินที่เชี่ยวชาญและเป็นอิสระ ทำให้มีต้นทุนการประเมินที่ค่อนข้างสูงประเด็นเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องนำมาคำนึงถึงในการออกแบบมาตรฐานสำหรับ SE

ประการสุดท้าย คือ การพัฒนานักลงทุนเพื่อสังคมรายย่อย

ปัจจุบัน การพัฒนานักลงทุนเพื่อสังคม เน้นกลุ่มนักลงทุนที่เป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีความต้องการทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม แต่การพัฒนานักลงทุนเพื่อสังคม ยังไม่ได้ลงไปถึงรายย่อยหรือประชาชนทั่วไปมากเพียงพอซึ่งผมคิดว่านักลงทุนรายย่อยมีการบริจาคเงินเป็นปกติอยู่แล้ว

ดังนั้นหากเราสามารถสร้างความตระหนักและความเข้าใจกับกลุ่มนักลงทุนรายย่อยว่า พวกเขาสามารถลงทุนพร้อมกับทำบุญไปพร้อมกันได้ รวมทั้งการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อให้นักลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนใน SE ได้สะดวก เช่น แพลตฟอร์มการลงทุนออนไลน์ ระบบข้อมูลข่าวสารการลงทุนใน SE เป็นต้น เราจะสามารถระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อยที่มีจำนวนมากได้ ทำให้ SE มีโอกาสได้รับเงินทุนเพิ่มมากขึ้น

ตลาดหลักทรัพย์สำหรับSE เป็นหนึ่งในมาตรการที่จำเป็นสำหรับการส่งเสริม SE ในประเทศไทย แต่การพัฒนา SE ในประเทศไทยยังเพิ่งเริ่มต้น และยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ เพื่อทำให้สังคมของเราดีขึ้น