รักษาโรคแบบ“แม่นยำ” แบบ“องค์รวม” อย่างไหนดีกว่ากัน

รักษาโรคแบบ“แม่นยำ” แบบ“องค์รวม” อย่างไหนดีกว่ากัน

การรักษาโรคแบบแม่นยำของแพทย์แผนปัจจุบัน (precision) กับการรักษาโรคแบบองค์รวมของแพทย์ทางเลือก (holistic) เป็นอะไรที่ถกเถียงกันมานานแล้ว

ผมเองไม่ได้เป็นแพทย์ และไม่รู้เกี่ยวกับการรักษาโรค ทั้งโดยแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือก แต่เวลามีคนพูดถึงเรื่องการรักษาโรคที่มีการให้ยาผู้ป่วย มักได้ยินการโต้แย้งระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันกับแพทย์ทางเลือกบ่อยๆ

แพทย์แผนปัจจุบันนั้นมีความชัดเจนว่าการให้ยาเพื่อการรักษาอาการป่วยจะต้องแน่นอนทั้งในแง่จำนวนและประสิทธิภาพ เช่น ให้ยาแก้ปวดขนาด 500 มิลลิกรัม รับประทาน 2 เม็ดก่อนอาหาร แต่การรักษาของแพทย์ทางเลือกนั้นไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาอาการป่วยเป็นคราวๆ ไป เช่น ให้ยาเริ่มต้นทีละนิดแล้วค่อยให้เพิ่มขึ้นถ้าได้ผล หรือให้ยาครั้งแรกมากหน่อยเพื่อหยุดอาการ แล้วค่อยๆ ลดลง พูดง่ายๆ ว่าดูตามสภาวะการณ์อาการตอบสนอง ปรับยาไปเรื่อยๆ เพราะตัวยานั้นมีคุณสมบัติรวมๆรักษาได้หลายอย่างผมไม่แน่ใจว่าวิธีรักษาของแพทย์แผนปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องของการใช้ยาอย่างแม่นยำ หรือ precision medicine แต่การรักษาของแพทย์ทางเลือกนั้นเป็นเรื่องของการใช้ยาแบบองค์รวม หรือ holistic medicine หรือเปล่า

ในการประชุม กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภาครั้งหนึ่ง ได้รับคำชี้แจงจากผู้ชี้แจงว่าการใช้สารสกัดจากกัญชาเพื่อการรักษาพยาบาลนั้นเป็นการรักษาแบบองค์รวม เพราะสารสกัดจากกัญชานั้นมีองค์ประกอบที่มีฤทธิ์หลายตัวรวมกัน ไม่ใช่แค่ THC, CBD แต่มีสารอื่นๆ อีกนับสิบๆ ตัวรวมอยู่ด้วย การใช้สารสกัดจากกัญชาจึงต้องดูผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป เช่นใช้หลัก ไมโครโดส คือใช้ยาแบบจิ้มยาด้วยปลายไม้จิ้มฟันแล้วแตะที่ใต้ลิ้นผู้ป่วยโรคลมชักเวลามีอาการชัก แล้วคอยสังเกตุอาการว่าผู้ป่วยลดอาการชักอย่างไรหรือไม่ ท่านศาสตราจารย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (ขออภัยที่เอ่ยนาม) ผู้เชี่ยวชาญโรคสมองระดับประเทศ ได้อธิบายในที่ประชุม กมธ. ถึงกระบวนการรักษาที่ทำให้มองเห็นภาพได้ว่าสามารถทำสิ่งที่ไม่แน่นอนแม่นยำเป็นสิ่งที่แม่นยำแน่นอนได้อย่างไร

ถ้าผมเข้าใจถูก ก็คิดว่าการที่จะให้ผู้ที่เรียนจบแพทย์จากโรงเรียนแพทย์แผนปัจจุบันมาให้การรักษาพยาบาลแบบองค์รวม คงเป็นไปได้ยากและอาจไม่ใช่แค่เรื่องทัศนคติ เพราะโรงเรียนแพทย์ไม่ได้สอน แต่สอนแบบการให้ยาผู้ป่วยอย่างแม่นยำที่ตรวจสอบกระบวนการรักษาได้อย่างเป็นระบบ แม้ว่าในปัจจุบัน มีความพยายามที่จะให้ทุกโรงพยาบาลใช้การแพทย์ทางเลือกโดยเฉพาะแพทย์แผนไทย แต่ปัญหาก็คือแพทย์และเภสัชกรเกือบทั้งหมดยังไม่ยอมใช้วิธีการรักษาแบบแพทย์ทางเลือก

เข้าใจว่าเหตุผลที่เหล่าแพทย์และเภสัชกรสถานพยาบาลไม่ใช้วิธีการรักษาและให้ยาแบบแพทย์ทางเลือกนั้น นอกจากเพราะไม่ได้รับการศึกษาแบบแพทย์ทางเลือกในขณะที่ศึกษาที่โรงเรียนแพทย์และคณะเภสัชศาสตร์ ก็อาจจะเป็นเพราะยังไม่มีความแน่นอนเกี่ยวกับวิธีการรักษาที่ไม่แม่นยำ และถ้าผิดพลาด คนไข้อาการหนักขึ้นหรือเสียชีวิต แพทย์ผู้รักษาและเภสัชกรที่ให้ยาแบบองค์รวมอาจต้องรับผิดฐานประมาท เพราะไม่ได้ให้ยาอย่างแม่นยำความคิดของผมอาจไม่ถูกต้องก็ได้เพียงแต่คิดว่า การรักษาโดยการแพทย์ทางเลือกนั้นคงยากที่จะเข้าสู่ระบบการแพทย์แผนปัจจุบันได้อย่างรวดเร็วจนกว่าจะเปลี่ยนจากการรักษาแบบองค์รวม มาเป็นการรักษาแบบแม่นยำ ที่สามารถตรวจสอบกระบวนการรักษาได้และคงไม่ใช่แค่เรื่องเปลี่ยนทัศนคติเท่านั้นใครเห็นอย่างไร ลองแลกเปลี่ยนความคิดกันได้ครับ