เศรษฐกิจโลก 2020: เรื่อยๆ มาเรียงๆ

เศรษฐกิจโลก 2020: เรื่อยๆ มาเรียงๆ

เศรษฐกิจโลก ปี 2020 ดูจะเริ่มต้นด้วยข่าวดี มีการลงนามข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ฉบับที่หนึ่ง เมื่อตอนกลางเดือนให้ความหวังว่า

 ข้อพิพาธทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนจะมีข้อยุติ แม้จะใช้เวลา ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ล่าสุดเดือนธ.ค. ทั้งตัวเลขจำนวนบ้านปลูกใหม่ การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็ไม่ได้ดูเลวร้าย นอกจากนี้ มีคำแถลงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ อาทิตย์ที่แล้ว ที่พูดถึงความสำเร็จของเศรษฐกิจสหรัฐ และความสำเร็จของตัวเขาในการบริหารเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้แม้จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐล้วนๆ และมุ่งไปที่การเมืองในสหรัฐเป็นหลัก แต่ตลาดการเงินโลกก็ตอบรับข่าวเหล่านี้อย่างเต็มที่ ดัชนีหุ้นดาวน์โจนส์ปรับสูงขึ้นช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ตลาดพันธบัตรก็ปรับตัวดีขึ้น ลดทอนความห่วงใยเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี 

แต่สำหรับนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ การตอบสนองของตลาดการเงินต่อข่าวดังกล่าวอาจจะเกินเลยไป คือ มองโลกดีเกินไป เพราะเศรษฐกิจโลกขณะนี้มีปัญหามาก กำลังอยู่ในแนวโน้มชะลอตัว และโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะสามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ได้ก็มีน้อย จากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่มีมาก ประเด็นเหล่านี้ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ต้องตระหนัก เพื่อให้นักลงทุนยึดปัจจัยพื้นฐาน และข้อเท็จจริงเป็นแนวในการลงทุน เพราะข้อเท็จจริงเท่านั้น ไม่ใช่ ภาพลวงตาหรือมายาคติที่จะนำมาสู่การแก้ไขปัญหา นี่คือ ประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีมากขณะนี้ เป็นปัญหาที่ฝังลึกอยู่ใน 3 ระดับที่เชื่อมโยงกัน ระดับแรกคือ ปัญหาวัฎจักรเศรษฐกิจที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในวัฎจักรขาลง และการขยายตัวของประเทศส่วนใหญ่กำลังชะลอตัวลง ระดับที่สอง คือ แนวโน้มระยะยาวที่ความสามารถในการเติบโตของเศรษฐกิจโลก พิจารณาจากอัตราการขยายตัวตามศักยภาพได้ลดลงต่อเนื่อง ระดับที่สาม คือ การเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ จากโลกที่เคยอยู่ภายใต้การนำของประเทศเดียว หรือกลุ่มเดียว คือ สหรัฐและกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก มาเป็นโลกที่กำลังมีผู้นำใหม่ๆ ปรากฎขึ้น เปลี่ยนจากโลกที่เคยมีศูนย์อำนาจเดียว คือUni-Polar World เป็นโลกที่มีหลายศูนย์อำนาจ ( Multi Polar World) ที่จะขีดเส้นใต้การเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาในเศรษฐกิจการเมืองโลก

ระดับแรก ข้อมูลไอเอ็มเอฟ ปลายปีที่แล้วชี้ว่า กว่า 80% ของเศรษฐกิจทั่วโลกอัตราการขยายตัวกำลังลดต่ำลง ทั้งประเทศอุตสาหกรรมและประเทศตลาดเกิดใหม่ เป็นผลจากข้อพิพาธหรือสงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีน ที่เปลี่ยนบริบทการค้าโลกจากความเป็นเสรีมาเป็นการกีดกัน ทำให้อัตราการเติบโตของการค้าโลก ซึ่งเป็นกลไกหลักที่ขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ได้ชะลอลงต่อเนื่อง ปีที่แล้วการค้าโลกขยายตัวเพียง 2.6% จากระดับ 4 - 5% ที่เคยเป็นอัตราปรกติ

ผลคือ เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอลงถ้วนหน้า และปีที่แล้วเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำสุดที่ 2.9% สหรัฐขยายตัว 2.3% และเป็นครั้งแรกที่เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในอัตราต่ำกว่า 6% กลุ่มประเทศในยุโรปและประเทศตลาดเกิดใหม่ก็ชะลอ เช่น อินเดียขยายตัวลดลงเหลือ 5% ปีที่แล้ว ที่สำคัญ คือ นโยบายกีดกันทางการค้าทำให้ภาคธุรกิจไม่มีความมั่นใจว่า ทิศทางของนโยบายและระบบการค้าโลกจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร ทำให้ภาคธุรกิจชะลอการลงทุนและกระจายความเสี่ยงโดยย้ายหน่วยผลิตออกจากจีนกลับเข้าสู่สหรัฐหรือประเทศที่สามแทน ผลคือ การลงทุนของบริษัททั่วโลกชะลอ ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกให้ยิ่งชะลอ และสำหรับปี 2020 คงไม่มีใครบอกได้ว่า ความไม่แน่นอนเหล่านี้จะลดลงหรือไม่ และการลงทุนของภาคธุรกิจปีนี้จะเป็นอย่างไร

ระดับที่สอง คือ แนวโน้มชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะยาว พิจารณาจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกตามศักยภาพ หรือ Potential Growth อัตราการขยายตัวตามศักยภาพ หมายถึง อัตราการเติบโตที่มีการใช้ประโยชน์ปัจจัยการผลิตอย่างเต็มที่ แนวโน้มการชะลอตัวเห็นได้ชัดเจนช่วง 5 – 10 ปีที่ผ่านมา เป็นผลจาก  1.ผลิตภาพการผลิตที่ลดลง (Productivity) จากการชะลอตัวของการลงทุนหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 2.การเปลี่ยนของโครงสร้างประชากรในหลายประเทศ เข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้ภาระในการดูแลผู้ไม่ทำงานมีมากขึ้น ลดทอนทรัพยากรที่อาจนำมาใช้สร้างความสามารถในการผลิตและการลงทุน 3.ภาวะโลกร้อนที่ทำลายระบบนิเวศน์ด้วยภัยธรรมชาติที่รุนแรงซึ่งกระทบการผลิตในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม จากปัญหาเช่นน้ำท่วม ภัยแล้ง คุณภาพอากาศ และไฟป่า ล่าสุด ที่ออสเตรเลียปีนี้ พื้นที่ป่ากว่า 45 ล้านไร่ได้ถูกทำลายจากการลุกลามของไฟป่า กระทบความสามารถของเศรษฐกิจที่จะผลิตอาหาร ที่จะรักษามาตรฐานความเป็นอยู่ของคนในสังคม และความสามารถของเศรษฐกิจที่จะเติบโตในระยะยาว

ระดับที่สาม คือ การเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ในระบบเศรษฐกิจการเมืองโลก ที่ช่วง 70 ปีที่ผ่านมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  โลกได้อยู่ภายใต้การนำของศูนย์อำนาจเดียว คือ สหรัฐและกลุ่มประเทศตะวันตก ที่ได้ใช้ระบบทุนนิยม ระบบการค้าแบบพหุภาคี และโลกาภิวัฒน์เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เป็นระบบที่เศรษฐกิจโลกมีความคุ้นเคยมาตลอด แต่ปัจจุบัน ความสัมพันธ์เหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลง กระตุ้นโดยความสำเร็จในการพัฒนาประเทศของจีนและการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐเพื่อความเป็นที่หนึ่งในโลก ทำให้โครงสร้างอำนาจการเมืองในโลกกำลังเปลี่ยนเข้าสู่ยุคใหม่ที่มีหลายศูนย์อำนาจ ทั้งจีน รัสเซียที่กำลังกลับมา และประเทศใหญ่ๆ อย่าง ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน ที่ต้องการเป็นศูนย์อำนาจในระดับภูมิภาค นี่คือปรากฎการณ์ที่กำลังเปลี่ยนรูปแบบของเศรษฐกิจการเมืองโลก และเป็นที่มาของความขัดแย้งในระดับภูมิศาสตร์การเมืองที่มีมากขึ้น ซึ่งมีสองคำถามสำคัญตามมา คือ 1.ระบบโลกาภิวัฒน์ ที่เน้นการเชื่อมต่อและความเป็นหนึ่งเดียวของเศรษฐกิจโลกจะไปต่อได้หรือไม่ ภายใต้การเมืองโลกที่กำลังแบ่งส่วนไปสู่การเมืองแบบหลายศูนย์อำนาจ  2.เมื่อการเมืองเป็นแบบแบ่งส่วน ประเทศในโลกจะร่วมมือกันได้หรือไม่ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ทุกคนประสบและสำคัญต่อทุกประเทศ เช่น ภาวะโลกร้อน ที่การแก้ไขปัญหาต้องการความร่วมมือจากทุกประเทศ

นี่คือ เศรษฐกิจการเมืองโลกขณะนี้ เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องตระหนักเพื่อไม่ให้เรามองโลกด้านเดียวจนดีเกินไป และสำหรับปี 2020 นี้ก็คงไม่ต่างจากปีที่แล้ว คือ เป็นแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ ที่ยังมีปัญหาและความไม่แน่นอนมาก