เชื่อผิดคิดผิดผลคือทำผิด

เชื่อผิดคิดผิดผลคือทำผิด

ฝุ่น PM 2.5 ดูเหมือนว่ากำลังจะกลายเป็น New Normal สำหรับบ้านเรามาทีหนึ่งก็แก้กันที่หนึ่ง เหมือนหนังเก่าเล่าใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก

เลยลองไปดูว่าบ้านเมืองอื่นที่เขาได้รับการยกย่องว่าพลิกเรื่องแย่กลายเป็นเรื่องดีได้นั้น เขาทำกันอย่างไรที่น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้คิดแก้ปัญหายากๆ และเป็นปัญหาที่จับต้องต้นสายปลายเหตุได้ยากเช่นปัญหาฝุ่นจิ่วที่เจอะเจอกันอยู่

เขาเริ่มด้วยแนวคิดว่า เชื่อผิด คิดผิด ผลที่จะเกิดขึ้นคือทำผิด เขาไม่เริ่มต้นการแก้ปัญหาด้วยการเชื่อผิดๆ เขาทำวิจัยอย่างจริงจังนับร้อยเรื่อง ใช้ผู้รู้เป็นพัน เป็นหมื่น ช่วยกันหาว่าเจ้าฝุ่นจิ๋วมีองค์ประกอบเป็นอย่างไรแยกร่างของฝุ่นในหลายพื้นที่ในแต่ละช่วงเวลาในแต่ละวันในแต่ละฤดูกาล เขาเห็นฝุ่นในแต่ละกาละคล้ายๆกับที่เราเห็นคนคนหนึ่ง ที่ใส่เสื้อผ้าแตกต่างกันระหว่างกลางวันกลางคืนระหว่างหน้าร้อน หน้าหนาว เขามีข้อมูลละเอียดยิบแทบทุกพื้นที่ แทบทุกเวลา เขาใช้ปัญญาประดิษฐ์และเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลที่ก้าวหน้า หารูปร่างหน้าตาทรวดทรงองค์เอวของฝุ่น เพื่อให้มั่นใจว่าเขาไม่ได้เชื่อผิด คิดผิด และเลือกวิธีที่ผิด ถ้าเขาพบว่าองค์ประกอบส่วนใหญ่ของฝุ่นจิ๋วเป็นอนุภาคชีวมวลที่ถูกเผาไหม้ เขาก็ไม่เสียเวลาไปฉีดนำ้ตามถนน ผลจากการที่เขาเชื่อถูกเลยทำให้เขาคิดถูกว่าจะทำการแก้ไขได้อย่างไร บ้านเขาจึงดีวันดีคืน ในการเอาชนะฝุ่นจิ๋ว

เหตุสำคัญของการเชื่อผิด คิดผิด และทำผิดที่ได้ทราบจากท่านอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งว่า มีการสั่งสอนกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลคือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน ถ้าติดยึดอยู่กับ 4 เหตุนี้ อย่าพยายามไปคิดแก้ปัญหาอะไรเพราะจะทำให้ปัญหาขยายใหญ่โตขึ้น หรือมีปัญหาอื่นแทรกซ้อนออกมาเพิ่มเติมจากการเชื่อผิดคิดผิดและทำผิด

กามุปาทาน คือ เชื่อไปตามที่ได้เห็นได้ยิน ได้สัมผัส เห็นรถปล่อยควันดำก็เหมาไปก่อนว่า ฝุ่นจิ๋วมาจากควันดำเป็นสำคัญ แต่ตาไม่เห็นควันไฟจางๆ ที่ลอยมาจากที่ไกลๆ เลยเชื่อผิดไปว่าควันไฟจางๆ นั้นมีผลนิดหน่อยกับฝุ่นจิ๋วบ้านเมืองที่เล่ามาก่อนหน้านี้เขาพยายามทำมากกว่าที่เห็น ที่ได้สัมผัส จะแก้เรื่องใหญ่ อย่าเร่งด่วนเชื่อเท่าที่เห็น เท่าที่ได้ยิน เท่าที่ได้สัมผัส มองให้ลึกสัมผัสให้ไกลกว่าที่ตาหู และสัมผัสของเราจะให้ได้เพราทุกวันนี้เรารวบรวมข้อมูลได้มากกว่าที่ตาเห็นมากมายนัก

ทิฏฐุปาทาน คือ คิดไปตามที่เคยเชื่อ เคยคิด คิดตามเหตุผลที่เคยมีโดยปราศจากการคิดวิเคราะห์อย่างรอบคอบ เชื่อว่าที่ไหนมีฝุ่น ที่นั่นเอาน้ำล้างได้ เลยฉีดน้ำกันใหญ่ด้วยเชื่อว่า ฉีดน้ำแล้วจะล้างฝุ่นไปได้โดยไม่ได้วิเคราะห์ว่าฝุ่นขนาดแค่ไหน น้ำถึงจะล้างได้ถ้าไม่ยอมเปิดหู เปิดตา รับเหตุผลใหม่ๆ การแก้ปัญหากี่เรื่องต่อกี่เรื่อง ก็จะใช้วิธีคิดเหมือนกันหมดแก้ปัญหาบนฟ้ากับบนดินคิดแบบเดียวกัน

สีลัพพตุปาทาน คือ ยึดวิธีเดิมเป็นสรณะอะไรที่ทำต่างไปจากเดิมคือ ใช้ไม่ได้ไม่ลองของใหม่ เคยไล่จับรถควันดำไป ปรับอากาศดีก็จับไป ปรับฝุ่นเยอะก็จับไป ปรับปรับแค่ไหนฝุ่นก็ยังมาตราบที่รถยังวิ่งได้บนถนนหนทาง ฝุ่นน้อยก็ใส่หน้ากาก ฝุ่นมากก็หน้ากากอันเดิม บริบทของปัญหาเปลี่ยนไปทุกวันวิธีที่ใช้จัดการปัญหาก็ต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย แต่ก่อนไร่นาไม่เยอะจะเผาแค่ไหนไม่เดือดร้อนใคร วันนี้ปลูกกันเต็มไปหมดเพราะใครก็ไม่ทราบไปส่งเสริมให้เขาปลูก ทั้งในบ้านนอกบ้าน ถ้ายังเผากันเหมือนเดิมฝุ่นจิ๋วจากในบ้านนอกบ้านก็เต็มบ้านเต็มเมือง

ที่แย่ที่สุด คือ การเชื่อผิดแบบอัตตวาทุปาทาน คือ ตัวฉันและพรรคพวกเป็นศูนย์กลางของความถูกต้องทั้งปวง ฉันและพรรคพวกเชื่ออย่างไรอย่างนั้น จะต้องถูกเสมอ ใครอย่ามาบอกว่าผิด ฉันยอมสูดฝุ่น เผาไร่เผานาดีกว่าจะให้ฉันเชื่อว่า ฝุ่นจิ๋วส่วนใหญ่มาจากอะไร