วิกฤติฝุ่นพิษถอดบทเรียนจากยุโรป

วิกฤติฝุ่นพิษถอดบทเรียนจากยุโรป

วิกฤติฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย ที่กลับมาอีกครั้ง สะท้อนให้เห็นปัญหาเรื้อรังของประเทศ ที่ยังไม่มีมาตรการแก้ไขในระยะกลางและระยะยาวอย่างจริงจัง

นอกเสียจากมาตรการระยะสั้นอย่างให้หยุดโรงเรียนหยุดทำงานเมื่อวิกฤติครั้งทั้งที่แล้วในเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว รัฐบาลได้กำหนดเรื่องนี้ให้เป็น “วาระแห่งชาติ”แต่กำหนดเป็นวาระแห่งชาติแล้ว ผ่านไปหนึ่งปีทางออกและมาตรการการลดฝุ่นพิษและมลภาวะทางอากาศของชีวิตคนคนไทยจำนวนหลายสิบล้านคนยังคงไม่มี

วันนี้ อยากลองถอดบทเรียนจากนโยบายClean Air for All ของยุโรปมาเป็นแนวคิดเผื่อผู้กำหนดนโยบายในประเทศไทยอาจจะลองนำไปพิจารณาดู

สิทธิ์การมีอากาศบริสุทธิ์และการมีน้ำดื่มที่สะอาดเป็นสิทธิ์ชั้นพื้นฐานของประชากร นโยบายการลดมลภาวะไม่ว่าจะทางอากาศ ทางเสียง หรือทางอื่นๆ และการที่ประชาชนสามารถดื่มน้ำก๊อกได้ จึงเป็นเรื่องพื้นฐานที่รัฐบาลต้องพึงทำให้ได้

ยุโรปมองว่าผลกระทบจากมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั้นร้ายแรงมาก สถิติบอกว่าทุกๆ ปี ในยุโรปมีจำนวนผู้ที่ต้องเสียชีวิตจากผลกระทบจากมลพิษทางอากาศถึงปีละ400,000 คน ซึ่งคิดแล้วมีจำนวนมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเกือบ 10 เท่าและมีคนต้องเจ็บป่วยจากโรคทางเดินหายใจที่เป็นผลมาจากมลพิษปีละกว่า 6.5 ล้านคนทุกปี ที่สำคัญ มลพิษยังมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งพืชและสัตว์ ไม่ใช่เฉพาะเป็นอันตรายของมนุษย์เท่านั้น

ยุโรปได้เริ่มดำเนินนโยบายในการแก้ไขปัญหามลพิษมานานกว่า 50 ปีแล้ว (ไม่เฉพาะมลพิษทางอากาศ แต่เน้นการแก้ไขปัญหามลพิษทางเสียงควบคู่ไปด้วย)ปี 2013 สหภาพยุโรปหรืออียูมีนโยบายควบคุมและลดมลภาวะของอากาศประเทศสมาชิกผ่านนโยบายที่ชื่อว่า Clean Air Policy Package ที่เข้มข้นขึ้น เป็นการกำหนดเป้าหมายและมาตรการที่จะนำไปสู่การลดมลภาวะทางอากาศอย่างเป็นรูปธรรมโดยตั้งเป้าเป็นแผน 15 ปีข้างหน้า (นับแต่ปี 2013) และมีการติดตามและตรวจสอบผลของแต่ละประเทศอย่างจริงจัง จึงอยากแนะนำไทยว่า หากเราจะวางแผนแห่งชาติลดมลพิษทั้งที กำหนดเป้าหมายการลดมลพิษเป็นแผน 15 ปี น่าจะเหมาะสมอยู่

นโยบาย Clean Air Policy Package ของนี้ครอบคลุมมลพิษอะไรบ้าง และมุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง

  • การกำหนดมาตรฐานสำหรับการวัดคุณภาพอากาศ (Ambient Air Quality Standards)สำหรับชั้นโอโซนระดับพื้นราบ รวมระดับฝุ่น PM,ไนโตรเจน (ได)ออกไซน์, ระดับโลหะหนักที่เป็นอันตลาดต่างๆ โดยทุกประเทศสมาชิกยุโรปมีกำหนดเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจน
  • กำหนดเพดานของการปล่อยมลพิษประเภทที่กระจายตัวไปได้ทั่วทุกบริเวณ (trans-boundary air pollutants)อาทิ เซอล์เฟอร์ออกไซน์ ไนโตรเจน (ได)ออกไซน์ อาโมเนีย และฝุ่นอื่นๆ (ดูภาพประกอบข้างล่าง)
  • ที่สำคัญกำหนดระดับของการปล่อยสารมลพิษจากต้นตอหลักๆ ของมลพิษตั้งแต่ยานพาหนะบนท้องถนนประเภทต่าง (รถยนต์ส่วนตัว รถบรรทุก) ไปจนถึงเรือ รวมถึงโรงงานอุตสาหหกรรมและแห่งผลิตพลังงาน อย่างชัดเจนและเข้มงวด
  • รวมทั้งยังส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาการขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ

157983942097

Factsheet ของคณะกรรมาธิการยุโรป

มาตรการห้ามใช้รถยนต์ดีเซลในเขตเมือง

ยกตัวอย่างให้เห็นกันชัดๆแทรนด์ยกเลิกใช้รถยนต์ดีเซลมาแรง เมื่อปีที่แล้วนี้เอง ศาลเยอรมันตัดสินให้รัฐบาลของแต่ละเมืองของเยอรมนีสามารถแบนหรือห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งเข้ามาในเขตพิเศษด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองได้ (คือแต่ละเมืองข้อกำหนดไม่เหมือนกัน เป็นอำนาจของแต่ละเมืองที่จะกำหนด) ตามการยื่นคำร้องต่อศาลของกลุ่ม NGOs เยอรมัน (เป็นอีกความสำเร็จของการเรียกร้องจากลุ่ม NGOs)

เพิ่งเริ่มใช้เมื่อ 1 ม.ค. 2019 นี้เอง เมือง Stuttgart โดยรัฐบาลท้องถิ่น Baden-Wuerttembergได้กำหนดโซนพิเศษ (ในเมือง) ห้ามไม่ให้รถยนต์ดีเซลที่มีระดับการปล่อยมลพิษในระดับ 4 ที่เรียกติดหูว่า “ยูโร 4” หรือต่ำกว่าเข้าไปวิ่ง และให้เวลาอีก 1 ปี คือ 1 ม.ค. 2020 จะขยับไปห้ามรถยนต์ดีเซลที่มีระดับการปล่อยมลพิษในระดับ “ยูโร 5” (ซึ่งระดับยูโร 5 นี้ดีกว่า และมีการปล่อยมลพิษน้อยกว่ายูโร 4 แล้ว) ไม่ให้เข้าไปในโซนดังกล่าว เวลาซื้อรถต้องดูให้ดีๆ ว่ายูโรอะไร ผลกระทบจากแบนรถยนต์ดีเซลตามกฎหมายใหม่นี้ ทำให้รถยนต์จำนวนมากไม่สามารถขับเข้ามาในเขตดังกล่าวได้ และสร้างความไม่แน่นอนให้จำนวนรถยนต์หลายล้านคันและราคารถยนต์ดีเซล ต้องราคาตกฮวบ

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยลดมลพิษ โดยเฉพาะสารไนโตรเจน (ได)ออกไซน์ในอากาศที่มาจากเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งอียูมีข้อกำหนดระดับอันตรายอยู่ที่ไม่เกิน 40 ไมโคกรัม ต่อ 1 คิวบิคเมตร แต่หลายๆ เมืองในเยอรมันก็เกินค่าดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 70 ไมโครกรัม ได้แก่ Stuttgart, Düsseldorf, Cologne และ Munich

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่น่าสนใจพิจารณาดูว่าจะ มีโอกาสทำได้มากน้อยแค่ไหน ในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่ามาตรการดังกล่าวของประเทศในยุโรปอย่างเยอรมนี กำหนดบนพื้นฐานที่ระบบการคมนาคมขนส่งสาธารณะค่อนข้างดี และเชื่อมต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากแบนการใช้รถยนต์ คนก็สามารถหันไปพึ่งรถสาธารณะได้ ที่ควรคิดจะทำไปพร้อมๆ กันสำหรับประเทศไทย น่าจะเป็นการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ และราคาเหมาะสม สะท้อนค่าครองชีพคนไทย

157983945454

ภาพ Fabrizio Bensch/Reuters

สิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงไทยได้คือการมีสุขภาพดี เริ่มต้นจากการมีอากาศบริสุทธิ์หายใจอยากเห็นประเทศไทยมีการกำหนดนโยบายพื้นฐานเหล่านี้ให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมไม่ว่าจะเรื่องอากาศบริสุทธิ์ (การลดมลพิษและฝุ่นพิษ) อาหาร ผัก และผลไม้ไม่มีสารปนเปื้อนและตกค้างน้ำสะอาดดื่มได้ (ไม่ต้องซื้อ ดื่มจากก๊อก) มลพิษเสียงที่น้อยลง น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้คุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

[ดร. อาจารี ถาวรมาศ เป็นผู้บริหารบริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปสำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.euหรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd ]