วิกฤตสิ่งแวดล้อมมีทางแก้ได้

วิกฤตสิ่งแวดล้อมมีทางแก้ได้

ปัญหาฝุ่นพิษ ภัยแล้ง ไฟป่า คนเจ็บป่วยด้วยมะเร็งและโรคที่เกิดจากสภาพแวดล้อมมากขึ้น ฯลฯ อย่าไปโทษธรรมชาติ ต้องโทษมนุษย์

 โดยเฉพาะรัฐบาลนายทุนที่มุ่งพัฒนาระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบหากำไรเอกชนอย่างสุดโต่งสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างวิกฤต 3 เรื่อง 1. การเพิ่มความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของคนในสังคม ความยากจน การขาดแคลนปัจจัยยังชีพที่พอเพียง 2. สงคราม อาชญากรรมและความรุนแรง 3. ความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศ

แนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยเศรษฐศาสตร์แนวระบบนิเวศ (Ecology Economics)

1.ฟื้นฟูให้ชุมชนในรูปขององค์กรท้องถิ่น วิสาหกิจชุมชน เป็นเจ้าของและควบคุมดูแลทรัพยากร และทรัพย์สินสำคัญที่ควรเป็นของส่วนรวม ป่าไม้ ชายทะเล ทะเล ป่าพรุ สามเหลี่ยมปากน้ำ แร่ธาตุ พลังงาน คลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ ฯลฯ โดยการรู้จักใช้เท่าที่จำเป็น ด้วยเทคโนโลยี่ที่เหมาะสม ให้ประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเป็นธรรม และเพื่อให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน

2.ผลิตและการบริโภคสินค้าบริการจำเป็นที่มีมูลค่าใช้สอยอย่างแท้จริง เช่น การศึกษา การสาธารณสุขแบบองค์รวม การขนส่งสาธารณะ พลังงานทางเลือก เกษตรทางเลือก ฯลฯ มากกว่าสินค้าฟุ่มเฟือย ที่อาจมีมูลค่าแลกเปลี่ยนสูง แต่มีประโยชน์ใช้สอยจริงน้อย และทำลายระบบนิเวศมาก เช่น การใช้รถยนต์ส่วนตัว สินค้าอุตสาหกรรมชนิดที่ใช้พลังงานมาก และหรือใช้ทรัพยากรทำลายสิ่งแวดล้อมมาก

3.ปฏิรูปวิธีการออกแบบการผลิตสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ที่ประหยัดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ทำให้เกิดของเหลือใช้หรือขยะน้อยที่สุด หรือสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด เพื่อระบบนิเวศที่ดีและคุณภาพชีวิตของประชาชน

4.ช่วยให้ชุมชนระดับหมู่บ้านผลิตอาหารและปัจจัยที่จำเป็นแบบใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมพึ่งตนเองได้มากขึ้น ลดการเป็นหนี้ การซื้อขาย การขนส่ง การเดินทางที่พึ่งพาภายนอกและสิ้นเปลืองพลังงาน ชุมชนขนาดเล็กหรือขนาดกลางที่ไม่ใหญ่เกินไป จะผลิตได้อย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ เลี้ยงตัวเองได้ และลดการทำลายสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าเมืองขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงต้องปฏิรูป/ปฏิวัติโครงสร้างและนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแบบกระจายอำนาจทรัพยากรไปที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะระดับอำเภอ ตำบล ให้ผลิตและพึ่งตนเองได้เป็นสัดส่วนสูงขึ้น แทนการรวมศูนย์ทางเศรษฐกิจการเมืองที่กรุงเทพและเมืองใหญ่

5.สำหรับเมืองขนาดใหญ่ส่งเสริมการขนส่งสาธารณะเช่น รถไฟ รถใต้ดิน รถเมล์ รถราง เรือ ฯลฯ แทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว เพราะจะประหยัดการใช้พลังงาน และลดการทำลายสิ่งแวดล้อมได้มากกว่า กระจายโรงเรียน โรงพยาบาล แหล่งทำงาน และบริการที่จำเป็นไปสู่ชุมชนระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้านอย่างทั่วถึง คนในเมืองไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำธุระประจำวันไกลเกินไป เช่น ควรมีโรงเรียนที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันและสถานบริการสาธารณะในทุกชุมชน ที่คนสามารถเดิน ขี่จักรยาน หรือนั่งรถสาธารณะไปถึงได้อย่างปลอดภัย จะประหยัดการใช้พลังงาน เวลาและทรัพยากรด้วย

6.เปลี่ยนแปลงเชิงระบบโครงสร้างและนโยบายเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมสุดโต่ง ที่เน้นการส่งออกสั่งเข้า นำไปสู่การเป็นหนี้ การขนส่ง การใช้พลังงานและทรัพยากรเพิ่มขึ้น ประเทศและประชาชนที่ยากจนเป็นฝ่ายเสียเปรียบประเทศและชนชั้นที่ร่ำรวยกว่า โดยการเปลี่ยนแปลงให้เป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสมที่เน้นการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงาน ทรัพยากร พลังงานและเทคโนโลยีที่เหมาะสมในประเทศ ผลิตและขายกันเองแบบพึ่งตนเองได้ในระดับชุมชน จังหวัด ภาค และระดับประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้คนในประเทศมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น ตลาดภายในประเทศใหญ่ขึ้น พึ่งพาการส่งออกและสั่งเข้าลดลง เศรษฐกิจภายในประเทศเข้มแข็งมั่นคงขึ้น

7.ให้ชุมชน, สหกรณ์ผู้ผลิต สภาโรงงาน ฯลฯ เป็นเจ้าของผู้ควบคุมทรัพยากรและปัจจัยการผลิตที่สำคัญ รวมทั้งเรื่องพลังงาน สาธารณูปโภค ระบบธนาคาร สถาบันการเงินจัดสรรการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวมและกระจายสู่ประชาชนอย่างเป็นธรรมเพิ่มขึ้น เน้นการผลิตเพื่อประโยชน์ใช้สอย มีการกระจายผลผลิตรายได้อย่างเป็นธรรม ประชาชนจะลดความเหนื่อยยากและความเคร่งเครียดในการแข่งขันทำงานหาเงินแบบโลกทุนนิยม มีเวลาและให้ความสำคัญกับการใช้เวลาที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความสุขความพอใจให้ตนเอง ครอบครัวและชุมชนได้มากกว่าการเน้นการทำงานหนัก (เช่น ทำล่วงเวลา) หาเงินและการซื้อของ เป็นหนี้ เครียด ทำงานหนักขึ้น

8.ภาครัฐและชุมชนเน้นการทำกิจกรรมให้บริการและพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตและสังคมเช่น การศึกษา สาธารณสุข การประกันสังคม สวัสดิการสังคม การเดินทางด้านการขนส่งสาธารณะ ที่ประหยัด ปลอดภัย สาธารณูปโภค สวนสาธารณะ และระบบนิเวศที่มีสุขภาพที่ดี กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม กีฬาและกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาทางด้านความคิดจิตใจ และการพักผ่อนหย่อนใจ กิจกรรมและสินค้าบริการเหล่านี้มีมูลค่าใช้สอยสูงกว่ามูลค่าแลกเปลี่ยน ถ้าปล่อยเสรีตามกลไกตลาดของระบทุนนิยมอุตสหกรรมที่ผูกขาดในมือคนรวย คนส่วนใหญ่ซึ่งมีรายได้น้อยจะเข้าถึงได้น้อยกว่าที่ควร ประสิทธิภาพ/ผลิตภาพการทำงานลดลง คุณภาพชีวิตแย่ลง เป็นปัญหาสังคมเพิ่มขึ้น

การปฏิวัติ/ปฏิรูประบบเศรษฐกิจสังคมในแนวเศรษฐศาสตร์เพื่อระบบนิเวศ เน้นการเติบโตทางคุณภาพชีวิตและสังคมมากกว่าปริมาณ/มูลค่าการผลิตและบริโภคสินค้า/บริการ เป้าหมายคือการให้บริการประชาชนทุกคนในเรื่องต่อไปนี้

1.ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ มีอาหาร น้ำสะอาดพอเพียง มีอากาศที่ดีหายใจ(ไม่มีฝุ่นพิษเกินมาตรฐานความปลอดภัย) การได้รับบริการทางการแพทย์ การสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม การศึกษา การได้ชื่นชมกับศิลปวัฒนธรรมและการพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อสนองความต้องการที่จำเป็นของประชาชนทุกคนอย่างพอเพียง

2.ประชาชนอยู่ในสังคมร่วมกันอย่างมีสิทธิ เสมอภาค เสรีภาพ ประชาธิปไตย ไม่ถูกครอบงำหรือควบคุมโดยกลุ่มคนที่มีอำนาจหรือมีอภิสิทธิ์มากกว่า

3.คนงานและชุมชนเป็นเจ้าของและผู้ควบคุม โรงงาน สวน ไร่นา กิจการที่สำคัญร่วมกัน เพื่อดำเนินการผลิตผลผลิตบริการที่เน้นประโยชน์ใช้สอยที่จำเป็นของมนุษย์อย่างคำนึงถึงระบบนิเวศ และกระจายผลผลิตและบริการให้ประชาชนอย่างทั่วถึงเป็นธรรม

4.มีระบบเลือกตั้งและถอดถอนผู้แทน ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ที่ไปทำหน้าที่บริหารจัดการและควบคุมดูแลฝ่ายบริหารจัดการอย่างเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มีระบบที่ประชาชนสามารถลงชื่อ ลงมติในการถอดถอนผู้แทนที่ไม่ได้ทำงานเพื่อส่วนรวมอย่างซื่อสัตย์มีประสิทธิภาพได้ง่าย

5.เปลี่ยนแปลงระบบการทำงาน และการใช้ชีวิตของมนุษย์ให้สอดคล้องกับระบบธรรมชาติ(ที่สิ่งมีชีวิตทุกสิ่งพึ่งพากันแบบได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ทำร้าย เอาเปรียบกันจนขาดความสมดุล)มากขึ้น รวมทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม การขนส่ง และการใช้ชีวิต ควบคุมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงปริมาณ แต่เน้นการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิต คน และสังคมแทน ในการผลิตการบริโภคนั้น ควรเน้นเฉพาะสิ่งที่จำเป็น เป็นประโยชน์แบบพอเพียงสำหรับทุกคน โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนถึงคนรุ่นลูกหลานเป็นหลัก