หนึ่งงาน พันเหตุผล : ยกระดับประเทศไทย (ตอนจบ)

หนึ่งงาน พันเหตุผล : ยกระดับประเทศไทย (ตอนจบ)

เมื่อตอนที่แล้ว ผู้เขียนกล่าวถึงการจัดระบบแพลตฟอร์มการสร้างและจัดหางานที่ตอบสนองกับความต้องการเฉพาะตัว

 สามารถเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐและเอกชน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายน่าจะได้ประโยชน์จากการให้ข้อมูลซึ่งกันและกัน 

ผู้เขียนเคยเห็นโมเดลลักษณะนี้ในต่างประเทศ ซึ่งรัฐเข้ามาสนับสนุนบริษัทเอกชนที่ทำแพลตฟอร์มการจัดหางานเพื่อสังคม โดยในบางประเทศรัฐให้เงินสนับสนุนพร้อมกับพื้นที่แสดงสินค้าและบริการที่ผลิตโดยแต่ละกลุ่มเฉพาะเพื่อเป็นการส่งต่อความเชื่อมั่นและกำลังใจไปในสังคม เพื่อให้คนเห็นว่าแต่ละคนไม่ว่าใคร มีข้อจำกัดอย่างไร ก็มีงานที่ทำได้เสมอ 

หากมีแพลตฟอร์มหรือระบบดังกล่าวแล้ว จะทำให้ด้านผู้จ้างงานได้รับข้อมูลที่ต่อเนื่องเกี่ยวกับทักษะประวัติการทำงานพาร์ทไทม์หลากหลายของผู้คน ทำให้เกิดความมั่นใจที่จะจ้างงานต่อไป และจะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อคนที่ยังไม่มีงานประจำเพราะยังขาดทักษะของลูกจ้างถาวรหรือมืออาชีพ ส่วนด้านประชาชนที่ใช้แพลตฟอร์มหางานนี้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก สตรี หรือคนชรา ก็จะเกิดความมั่นใจอีกด้วยว่าได้ทำงาน ไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาว ที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับสถานการณ์ของตนอย่างที่ผู้จ้างงานมีความเข้าอกเข้าใจ

ประการที่ 2 การพัฒนาความเชื่อมั่นในระบบการจัดหางานที่ภาครัฐอาจจะช่วยผลักดันได้ ประกอบกับการพัฒนาความคิดและความสามารถของทรัพยากรบุคคล จะมีส่วนช่วยทำให้การจัดหางานตรงตามความต้องการของกลุ่มคนมากขึ้น โดยการผลักดันสนับสนุนจากภาครัฐไม่พอ ต้องอาศัยทุนทางสังคม (Social Capital) ที่มาจากการช่วยเหลือและร่วมมือของกลุ่มคนในสังคมด้วย ตัวอย่างในบางประเทศ กลุ่มสตรีที่ไม่ได้ทำงานประจำรวมตัวกันสร้างวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprises) และไม่ได้หยุดที่การสร้างธุรกิจ แต่มุ่งเผยแพร่ความรู้สู่สังคมเพื่อดึงสตรีกลุ่มอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ถือเป็นการสร้างคนและสร้างสังคมการดูแลกันในระดับชุมชน เป็นต้น 

ประการที่ 3 การพัฒนาอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้ชัดเจนก็เป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งหากไม่มีแล้ว ก็ยากที่จะรองรับการสร้างงานและความเป็นอยู่ที่จะดึงดูดให้ผู้คนสะดวกใจกลับมาอยู่หรือเข้ามาอยู่ โดยการฝึกงานและฝึกสอนตรงตามอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มโดยความต่างในทักษะอย่างเฉพาะตัวและสร้างจุดขายเพื่อความเป็นอยู่หรือแม้กระทั่งการท่องเที่ยวของท้องถิ่นนั้นด้วย

ในหลายประเทศ เริ่มเห็นความตื่นตัวของหลายเมืองเล็กและใหญ่ในการสร้างและคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ โดยหากมองในแง่การตลาดแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งการพัฒนาคุณค่าในรูปแบบที่แตกต่าง (differentiate) เพิ่มมูลค่าให้กับชุมชน (added value) หรือถือเป็นการสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะตอบรับกับความต้องการหรือตลาดอย่างเฉพาะเจาะจงต่อไป (niche market) เพราะหากอุปทาน (Supply) และอุปสงค์ (Demand) ของงานไม่ต่างรูปแบบไปบ้าง ก็รังแต่จะเกิดปัญหาการว่างงาน และการกระจุกตัวในเมืองหลวงต่อไป ทั้งนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าสร้างให้น่าอยู่ สร้างให้มีอัตลักษณ์ สร้างให้ภาคภูมิใจ จะอย่างไรก็จะมีคนเต็มใจเดินทางไปอยู่

ที่กล่าวโดยสังเขปนี้ จะเห็นได้ว่า การสร้างงานหนึ่งงานสามารถสร้างผลกระทบในแง่บวกและช่วยบรรเทาได้หลายปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปากท้องของประชาชน สุขภาพจิต การเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุ คนว่างงานเพราะงานในกรุงเทพฯ มีไม่พอหรือลักษณะไม่ตรงกับผู้ว่างงาน ซึ่งมีข้อจำกัดต่างๆ กันไป หรือแม้กระทั่งปัญหาความแออัดในกรุงเทพฯ และความสามารถในการย้ายถิ่นไปทำงานเมืองอื่นซึ่งจะช่วยกระจายรายได้และความเจริญไปสู่ท้องถิ่น

กระบวนการนี้น่าจะเป็นหนึ่งในวิธีการยกระดับประเทศไทย โดยใช้การพัฒนาระบบการสร้างและจัดหาสิ่งที่มีค่าซึ่งผู้คนเรียกว่า งาน” โดยต้องทำควบคู่กับการพัฒนาทัศนคติของทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสาธารณูปโภคในชุมชนท้องถิ่นในรูปแบบที่ครบองค์ไปพร้อมๆ กัน

แต่ทั้งนี้ผู้เขียนเองซึ่งเป็นชาวกรุงเทพฯ โดยมีพื้นฐานทางด้านกฎหมายเศรษฐศาสตร์ ก็มองได้จากเพียงไม่กี่มุมจากความสนใจส่วนตัว โดยแท้จริงแล้วมุมมองของการพัฒนาที่จะทำให้ประเทศไทยสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ตรงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ยังมีอีกหลายมุม และก็มีหลายโครงการที่พบเห็นว่าทำอยู่แล้วบ้าง เพื่อรองรับศักยภาพของบางกลุ่ม เช่น นักศึกษาจบใหม่ เป็นต้น แต่ผู้เขียนก็ขอมองโลกอย่างสวยงามเพิ่มขึ้นและฝันไว้ก่อนว่าประเทศไทยจะทำแพลตฟอร์มที่มีหลายมิติตามที่กล่าวมาได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งหากมี ผู้เขียนก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้าง

ถ้าทำได้และเกิดขึ้นจริง เราจะไม่เพียงแต่แก้หลายปัญหาที่ค้างคา แต่จะสามารถสร้างการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ในอีกหลายมิติและหลากพื้นที่ เท่ากับว่า "ยิงงานนัดเดียว ได้นกหลายตัว" ซึ่งการยกระดับประเทศในแง่ใดๆ ก็ไม่เท่าการเริ่มยกระดับ "กำลังใจผู้คน" 

ทั้งนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นภาครัฐจับมือกับเอกชน "ยกระดับประเทศไทยให้ไปไกลอย่างจริงจัง"

โดย... 

สโรบล ศุภผลศิริ 

ผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรผู้บริหารนิติธรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รุ่นที่ 1

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย