เทคโนโลยีไทยรับมือวิกฤติฝุ่นพิษ

เทคโนโลยีไทยรับมือวิกฤติฝุ่นพิษ

ตื่นเช้ามาสิ่งแรกที่ผมทำคือมองออกไปนอกหน้าต่างคอนโด เพื่อเช็คว่าท้องฟ้าเหนือกรุงเทพมหานครเป็นสีอะไร ปรากฏว่า

ช่วงตั้งแต่เริ่มต้นปี 2563 เป็นสีเทาคล้ายหมอกปกคลุมแทบทุกวัน ผลมาจากปริมาณฝุ่น PM2.5 ในอากาศเกินมาตรฐานไปมาก

ล่าสุด ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองประจำวัน โดยกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. สรุปผลการตรวจวัด PM2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง พบว่าเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) จำนวน 35 พื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ เรียกได้ว่าฝุ่น PM2.5 ครั้งนี้รุนแรงทั่วทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ เลยทีเดียว

สาเหตุที่ช่วงนี้มีฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน บ้างก็ว่ามาจากอากาศปิด ทำให้ฝุ่นที่มาจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล และกิจกรรมต่างๆ เช่น การจุดธูป การประกอบอาหารปิ้งย่าง ฯลฯ ไม่สามารถลอยสูงหรือพัดพากระจายออกไปได้ วิกฤติครั้งนี้ถึงขั้น กทม.ต้องสั่งปิด 437 โรงเรียน 1 วัน เมื่อวันพุธกลางสัปดาห์ (22 ม.ค.) เพื่อลดปริมาณยานพาหนะบนท้องถนน

มาดูมาตรการการแก้ปัญหาฝุ่นในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งวิกฤติฝุ่นหนักหนากว่าเราหลายเท่าแต่ก็สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างน่าชื่นชม ประเทศจีนพยายามแก้ปัญหาโดยกำจัดต้นตอของแหล่งกำเนิดฝุ่น ล่าสุดในเดือน มิ.ย.2561 ได้ออก China VI emission standard กำหนดให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ที่วางจำหน่ายในตลาดหลังเดือน ก.ค.2564 จะต้องติดตั้งเครื่องกรองฝุ่นจากดีเซล คาดว่าจะช่วยลดการปล่อย PM2.5 จากรถบรรทุกได้มากถึง 82% ภายในปี 2573 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า

มีหลายหน่วยงานในประเทศที่เข้ามาดูแลรับผิดชอบในการออกนโยบายการป้องกันหรือการบำบัดฝุ่น แต่ต้องมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้วยจึงจะทันกาล ทั้งนี้ทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่จะแก้ปัญหาฝุ่น โดยมีทีมงานนำเทคโนโลยีต่างๆ ที่เหมาะสมมาช่วยจัดการกับปัญหาฝุ่น เช่น พัฒนาเครื่องกรองฝุ่นละออง PM2.5 ด้วยเทคโนโลยีไฟฟ้าสถิต (IonFresh)

โดยใช้หลักการของเทคโนโลยีการตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิต (ESP : Electrostatic Precipitator) วิจัยและพัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) เหมาะกับการใช้งานในบริเวณที่มีฝุ่นละอองปริมาณสูงทั้งภายในหรือภายนอกอาคาร โดยแผ่นกรองที่ใช้ดักจับฝุ่นสามารถนำมาทำความสะอาดเพื่อใช้ซ้ำได้ นอกจากนี้อุปกรณ์ส่วนประกอบทั้งหมดผลิตได้จากวัตถุดิบภายในประเทศอีกด้วย

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่สำคัญคือ อุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยระบบเซนเซอร์ขนาดเล็กที่สุดในโลก (MyAir) พัฒนาโดยศูนย์ NSD เป็นอุปกรณ์ขนาดพกติดตัวได้ โดยสามารถออกแบบให้เป็นเครื่องประดับที่ตรวจวัดค่าฝุ่นด้วยเซนเซอร์แบบกระเจิงแสงขนาดเล็ก ใช้เทคนิคของการผ่านฝุ่นด้วยไมโครปั๊มชนิดเปียโซอิเล็กทริก และตรวจค่าฝุ่นด้วย AQI เพื่อการแจ้งแบบฐานเวลาจริง

เทคโนโลยีคนไทยเหล่านี้ถ้าเราผลิตและติดตั้งให้ทั่วทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ และใช้อย่างแพร่หลายทั่วประเทศ ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

ขอขอบคุณ คอลัมน์เทคโนโลยีปริทรรศน์ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช., สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย

โดย... 

ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ 

จากคอลัมน์เทคโนโลยีปริทรรศน์ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช., สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย