บทบาท “เอไอ” กับการพัฒนา อุตสาหกรรมอาหาร

บทบาท “เอไอ” กับการพัฒนา  อุตสาหกรรมอาหาร

เอไอ สามารถช่วยคัดแยกผลผลิตการเกษตร เพื่อเตรียมส่งต่อไปใช้ในกระบวนการผลิต

ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence : AI) ถูกนำมาใช้เพื่อยกระดับการดำเนินงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศไทยมากขึ้น โดยบางองค์กรได้เริ่มนำมาใช้แล้วและบางองค์กรก็อยู่ในขั้นตอนวางแผนที่จะนำเอไอเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผมเชื่อว่าหากทุกองค์กรนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้ยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานได้สำเร็จ ย่อมส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างแน่นอน บทความนี้ ผมขอพูดถึงบทบาทของเอไอที่สามารถนำมาใช้กับอุตสาหกรรมอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบคุณภาพ การควบคุมกระบวนการการผลิต รวมทั้งประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้และความก้าวหน้าด้านอื่นๆ ครับ

ในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญที่สุด คือ ความสะอาดในทุกขั้นตอน ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต จึงต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวด โดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้คุณภาพอาหาร รสชาติ กลิ่น และบรรจุภัณฑ์ผ่านมาตรฐานที่กำหนด (Food Quality Control) และด้วยข้อกำหนดต่างๆส่งผลให้มีกระบวนการทำงานเพิ่มขึ้น ใช้เวลานานขึ้น ใช้จำนวนบุคลากรมากขึ้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว บางองค์กรจึงมีการนำเทคโนโลยี “Robot Tongue” และ “Robot Nose” ทำหน้าที่ช่วยตรวจสอบคุณภาพอาหาร โดยใช้เซ็นเซอร์หลายชนิดที่ทำหน้าที่คล้ายต่อมรับรสของลิ้นมนุษย์ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประมวลผลเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของผลิตภัณฑ์ ที่มนุษย์เป็นคนกำหนดไว้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าได้ตรงตามมาตรฐานก่อนส่งถึงมือผู้บริโภคต่อไป

นอกจากนี้ เอไอ ยังสามารถช่วยคัดแยกผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเตรียมส่งต่อไปใช้ในกระบวนการผลิต และแปรรูปต่างๆ เช่น การคัดแยกมันฝรั่ง โดยใช้แมชชีนเลิร์นนิ่ง (Machine Learning) ในการเรียนรู้ จดจำ สะสมข้อมูลลักษณะของมันฝรั่งต่างๆ ว่าลักษณะแบบไหนที่เหมาะกับการนำไปแปรรูปเป็นสินค้าประเภทใด เช่น นำไปผลิตเป็นอาหารกระป๋อง นำไปทำมันฝรั่งทอด เป็นต้น ซึ่งเป็นการช่วยลดภาระงานที่ต้องทำซ้ำของมนุษย์ ให้ได้ใช้เวลาในส่วนนี้ไปควบคุมดูแลงานในส่วนอื่นๆ ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ความสะอาดและสุขลักษณะของเจ้าหน้าที่ ที่อยู่ในกระบวนการผลิต เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยผู้บริโภค เอไอ สามารถเข้ามาทำหน้าที่ช่วยตรวจสอบ บันทึกข้อมูลการปฏิบัติงานของพนักงานว่า มีการทำความสะอาดถูกต้องตามขั้นตอนที่กำหนดหรือไม่ ผ่านกล้องวงจรปิด และรายงานผลแบบเรียลไทม์ให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ผ่านทางแอพพลิเคชัน หรือเก็บเป็นข้อมูลสถิติที่แสดงบนแดชบอร์ด เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลนี้ไปปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานได้อย่างตรงจุด

อีกตัวอย่างความก้าวหน้าของเอไอที่นำมาใช้กับอุตสาหกรรมอาหารคือ เครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติ (3D Food Printing) ที่สามารถพ่นส่วนผสมอาหารในรูปแบบของของเหลวทีละชั้น จนเกิดเป็นเมนูต่างๆ เช่น พิซซ่า เค้ก ซูชิ ช่วยลดเวลา และขั้นตอนการประกอบอาหาร ทำให้เรามีเวลารังสรรค์เมนูใหม่ๆ ที่มีรสชาติและหน้าตาสวยงามน่ารับประทานมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถปรับส่วนผสมต่างๆ ให้เหมาะสมกับผู้บริโภคแต่ละคนได้ เช่น เพิ่มส่วนผสมของผักและผลไม้ ลดปริมาณไขมัน เพื่อตอบโจทย์คนรักสุขภาพ หรือเปลี่ยนส่วนประกอบบางชนิด เพื่อผู้บริโภคที่มีอาการแพ้อาหารบางประเภทได้ด้วยเช่นกัน 

มีรายงานเพิ่มเติมว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NASA) มุ่งมั่นนำเทคโนโลยีนี้มาใช้กับนักบินอวกาศ เพื่อปรับปรุงคุณภาพอาหารให้มีความหลากหลาย ไม่เกิดความเบื่อหน่ายกับเมนูเดิมๆ และให้สารอาหารที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายอีกด้วย

จะเห็นให้ว่าความสามารถของเทคโนโลยีเอไอ ประกอบกับการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ (Data Analysis) สามารถนำมาพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารได้หลายมิติ ทั้งการควบคุมคุณภาพ การช่วยทุ่นแรงมนุษย์ในกระบวนการผลิต รวมทั้งนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ผมเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ทุกองค์กรจะสามารถนำเอไอเข้ามามีส่วนช่วยพัฒนาขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวไกลสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างแน่นอน