อนาคตญี่ปุ่น อนาคตโลก (2)

อนาคตญี่ปุ่น อนาคตโลก (2)

โครงการ Society 5.0 ของญี่ปุ่นจึงเป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแก้ปัญหาในระยะยาวของประเทศ

นโยบาย Society5.0 ของประเทศญี่ปุ่นที่เปิดประเด็นไว้ฉบับที่แล้วทำให้เห็นความพยายามของญี่ปุ่นที่ต้องการปฏิรูปประเทศเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดเพราะญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาหลายประการที่ต้องการการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ นั่นคือความซบเซาทางเศรษฐกิจที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ ในขณะที่โครงสร้างประชากรของญี่ปุ่น ก็เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มที่ ส่งผลให้ประชากรจะลดลงมหาศาลในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทำให้ประชากรวัยทำงาน มีไม่เพียงพอ ก่อให้เกิดปัญหาการพัฒนาชนบทที่ประชากรจะยิ่งลดน้อยลงไปอีก

นั่นเป็นสาเหตุหลัก 5 ข้อแรกในการที่ประเทศญี่ปุ่นจำเป็นต้องเร่งนโยบายออกมาแก้ไข โดยปัญหาโครงสร้างประชากรของญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยก่อนประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกเริ่มส่งผลกระทบออกมาให้ชาวโลกได้เห็น เป็นสาเหตุข้อที่ 6 คือจำนวนสิทธิบัตรที่ลดน้อยลงเพราะแต่ไหนแต่ไรการจดสิทธิบัตรที่สะท้อนถึง การเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาจะมีชื่อของญี่ปุ่นอยู่ใน 3 อันดับแรกของโลกมาโดยตลอด

แต่ในปีล่าสุด ญี่ปุ่นตกไปอยู่อันดับที่ 9 ของโลก ซึ่งแม้จะมีหลายปัจจัยเหตุไม่ว่าจะเป็นการแข่งขัน ทางธุรกิจที่รุนแรงขึ้น และความก้าวหน้าของประเทศอื่นที่ก้าวมาเป็นคู่แข่งก็ล้ำหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลงก็เป็นสาเหตุสำคัญเช่นกัน

ข้อที่ 7 ต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการบำรุงรักษาระบบสาธารณูปโภคอันทันสมัย เพราะญี่ปุ่น เป็นประเทศแรกในเอเชียที่ก้าวขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้ว จึงมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดีมากทั้งสนามบิน ที่มีกระจายตัวทั่วประเทศรวมไปถึงเขตชนบทมากมาย ทางด่วน รถไฟฟ้า ฯลฯ ทั้งหมดนี้จะมีความต้องการใช้งานลดลงมากเพราะ 30-40 ปีข้างหน้าจะไม่มีเครื่องบินมาลงที่สนามบินเล็ก ๆ อีกต่อไป ทางด่วนหลาย ๆ สายก็จะมีจำนวนรถยนต์มาใช้งานลดลงมาก แต่ทั้งหมดนี้ต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อบำรุงรักษา

ข้อที่ 8 ประเทศญี่ปุ่นอาจต้องเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารใน 30 ปีข้างหน้าเพราะขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร หากไม่เตรียมการใด ๆ เลยชาวญี่ปุ่นจะไม่สามารถจัดสรรอาหารให้กับคนในประเทศได้อย่างเพียงพอ สาเหตุทั้ง 8 ข้อนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลของชินโซะ อาเบะต้องพยายามทุกทางที่จะทำให้ประชากรญี่ปุ่นมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้นทดแทนจำนวนประชากรที่ลดลง ด้วยการใช้เครื่องมือทุกประเภทโดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับการทำงานในคน ๆ เดียวทำงานทดแทนอีก 5-10 คนได้

ปัจจุบันนี้ญี่ปุ่นจึงเป็นแหล่งก่อเกิดโครงการใหม่ ๆ มากมายเพื่อยกระดับประชากรญี่ปุ่นให้เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ที่เคยเล่าสู่กันฟังในThink out of The Box มาก่อนก็คือโครงการของ ADB หรือ Asian Development Bank ที่เน้นการเชื่อมระหว่างเกษตรกรและชาวประมงที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนกับคนทั่วไป ที่มีเงินออมแต่ไม่ต้องการฝากไว้กับธนาคารเนื่องจากนโยบายดอกเบี้ยติดลบ

โครงการดังกล่าวก็คือระบบคลาว์ดฟันดิงที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวเชื่อมโยงผู้กู้กับผู้ปล่อยกู้ เข้าหากันโดยตรงไม่ต้องผ่านคนกลางอย่างธนาคาร ทำให้เกษตรกรและชาวประมงเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำได้ง่ายขึ้น ในขณะที่ประชาชนที่เป็นผู้ให้สินเชื่อก็ได้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากธนาคาร เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากมายที่ดึงให้เกษตรกรสามารถทำการค้าขายตรงเข้าถึงผู้บริโภคได้ผ่านระบบออนไลน์ ไม่ต้องถูกยี่ปั้วซาปั้วกดราคาและยังได้เรียนรู้การทำตลาดผ่านระบบอีคอมเมิร์ซเพื่อสร้างโอกาสในอนาคตได้อีกด้วย

โครงการ Society 5.0 ของญี่ปุ่นจึงเป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแก้ปัญหาในระยะยาวของประเทศ ความก้าวหน้าทั้งหมดในโลกดิจิทัลเช่น AI, Big Data จึงเน้นที่การนำมาช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดข้างต้น ถึงแม้ปัญหาโครงสร้างประชากรของไทยจะไม่รุนแรงเหมือนญี่ปุ่น แต่การเรียนรู้การแก้ปัญหาของเขา ก็จะช่วยให้เรารับมือกับมันได้ในยามจำเป็น เพราะนี่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้เลย