ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่นกับธุรกิจเอสเอ็มอี

ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่นกับธุรกิจเอสเอ็มอี

หากกล่าวลอยๆ โดยใช้คำว่า “ทรานสฟอร์เมชั่น” ในบริบทของการพัฒนาธุรกิจ คนเกือบร้อยละร้อย มักจะคิดถึงเฉพาะการทำ “ดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่น”

หรือ การแปลงโฉมให้กับธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วย

และคำว่า เทคโนโลยีดิจิทัล” ในความรู้สึกโดยทั่วไป ก็คือ การนำระบบคอมพิวเตอร์ ระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการสื่อสารแบบไร้สาย ระบบการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต หรือการพัฒนาแอพพลิเคชั่น มาใช้ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั่นเอง

ความจริงแล้ว มีผู้ให้ความหมายที่ค่อนข้างจะครอบคลุม ว่า ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่นหมายถึง การนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างสรรค์วิธีการใหม่ๆ หรือปรับปรุงกระบวนการธุรกิจที่ทำอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพหรือความแปลกใหม่ขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้าเดิมของธุรกิจ การดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ให้เกิดความสนใจกับธุรกิจ การสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ให้กับพนักงานในการทำงาน

ทั้งนี้ เพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัว และแปลงร่างใหม่ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตที่ทันสมัยของผู้คนในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเกิดความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว

ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น อาจเกิดขึ้นกับสิ่งที่ธุรกิจเคยทำอยู่ในการขาย การตลาด การให้บริการ และกระบวนการอื่นๆ ที่ธุรกิจจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับตลาดและลูกค้า โดยมีวัตถุประสงค์ที่สร้างประสบการณ์ใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้มีประสิทธิภาพและความรวดเร็วที่สูงขึ้น

โดยทั้งหมดนี้ ต้องเกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ที่เกิดขึ้นภายในตัวธุรกิจ รวมถึงวิสัยทัศน์จากผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจ

แม้กระทั่งธุรกิจในระดับเอสเอ็มอีที่อยู่มาในตลาดระยะหนึ่งแล้ว เราก็จะเห็นการพัฒนาจากการใช้ระบบบันทึกในแบบฟอร์มเอกสารมาสู่การใช้โปรแกรมตารางคำนวณ การใช้โปรแกรมมาตรฐาน การใช้โปรแกรมที่พัฒนาขึ้นเฉพาะ และเริ่มพัฒนามาสู่การใช้แอพลิเคชั่นที่ใช้ได้ง่ายขึ้น และมีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนระบบให้สอดคล้องไปกับกลยุทธ์ธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

จะเห็นได้ว่า ความหมายง่ายๆ ของการทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น ก็คือ การยกเลิกระบบเอกสารบนกระดาษ มาสู่การใช้คอมพิวเตอร์ในการบริหารจัดการธุรกิจ นั่นเอง

ความจริงแล้ว การแปลงโฉมธุรกิจด้วยการทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น ยังมีองค์ประกอบย่อยที่ควรทำความเข้าใจอีกหลายส่วน

การเข้าสู่การทำ ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น มักจะเริ่มต้นขึ้นด้วย การแปลงข้อมูลสำคัญที่ใช้ในธุรกิจจากระบบข้อมูลบนกระดาษ มาเป็นข้อมูลในระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถอ่านและประมวลผลได้ ขั้นตอนนี้ เรืยกว่า การทำ ดิจิทัลไลเซชั่น หรือ Digitalization

ต่อมาก็จะเป็นการพัฒนากระบวนการจัดเก็บข้อมูลใหม่ให้อยู่ในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทันทีที่ต้องการบันทึกหรือจัดเก็ข้อมูล หรือ การทำดิจิไทเซชั่น (Digitization)

ดังนั้น คำศัพท์ที่ดูจะเหมือนเป็นคำเดียวกัน แต่สามารถบอกได้ถึงระดับการเปลี่ยนโฉมธุรกิจขึ้นไปอีกระดับหนึ่งของการใช้เทคโนโลยี จึงได้แก่

Digitalization การแปลงข้อมูลเดิมที่มีอยู่ในธุรกิจ ให้เป็นรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

Digitization การนำข้อมูลใหม่เข้าสู่ธุรกิจธุรกิจในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ต้น และ

Digital Transformation การนำข้อมูลที่มีอยู่ในธุรกิจ มาวิเคราะห์ ประมวลผล เพื่อสรรสร้างนวัตกรรมและความแปลกใหม่ที่จะทำให้ธุรกิจสามารถส่งมอบคุณค่าเพิ่มให้แก่ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

เป็นหน้าที่ของผู้บริหารสูงสุดหรือเจ้าของธุรกิจ ที่จะนำธุรกิจของตนไปสู่การเปลี่ยนโฉมของธุรกิจให้มีความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้โลกที่เต็มไปด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ อย่างหลายหลาย เช่นในขณะนี้

เป็นโอกาสอันดีที่ธุรกิจเอสเอ็มอี จะหันกลับไปทบทวนวิธีการหรือกระบวนการธุรกิจที่ใช้อยู่ และถามกับตัวเองว่า จะสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจ การสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง หรือการสร้างความประทับใจและประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า ฯลฯ ได้อย่างไร?

เมื่อตั้งคำถามได้ถูกค้อง คำตอบและช่องทางที่จะใช้ในการ “แปลงโฉม” ให้กับธุรกิจ ก็จะชัดเจนขึ้นเอง

ส่วนธุรกิจขนาดเล็กประเภท สตาร์อัพ นั้น ย่อมจะผนวกเรื่องของดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ากับธุรกิจของตนเองอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ในฐานะที่เป็นธุรกิจยุคใหม่