Impress Imprint Impact

Impress Imprint Impact

เวลาเราทำงานกับคน โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานใหม่ เราต้องพึงตระหนักถึง 3 I : Impress, Imprint, and Impact

เปิดปีใหม่มาชีวิตวุ่นวายยิ่งนัก เนื่องจากการรวมพลังเป็นหนึ่งระหว่าง Iclif Leadership Centre กับ Asia School of Business in collaboration with MIT Sloan มีเรื่องโน่นนี่นี่นั่นให้ต้องอธิบาย ต้องแจกแจง ต้องตัดสินใจกันแทบทุกชั่วโมง

แถมตัวผมเองก็มีงานต่อเนื่องจากปี 2019 อีกไม่น้อย

“I am concern about your 360 report” ผมกล่าวกับคุณ Lee แกเป็นผู้จัดการหนุ่มไฟแรงที่อยู่ในโครงการ Talent Development ขององค์กรยักษ์ใหญ่ทางการเงินแห่งหนึ่ง เพิ่งย้ายกลับจากยุโรปมาร่วมทีมได้ไม่ถึง 2 ปี แถมมีหัวหน้าคนใหม่อีกด้วย

“You overall score is fine, but your boss gave you significantly lower scores across the board” นายของลีให้คะแนนเค้าน้อยกว่าผู้ประเมินคนอื่น ๆ อย่างมาก บางหัวข้อได้เพียง 3 จาก 5

ผู้จัดการเชื้อสายจีนยิ้มแหยๆ “ใช่ครับ เผอิญการประชุมเดือนก่อนผมพลาดไปหน่อย”

ลีเล่าให้ผมฟังว่าเค้าเผลอตัวพูดบางอย่างออกไปโดยไม่ตั้งใจ ประมาณว่าอีกแผนกทำงานไม่ได้เรื่อง ดันไปจุดไต้ตำตอเพราะแผนกดังกล่าวคือที่ ๆ หัวหน้าคนใหม่เคยอยู่ ฉีกหน้านายชนิดทั้งห้องเงียบกริบแทบได้ยินเสียงเข็มตก

“What you need is a closure” ผมบอกกับเขา เจ้าตัวทำหน้างงๆ

เวลาเราทำงานกับคน โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานใหม่ เราต้องพึงตระหนักถึง 3 I : Impress, Imprint, and Impact

ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง

1. Impress หมายถึงภาพแรกที่คนเห็น เคยได้ยินไหมครับว่าสมองใช้เวลาเพียง 7 วินาทีในการ ‘ตัดสิน’ คนตรงหน้า มีงานศึกษาจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันบอกว่าเวลาดังกล่าวอาจสั้นเพียง 0.1 วินาทีด้วยซ้ำไป ซึ่งการตัดสินใจของมันไม่ค่อยมีเหตุผลหรอก บางทีดูจากการแต่งตัว เผ้าผม เสียงพูด หรือ ประโยคที่หลุดปากออกมา เช่นในกรณีคุณลี

2. Imprint สเต็ปต่อมาคือการฝังหัว คุณผู้อ่านอาจเคยได้ยินคำนี้ใช้กับสัตว์ที่เพิ่งออกจากไข่ เช่นลูกเป็ดเดินตามแมวต้อย ๆ เพราะตอนเกิดดันเห็นหน้าแมวเป็นสิ่งแรก หากไม่มีอะไรเกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนการตัดสินแว้บแรกแบบ Impression สมองก็จะ Imprint อย่างถาวรมากขึ้น เช่น จากการโกรธที่พูดไม่เข้าหู นายคุณลีก็จะสรุปว่าลูกน้องคนนี้นิสัยไม่ดี ไม่เคารพผู้ใหญ่ ไม่ทำงานเป็นทีม ดูถูกคนอื่น ฯลฯ

3. Impact ตัวร้ายสุดคือ ‘I’ ที่สาม เพราะมีผลโดยตรงต่อชีวิตของคุณ เมื่อหัวหน้า Impress and Imprint แล้วว่าเราไม่ได้เรื่อง คราวนี้สิ่งตามมาคือการถูกดอง ยัดงาน ไม่ให้เวลา แถมถูกด่าตลอด ประเมิน 360 ทีไรคะแนนห่วยทุกที พูดง่าย ๆ คือเป็นนรกของลูกน้อง

วิธีแก้คือ Closure ต้องแทรกภาพใหม่เข้าไปเปลี่ยนภาพ Impress ให้เร็วที่สุด อย่างปล่อยเวลาให้ช้าไปจน Imprint

“You need to go talk to your boss as quickly as possible” ผมบอกเขา รีบไปขอโทษ ไปอธิบายเสีย ก่อนจะสายเกินไป

ธรรมชาติสำหรับมนุษย์ส่วนมาก โดยเฉพาะลูกน้อง (หรือสามี) คือพอทำอะไรพลาดแล้วไม่กล้าเคลียร์ มักคิดว่าปล่อยให้เวลาผ่านไปเค้าจะลืม ข้อเท็จจริงคือ หากไม่มีข้อมูลใหม่มา สมองจะใช้ข้อมูลเดิมในการบันทึก ถึงรอบผลประเมินผลการปฏิบัติงานทีไร เรื่องเก่าก็จะกลับมาหลอกหลอนเราใหม่ทุกครั้ง

ผมเล่าให้ลีฟังว่า เมื่อสมัยผันตัวจากการเป็นที่ปรึกษาเข้าไปทำงานในองค์กร ผมเคยเขียนโน้ตสไตล์ฝรั่งเพื่อขอพบพี่ๆผู้บริหารคนไทย ทื่อๆไม่มีสัมมาคารวะ ขาดความอ่อนน้อมถ่อมตัว ฟังธงตรงประเด็น แถมบังอาจขีดเส้นใต้เน้นตัวหนาความช่วยเหลือที่ต้องการอีก

โชคดีมีเพื่อนเป็น HR รีบมากระซิบว่าพี่ธัญส่งอีเมล์อะไรไปหานายๆ เค้าโกรธกันหัวฟัดหัวเหวี่ยง จะทำอะไรก็รีบทำเข้าเพราะเพิ่งมาทำงานได้ไม่ถึงเดือน ขืนปล่อยไว้อย่างนี้รับรองว่าต่อไปทำงานยากแน่

ผมจึงรีบตรงไป ‘คลานเข่า’ ขอโทษพี่ๆโดยทันที ยังจำได้ว่าตอนเดินเข้าไปใจตุ้มๆต่อมๆ มีความกลัวมากกว่าความกล้า แต่คิดว่าต้องทำเพราะไม่อยากทิ้งความรู้สึกลบไว้ให้คาราคาซัง โชคดีที่ทั้งคู่ให้อภัย และกลายมาเป็นผู้อาวุโสซึ่งให้ความเมตตาช่วยเหลือผมมาตลอด

นี่แหละครับคือตัวอย่างของ Imprint Impress and Impact

“ผมเข้าใจละ” ลีกล่าวอย่างลิงโลด “I’m going to immediately find time to apologize to my boss this week. Hopefully the closure will be in time before she imprints on me”

ก่อนจบเรื่องวันนี้ หากพี่รุ่งหรือพี่เป้าผ่านมาอ่านเห็นเข้า อาจระลึกได้ถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งผมอยากจะบอกอีกครั้งว่า

“ผมขอโทษจริง ๆ ครับพี่!”