วันเกษียณที่มีความหมายแบบญี่ปุ่น

วันเกษียณที่มีความหมายแบบญี่ปุ่น

ช่วงนี้ ผมอยู่ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มาตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม มาสอนหนังสือประจำปีของผม ที่มหาวิทยาลัย ฮิโตสุบาชิ (Hitotsubashi)

หลักสูตรปริญญาโทภาษาอังกฤษ ด้านนโยบายสาธารณะ (Asia Pacific Policy Program) นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นข้าราชการจากประเทศในเอเชีย ที่ทำงานกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจในประเทศของตน เช่น กระทรวงการคลัง ธนาคารชาติ และสำนักงานวางแผนเศรษฐกิจ ทุกคนได้รับทุนให้เข้าเรียนจากองค์กรสนับสนุน เช่น กระทรวงการคลังญี่ปุ่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ธนาคารโลก กระทรวงศึกษาญี่ปุ่น และหน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น แต่ละปีมีนักศึกษาเข้าเรียน 12 - 15 คน เป็นหลักสูตร 2 ปี ผมสอนนักศึกษาปี 2 ในวิชาเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของประเทศในเอเชีย สอนมาแล้ว 8 ปี ทำให้มีลูกศิษย์ลูกหามากพอควร ถือเป็นอีกความรับผิดชอบหนึ่งของผม หลังการทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

แต่ที่ผมชอบมากพร้อมกับการสอนคือ โอกาสที่ได้พบเพื่อนชาวญี่ปุ่น โดยจะมีกลุ่มเพื่อนเหล่านี้มานัดแนะ ทานอาหารคุยกันเกือบทุกวัน เพื่อนเหล่านี้มีทั้งที่เป็นนักธุรกิจ ข้าราชการ อาจารย์มหาวิทยาลัย และอาชีพอิสระ ประเด็นที่คุยกันเรื่องงานจะน้อยมากเพราะทุกคนตอนนี้วางมือจากงานประจำหมดแล้ว เป็นประชาชนวัยเกษียณเต็มขั้นกันหมด แต่ทุกคนก็ดูมีความสุข หลายคนดูจะยุ่งกับเรื่องต่างๆ ที่ทำอยู่หลังเกษียณ เช่น สอนหนังสือ เป็นที่ปรึกษา เป็นกรรมการบริษัท หรือทำงานเพื่อสังคม แต่แม้งานจะเปลี่ยนไป ทุกคนยังดูสง่ามีสีสันแบบญี่ปุ่นเหมือนเดิม ถือเป็นชีวิตหลังเกษียณที่ดูแล้วดี และมีความหมาย 

ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มีประชากรสูงวัยมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ล่าสุด ประมาณ 1 ใน 3 คือ 33.3% ของประชากรญี่ปุ่นมีอายุเกิน 60 ปี และ 12.5% มีอายุเกิน 75 ปี อยู่ทั้งในเมืองและชนบท เป็นประเทศหนึ่งที่ประชากรอายุยืนมาก คือเฉลี่ย 85 ปี ถือเป็นซูเปอร์สตาร์ของสังคมสูงวัย ดังนั้น ถ้าอยากรู้นโยบายรัฐในการบริหารความท้าทายของสังคมสูงวัย หรืออยากเรียนจากประสบการณ์คนสูงวัยว่าชีวิตหลังเกษียณทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ผมว่าต้องมาศึกษาที่ญี่ปุ่น 

เท่าที่สังเกตุ คนสูงวัยที่ญี่ปุ่นมีมาก บางคนเดินคนเดียว บางคนเดินเป็นคู่ เช่น สามีกับภรรยา เพื่อนกับเพื่อน หรือพี่กับน้อง ส่วนใหญ่ดูแข็งแรง ช่วยตัวเองได้ เดินเหินคล่องแคล่ว แต่งตัวดี คือ เป็นคนสูงวัยที่ดูดี และอีกอย่างที่สังเกตุเห็นได้ง่าย คือ คนสูงวัยญี่ปุ่นจะประหยัด ใช้ชีวิตเรียบง่าย และระมัดระวังการใช้เงินให้คุ้มค่า เช่น สั่งอะไรมาทาน มาดื่ม ก็จะสั่งมาพอดี และใช้เวลาเอ็นจอยกับอาหารหรือเครื่องดื่มที่สั่งอย่างไม่รีบร้อน มีความเป็นส่วนตัวสูง ค่าใช้จ่ายจะแชร์กันอย่างเท่าเทียม ไม่มีขาใหญ่มาดูแลหรือแสดงบารมี เป็นสังคมที่เคารพและให้ความสำคัญกับคนอื่น ด้วยอัธยาศัยและไมตรีจิตที่ดี สัมผัสแล้วประทับใจ

ผมคุยกับเพื่อนญี่ปุ่นหลายคนเกี่ยวกับชีวิตหลังเกษียณ ถามไถ่ว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ชีวิตหลังเกษียณ มีความสุขและมีความหมาย คำตอบที่ได้ต้องบอกว่าหลากหลาย ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่า อะไรเป็นความคาดหวัง ฐานะทางการเงิน และสิ่งที่ตนเองให้ความสำคัญหรืออยากทำหลังเกษียณ แต่เท่าที่ฟัง ผมว่าชีวิตเกษียณที่ประสบความสำเร็จและมีความหมายคงไม่พ้นสามเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและต้องทำให้ดี

เรื่องแรก ต้องมีความพร้อม คนมักพูดว่า ชีวิตคือการเดินทาง ดังนั้นวัยเกษียณจึงเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทาง เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาของชีวิตที่เราต้องเดินทางต่อ เพียงแต่เป็นช่วงเวลาที่เราจะไม่มีงานประจำ ไม่มีรายได้ประจำ เวลาจะมีมากขึ้น แต่ยังต้องใช้จ่ายและต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป คำถามคือ เราพร้อมหรือไม่ที่จะมีชีวิตแบบนี้ ที่อาจจะนานกว่า 10 ปี นานกว่า 20 ปี หรือ 30 ปี และเราจะอยู่อย่างไรที่จะทำให้ช่วงเวลาสุดท้ายนี้ประสบความสำเร็จและมีความหมาย

คำตอบ ที่เพื่อนญี่ปุ่นผมทุกคนเห็นด้วย คือ ต้องมีความพร้อมที่จะเกษียณ และประเด็นสำคัญเรื่องนี้ ที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เงิน ความพร้อมเรื่องเงินดูอย่างไร คำตอบ คือ หนึ่ง ต้องไม่มีหนี้เพราะถ้ามีหนี้ ในช่วงที่ไม่มีรายได้ก็จะลำบาก สอง ต้องไม่มีภาระทางการเงิน เช่น ส่งลูกเรียนหนังสือ หรือดูแลเลี้ยงดูคนอื่น ถ้าภาระเหล่านี้ยังมี เราคงยังไม่พร้อมที่จะไม่มีรายได้ หรือหยุดทำงาน สาม ต้องมีเงินออม หรือ รายได้จากระบบการออมเพียงพอเพื่อใช้จ่ายในวัยเกษียณ ซึ่งสำหรับคนญี่ปุ่นที่มาหลักของรายได้ในวัยเกษียณก็คือ เงินบำนาญภาครัฐ เงินบำนาญที่ได้จากบริษัทที่เคยทำงาน และรายได้จากการออมที่สะสมไว้

เงินก้อนนี้จะต้องมากหรือน้อย ขึ้นอยู่ว่าเราจะใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างไร จะฟุ่มเฟือยแบบสมัยทำงานหรือจะประหยัด ตัวเลขเหล่านี้สามารถคำนวณได้คร่าวๆ โดยเอาจำนวนปีที่เราคาดว่าอยากอยู่ หลังเกษียณ เช่น 25 ปี คูณด้วยค่าใช้จ่ายที่ต้องมีในแต่ละปี ถ้าตัวเลขออกมาสูงกว่าเงินออมที่มีและเงินบำนาญที่จะได้หลังเกษียณมาก ตัวเลขคงฟ้องว่า เรายังไม่พร้อมที่จะเกษียณ ควรต้องทำงานต่อไป เก็บออมต่อไป แต่ถ้าต้องเกษียณ หรือต้องออกจากงานเพราะอายุถึงแล้วหรือบริษัทเลิกจ้าง เราก็ต้องเตรียมหางานใหม่ทำ ยังเกษียณไม่ได้ เพราะในแง่การเงินเรายังไม่พร้อมที่จะเกษียณ

เรื่องที่สองที่สำคัญคือ ต้องพร้อมengage พร้อมที่จะทำอะไรต่อหลังเกษียณ ไม่หยุดนิ่ง เพื่อให้ชีวิตแอ๊คทีฟ เรื่องนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะช่วงสิบปีแรกหลังเกษียณที่ร่างกายยังดี และความเป็นตัวเป็นตนของเราในสังคมยังเป็นที่รู้จัก แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยชีวิตจะเฉาแน่นอน ทั้งร่างกายและจิตใจ ที่ญี่ปุ่น คนในวัยเกษียณส่วนใหญ่จะพยายามทำงานเพื่อทำตัวให้เป็นประโยชน์ และมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ ก็ยังดี เพราะเงินออมที่มีถ้าใช้อย่างเดียวก็จะหมดเร็ว บางคนทำงานเต็มเวลาต่อ แต่รับเงินเดือนน้อยลง บางคนทำงานครึ่งเวลาเป็นที่ปรึกษา เป็นกรรมการบริษัท บางคนสอนหนังสือ บางคนเอางานอดิเรกมาเป็นรายได้เสริม คือได้ทั้งเงินและได้ทำในสิ่งที่อยากทำ

ในประเด็นนี้ ผมประทับใจเพื่อนญี่ปุ่นของผมคนหนึ่งที่ชอบการจัดสวน(Gardening)เป็นชีวิตจิตใจ เดิมเป็นนักธุรกิจเป็นผู้บริหารระดับท็อปของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น พอเกษียณก็หันมาเอาจริงเอาจังเรื่องจัดสวน เข้าหลักสูตรอบรม จากนั้นก็สมัครเป็นลูกมือทีมงานตกแต่งสวนของเทศบาลประจำตำบลที่ตนเองมีบ้านอยู่ในกรุงโตเกียว รับงานตกแต่งสวนให้กับบ้านเรือนในพื้นที่ เขาทำงานนี้ด้วยความสมัครใจ แม้ต้องไปเป็นลูกมือให้กับคนอื่นเพราะถือเป็นการทำงานให้สังคม และเป็นโอกาสได้พัฒนาฝีมือตนเองในการจัดสวน ได้ทำในสิ่งที่ชอบ อาทิตย์ละ 2 – 3 วัน ไม่เหงา และมีรายได้อีกต่างหาก แม้จะไม่จำเป็นสำหรับเขา จุดสำคัญในเรื่องนี้ คือ ต้องพร้อมที่จะทำอะไรหลังเกษียณเพื่อไม่ให้เหงา โดยเฉพาะช่วงสิบปีแรก ผลที่ได้คือมีสังคมใหม่ มีประสบการณ์ใหม่ มีรายได้เสริม และได้ทำในสิ่งที่อยากทำ

เรื่องที่สามที่สำคัญ คือต้องมีวินัยในการใช้จ่ายและมีวินัยในการดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อให้เงินออมที่มีสามารถนำไปสู่ชีวิตหลังเกษียณที่มีความสุขได้นานๆ ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ เมื่อเรามีรายได้น้อยลง การใช้จ่ายหรือการใช้ชีวิตก็ควรต้องปรับลดลงเช่นกันให้สอดคล้องกัน ไม่อย่างนั้นเงินออมที่มีก็จะอยู่กับเราไม่ได้นาน การใช้ชีวิตอย่างพอควร เรียบง่าย แต่ดูสง่างาม พร้อมกับให้เวลามากขึ้นกับสุขภาพ กับคนในครอบครัวและเพื่อนสนิท เป็นจุดเด่นอันหนึ่งของคนเกษียณที่ดูประสบความสำเร็น วินัยข้อนี้เพื่อนญี่ปุ่นผมเห็นเหมือนกันทุกคนว่าสำคัญที่สุด และทำยากสุด โดยเฉพาะคนที่เคยมีชีวิตแบบที่ไม่เคยต้องห่วงเรื่องการใช้จ่ายมาก่อน แต่ก็ต้องพยายาม เพราะถ้าทำได้จะรู้เลยว่าไม่ยาก และจะรู้สึกดีกับตัวเองด้วยว่า ตอนนี้ทุกอย่างเบาลง อยู่อย่างง่ายๆ เบากับตัวเอง เบากับคนรอบข้าง และเบากับสุขภาพ