การประเมินโครงการภาครัฐ

การประเมินโครงการภาครัฐ

หลังแถลงนโยบายของรัฐบาลใหม่ โครงการต่างๆ ของรัฐบาลทยอยออกมาทุกกระทรวง จึงเป็นเรื่องน่าติดตามประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการภาครัฐต่างๆ

ว่าจะได้ผลดีหรือไม่เพียงไร

เคยเขียนบทความวิจัย 2 - 3 เรื่องนานมากแล้ว เรื่องหนึ่งคือสาระในการบริหารโครงการภาครัฐ และอีกเรื่องหนึ่งคือ ข้อพิจารณาในการวิเคราะห์โครงการ/นโยบายด้วยข้อมูลอนุกรมเวลา (Time-series data) ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ซึ่งได้พูดถึงหลักการประเมินโครงการภาครัฐ ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตุว่าการประเมินนโยบายภาครัฐของเรายังขาดความสมบูรณ์อย่างมาก เกือบทั้งหมดของโครงการภาครัฐใช้การพิจารณาจากตัวชี้วัด (Indicators) เป็นหลัก ตามที่ตั้งเป้าหรือ Projection แต่พอไม่ได้ตามที่ตั้งเป้า ก็ไม่มีคำอธิบายอะไรว่าจะแก้ไขอย่างไร

สมัยที่ร่วมประชุมใน กมธ.สาธารณสุข สนช. ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์นั้น พบว่าหลายหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรที่เกี่ยวข้อง มีโครงการมากมายเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน เช่นของ สสส.ที่ทำเรื่องนี้โดยตรงมีโครงการนับร้อยนับพันโครงการ และเกือบทั้งหมดเป็นโครงการต่อเนื่อง อาทิในจำนวนโครงการที่ สสส.สนับสนุนประมาณ 200 โครงการในแต่ละปีนั้น มีไม่ถึง 20 โครงการเป็นโครงการใหม่ของปี นอกนั้นเป็นโครงการเดิมที่สนับสนุนต่อเนื่อง

คำถามก็คือ ทุกครั้งที่มาชี้แจง จากตัวเลขสถิติประกอบการชี้แจง พบว่าปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย อุบัติเหตุ การเสพสุรายาสูบบุหรี่เหล้า ตลอดจนการเสียชีวิตจากโรคที่ไม่ติดต่อทั้งหลาย นอกจากจะไม่ลดลงแล้วยังดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นด้วยแต่ สสส. ก็ยังสนับสนุนโครงการเหล่านั้นต่อเนื่อง ใช้งบประมาณจากภาษีบาปถึงปีละ 4,000 ล้านบาท จนเป็นที่อิดหนาระอาใจของหน่วยงานที่เกี่ยวกับสถิติ หรือเกี่ยวกับงบประมาณที่ตั้งข้อสังเกตุครั้งแล้วครั้งเล่าว่าทำไมไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน เพราะถ้าโครงการเดิมนั้นไม่ประสบความสำเร็จ ไม่คุ้มค่าเงิน ก็ต้องเปลี่ยนแปลงได้ตั้งข้อสังเกตุว่า ทุกครั้งที่มาชี้แจงนั้น ไม่มีการชี้แจงเรื่องการประเมินโครงการโดย สสส.เลย มีแต่แสดงตัวเลขจำนวนและสถิติ และเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดต่างๆเท่านั้นถ้า สสส. ไม่มีการประเมินโครงการด้วย สสส.เอง ก็เป็นเรื่องผิดพลาดอย่างยิ่ง เพราะปล่อยให้ผู้เสนอโครงการต่างๆนั้นเสนอเอง ทำงานเอง ประเมินเอง สรุปเอง ซึ่งไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น

การประเมินโครงการนั้น โดยปกติทำตั้งแต่การสร้างนโยบาย (Policy formation) การดำเนินการตามนโยบาย (Policy implementation) การติดตามตรวจสอบ (Policy monitoring) จนถึงการส่งมอบผลงาน(Service delivery)

การวิจัยและประเมินผลโครงการรัฐ หรือ Public Program Evaluation นี้ ไม่ใช่เฉพาะในระบบสาธารณสุข สาขาอื่นก็มีเช่นกันไม่ว่าการศึกษา สังคม เศรษฐกิจชุมชน เรียกรวมๆว่าการวิจัยเพื่อประเมินผล (Evaluation research)นั่นหมายความว่าแต่ละโครงการหรือโปรเจ็ค หน่วยงานจะต้องตรวจสอบทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ทั้งนี้เพราะโครงการเหล่านี้เป็นโครงการทางสังคมที่มีตัวแปรมากมายที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ การประเมินโครงการเป็นระยะๆการประเมินเป็นเรื่องจำเป็น เพราะถ้าพบว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมายในช่วงใดก็ต้องปรับเปลี่ยน ไม่ใช่เริ่มต้นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นอย่างนั้นจนจบระยะเวลาโครงการ ที่ในที่สุดก็จบลงที่ได้ผลแบบเดิมๆ จากการทำงานแบบเดิมๆ วิธีการเดิมๆ

สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือเครื่องมือในการประเมิน และผู้ประเมิน ก็อาจมีส่วนในการประเมินโครงการได้เช่นกัน การใช้เครื่องมือเพื่อการประเมินที่ไม่ถูกต้องหรือล้าสมัยไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปก็อาจทำให้ผลการประเมินผิดเพี้ยน และยิ่งถ้าผู้ประเมินไม่เป็นกลางหรือไม่มีศักยภาพเพียงพอก็อาจทำให้เกิดความลำเอียงจากการประเมินได้เคยรับฟังองค์กรมูลนิธิแห่งหนึ่งที่เสนอโครงการเพื่อรับเงินสนับสนุนจาก สสส. บอกว่าการขอการสนับสนุนของ สสส.เน้นเป้าหมายคือต้องเป็นไปตามระเบียบการขอเงินสนับสนุน ผู้เสนอโครงการต้องแสดงให้เห็นว่าสามารถดำเนินการโครงการนั้นได้ แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการติดตามการดำเนินงานโดย สสส.อีก มีแต่การจ่ายเงินสนับสนุน

การประเมินที่ดีที่สุดคือการประเมินจากหน่วยงานกลางที่ไม่ใช่ผู้ดำเนินโครงการประเมินตัวเอง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการประเมินที่ลำเอียงเข้าข้างตัวเอง ดังนั้น ถ้าไม่ประเมินโดยผู้ว่าจ้างเองก็ต้องมีการใช้หน่วยงานกลางหรือหน่วยงานอื่นที่มีความสามารถในการประเมินมาทำหน้าที่ เช่นเดียวกับโครงการของรัฐที่ให้สัมปทานเอกชน รัฐก็ต้องจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำหน้าที่ตรวจสอบประเมินผลการทำงานของผู้รับสัมปทานด้วย ไม่ปล่อยให้ผู้รับสัมปทานทำเอง ประเมินเอง สรุปเอง โดยผู้ให้สัมปทานเพียงแค่ตรวจรับมอบงาน ซึ่งถ้าไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว สูญทั้งเงิน เสียทั้งเวลาการประเมินผลในแต่ละช่วงของโครงการจึงเป็นเรื่องสำคัญ