เจาะปัญหาให้ตรงจุด แก้ปัญหาได้ถูกทาง

เจาะปัญหาให้ตรงจุด แก้ปัญหาได้ถูกทาง

เคยได้ยินคำพูดล้อกันเล่นๆนี้ หรือเปล่าครับ “ถ้าหากคุณมีค้อนอยู่ในมือแล้ว ทุกอย่างจะกลายเป็นตะปูไปหมด”

จากนักคิดชื่อดัง เจ้าของทฤษฏีลำดับความต้องการ 5 ขั้นของมนุษย์ Abraham Maslow “if all you have is a hammer, everything looks like a nail”

ข้อคิดที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากข้อความข้างต้นคือ คนเรามีความรู้ประสบการณ์ที่แตกต่างกัน บ่อยครั้ง จึงคิดทำอะไรตามกรอบความคิดที่ตัวเองมีเท่านั้น และ ปิดกั้นแนวทางอื่นๆที่เราไม่รู้

แก้ปัญหาด้วยเป้าหมายเป็นตัวตั้ง

แทนที่จะเริ่มต้นด้วยการมองค้อนซึ่งเป็น เครื่องมือ ต้องเปลี่ยนเป็นมอง เป้าหมาย ที่ต้องการก่อน ซึ่งความจริงแล้ว เราอาจจะไม่ได้มีความต้องการจะติดอะไรเข้าด้วยกันเลยก็ได้ การเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมควรจึงตามมาทีหลัง

ค้อนเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในหลายทางเลือกที่มี ถ้าไม่ได้ต้องการความแข็งแรงอะไรมาก ทากาวให้ติดกันเท่านั้นก็ใช้ได้ จึงต้องคำนึงเสมอว่า เป้าหมายไม่ใช่การใช้ค้อนตอกตะปู แต่เป็นการยึดชิ้นงานให้ติดกัน

ในปัจจุบันนี้จะมีการเรียนรู้อบรม เครื่องมือเพื่อการปรับปรุงผลิตภาพและคุณภาพมีมากมายเต็มไปหมด สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ เครื่องมือคือสิ่งที่ใช้เพื่อการ บรรลุเป้าหมาย อะไรบางอย่างเท่านั้น แต่อย่าไปยึดติด

การปรับปรุงพัฒนาหรือแก้ปัญหาใดก็ตาม จึงมีคำพูดว่า อย่า หลงทาง ไปเป็นผู้ที่เน้นแต่การใช้เครื่องมือ จนละเลยไปว่า จริงๆแล้วเป้าหมายงานคืออะไร เรามีทางเลือกอะไรในการใช้เครื่องมือที่เหมาะสมบ้าง

ผมพึ่งได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากรสัมมนา ในหัวข้อ “Diagnosis Practices for Productivity and Quality Improvement”

เป้าหมายคือให้ผู้เข้าอบรม ได้ฝึกปฏิบัติวินิจฉัยกระบวนการทำงาน โดยการสังเกตการณ์พื้นที่ทำงานจริง เพื่อค้นหา ปัญหา หรือ โอกาสแห่งการปรับปรุง” ในพื้นที่ จากนั้นใช้ปัญหาเป็นตัวตั้งเพื่อปรับปรุงแก้ไข

การอบรมอัดแน่นสามวันในวันแรก เป็นการปูพื้นความคิดโดยการอภิปรายถึง หลักการแนวคิด ของการปรับปรุงผลิตภาพและคุณภาพ การค้นหาปัญหา รวมทั้งการทบทวนเครื่องมือต่างๆ

ในวันที่สอง ผู้เข้าอบรมได้แบ่งกลุ่มเข้าพื้นที่ทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย เพื่อ สังเกตกระบวนการทำงาน จากนั้น ระบุปัญหา และ วิเคราะห์หาแนวทางวิธีการปรับปรุง โดยหลังจากการสังเกต ประชุมระดมสมองแล้ว ผู้เข้าอบรมต้องนำเสนอความคิดของกลุ่ม ให้กับผู้เข้าอบรมกลุ่มอื่นด้วย

วันสุดท้าย ผู้เข้าอบรมได้ นำเสนอความคิดของกลุ่มต่อผู้บริหารบริษัท เพื่อรับฟังมุมมองสะท้อนกลับ (Feedback) และความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้บริหารองค์กร ปิดท้ายด้วยสิ่งเรียนรู้ และ การนำไปประยุกต์ใช้ต่อองค์กรตนเอง

ด้วยกิจกรรมเช่นนี้ ประโยชน์ที่ได้รับ จึงตกกับทั้งฝ่ายผู้เข้าอบรมและองค์กรที่เปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าอบรมฝึกปฏิบัติ (Win-Win Benefit) ในด้านของ ผู้เข้าอบรม ได้ฝึกสังเกต วิเคราะห์ และ นำเสนอ ภายใต้สถานการณ์จริง องค์กร ก็ได้รับข้อเสนอเพื่อการปรับปรุง จากผู้เข้าอบรมที่มีประสบการณ์หลากหลาย

ในวันที่นำเสนอจริง ผู้บริหารได้กล่าวชื่นชมผู้เข้าอบรมหลังจากรับฟังว่า แม้ว่าจะมีเวลาในพื้นที่ของบริษัทสั้นๆกันเพียงวันเดียวเท่านั้น แต่ก็ทำผลงานมาได้น่าสนใจมาก หลายๆข้อเสนอนั้นมีประโยชน์และสามารถ นำไปปฏิบัติได้จริง

ผมได้มีโอกาสคุยเพิ่มเติมกับผู้บริหารฯซึ่งให้ความเห็นว่า หลายๆเรื่องที่มีการนำเสนอนั้น เป็นเรื่องที่บริษัทเรามองข้าม อาจเป็นเพราะความคุ้นเคยหรือ ชิน กับสิ่งที่ทำ จนไม่เคยตั้งคำถาม ทำไม กับ วิธีการทำงานและสภาพพื้นที่ทำงาน” ที่เป็นอยู่

จากนั้นก็ตั้งประเด็นว่า ทำอย่างไรคนทำงานในพื้นที่จะมี จิตสำนึก คอยตรวจสอบวินิจฉัยตนเอง เพื่อหาหนทางปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เพียงแค่การทำงานในความรับผิดชอบประจำวันแล้วก็จบไป ผมได้กล่าวแลกเปลี่ยนไปว่า นี่เป็นคำถามพื้นฐานที่สำคัญมาก

องค์กรต้องสร้างจิตสำนึกการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง สูตรคณิตศาสตร์ของ Productivity คือ Output หาร Input นั้น ต้องเสริมด้วยมิติ ทัศนคติ ของพนักงาน ด้วยการสร้างวัฒนธรรมความคิดที่ว่า วันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวานนี้ และ พรุ่งนี้จะต้องดีกว่าวันนี้ ขึ้นมา

ข้อเรียนรู้

ในช่วงท้าย ผู้เข้าอบรมร่วมหลายท่านได้สะท้อนความคิดว่า การได้สัมผัสกับพื้นที่ทำงานใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ทำให้ได้มีโอกาสเปิดมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่ได้นึกถึงมาก่อน

ส่วนของตัวผมเอง ได้ขอสรุปประเด็นเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ (Hands-on learning) ในครั้งนี้ครับ

1.ความเคยชินกับสิ่งที่เป็นอยู่ อาจกลายเป็นกำแพงอันมองไม่เห็น ที่ขวางกั้นเราในการข้ามผ่าน เพื่อการก้าวไปสู่โอกาสใหม่ๆ หรือ การปรับปรุงพัฒนาสิ่งเดิมให้ดีขึ้น ผู้บริหารต้องสร้างระบบในองค์กร เพื่อให้พนักงานไม่ยึดติดกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเพราะองค์กรที่หยุดนิ่งจะไม่สามารถแข่งขันได้ในอนาคต

2.องค์กรต้องตระหนักว่าคุณค่าขององค์กรในสายตาของผู้บริโภคคืออะไร และ องค์กรมีกระบวนการอะไรบ้างที่สร้างคุณค่าเหล่านั้น

ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญในการ เข้าไปดู ไปสัมผัสพื้นที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ เพื่อตั้งคำถามกับสภาพปัจจุบัน และการปรับปรุงให้ดีขึ้น จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร และยัง เป็นการเสริมสร้างขวัญกำลังใจ และ กระตุ้น จูงใจ ให้กับพนักงานในพื้นที่ด้วย

3.การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ทั้งข้ามหน่วยงาน (Cross-function) หรือข้ามองค์กร (Cross-organization) ดังเช่นกิจกรรมในครั้งนี้ ที่ผู้เข้าอบรมมาจาก ต่างองค์กรอุตสาหกรรม ต่างสายงาน ต่างหน่วยงาน สายตาคู่ใหม่สามารถช่วยให้เปิดมุมมองใหม่ๆได้ครับ

โดย... 

กฤชชัย อนรรฆมณี