“Google” เจ้าสังเวียนดีสรัปชั่น [2]

“Google” เจ้าสังเวียนดีสรัปชั่น [2]

กูเกิลผู้นำเสิร์ชเอ็นจินของโลกที่ครองแชมป์ผู้ใช้งานมากที่สุดถึง 75% มาในวันนี้ผู้ให้บริการเสิร์ชรายใหญ่ได้เปลี่ยนนิยามของธุรกิจ

ไปเป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านโฆษณาออนไลน์ (Online Ads) ที่ทำรายได้กว่า 140,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี กูเกิลมิได้มีแต่เพียงเสิรช์เท่านั้น แต่ยังมีแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง YouTube, Gmail และ Maps ที่มีบทบาทอย่างมากในชีวิติประจำวันของผู้คนและเป็นแหล่งรายได้สำคัญ จนช่วยให้กูเกิลถูกประเมินมูลค่าอยู่ในกลุ่มบริษัท “Trillion Dollar” เมื่อต้นเดือนมกราคม 2020

เมื่อต้องเผชิญกับคู่แข่งอย่างอเมซอน (amazon.com) ซึ่งมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เข้าใจพฤติกรรมการจับจ่ายของลูกค้าตลอดจนสามารถแนะนำสินค้าโดนใจแก่ลูกค้าแต่ละราได้ตรงจุด และได้เปิดบริการโฆษณาออนไลน์ที่สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำช่วยตอบโจทย์การขายให้กับแบรนด์น้อยใหญ่ จนสามารถช่วงชิงรายได้จากตลาดโฆษณาออนไลน์ถึง 3,600 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2019 อีกทั้งอเมซอนยังครองความเป็นผู้นำด้านคลาวด์คอมพิวติ้งและดิจิทัลแอสซิแทนท์ จึงทำให้กูเกิลต้องเร่งค้นคว้าและนำนวัตกรรม AI และ Ambient Computing ผ่านกูเกิลแอสซิสเทนต์ (Google Assistant) เข้าต่อกรกับคู่แข่งขั้นเทพที่ต่างมุ่งดีสรัปธุรกิจทุกแขนงในเวลานี้

 

จัดกระบวนทัพนวัตกรรม

หลังจากจัดองค์กรใหม่จนเปิดตัว “Alphabet” ขึ้นเป็นบริษัทแม่ของค่ายกูเกิลในปี 2015 และแยกกลุ่มธุรกิจออกเป็นบริษัทหลักคือ “Google” และบริษัทเกิดใหม่ในเครือ (Other Bets) ออกจากกัน โดยกูเกิลรวบรวมเอาผลิตภัณฑ์และแพลตฟอร์มชั้นนำไม่ว่าจะเป็น Androids, YouTube, Gmail, Maps, Google Play, Google Cloud, Google Home, Pixel และอุปกรณ์สมาร์ทโฮมชื่อดังอย่าง “Nest” เอาไว้ อีกทั้งผนวกเอาทีมงานวิจัย “Advanced Technology and Projects (ATAP)” ซึ่งทำงานในโครงการ “Jacquard” เพื่อพัฒนาผ้าอัจฉริยะและ “Soli” เทคโนโลยีเรดาร์ที่น่าตื่นเต้นภายใต้แบรนด์กูเกิลอีกด้วย

ขณะที่ Alphabet ก็ได้ลงทุนในงานค้นคว้าวิจัยอย่างจริงจังผ่านองค์กรไซไฟอย่าง "X“ (x.company) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดงานวิจัยระดับแนวหน้าของโลก อาทิ Google Glass, Project Wing และ Project Loon ซึ่งปัจจุบันได้แยกตัวเป็นบริษัท “Loon” รวมถึงโครงการรถยนต์ไร้คนขับซึ่งได้เปิดตัวเป็นบริษัท ”Waymo"

ตลอดจนการเข้าซื้อกิจการของ “DeepMind” ทีมงานที่มีความชำนาญด้าน AI และเป็นผู้พัฒนา Alpha Go ที่โด่งดัง นอกจากนี้ยังมี “Sidewalk Labs” ที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัย และ “Verily” บริษัทที่เน้นงานวิจัยทางการแพทย์

 

ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น

Sundar Pichai ซีอีโอของ Alphabet และกูเกิลต้องการเชื่อมเอาความแข่งแกร่งของ AI เข้าในทุกสายผลิตภัณฑ์และบริการของกูเกิล โดยมี Rick Osterloh เป็นผู้ขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม “Made by Google” ซึ่งประกอบด้วย Pixel Phone, Chromebook, Google Home และ Nest เพื่อเสนอนวัตกรรม “Ambient Technology” ที่เทคโนโลยีรายล้อมรอบผู้คนทุกหนแห่ง ช่วยสร้างความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน

Ambient Technology นำ AI เสริมเข้ากับความสามารถของกูเกิลแอสซิสเทนต์ด้านการสนทนาเพื่อสื่อสารและสั่งงานรอบตัว การที่กูเกิลแอสซิสเทนต์ถูกติดตั้งในอุปกรณ์กว่า 1,000 ล้านชิ้นและมีผู้ใช้งานกว่า 500 ล้านรายต่อเดือนใน 90 ประเทศทั่วโลก เมื่อถูกเสริมด้วยจุดเด่นด้านนวัตกรรมการแปลภาษา (Translate) ได้ถึง 42 ภาษาผ่านอุปกรณ์เช่นสมาร์ทโฟนจนถึงสมาร์ทโฮม จึงทำให้ Ambient Technology ของกูเกิลอาจสามารถดีสรัปขีดจำกัดด้านภาษาผ่านบริการใหม่ อาทิ “Interpreter Mode” การอ่านหน้าเว็บหรือบทความ (Read It) และการบันทึกข้อความด้วยเสียงแบบใหม่ “Audio Recorder” ตลอดจน Google Duplex ที่ให้เสียงสนทนาราวกับเสียงมนุษย์อันลื่อลั่นมาแล้ว อีกทั้งการเปิดใช้ดิจิทัลแอสซิสเทนต์ผ่านอุปกรณ์ประเภทใหม่อย่างหูฟังล้ำสมัย “Pixel Buds” ที่แปลภาษาแบบเรียลไทม์ในระหว่างการสนทนา กำลังสร้างโอกาสให้กูเกิลนำหน้าในตลาดสมาร์ทโฮมที่อาจมีมูลค่าถึง 122,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2022

 

Cloud และ Quantum Computing

ธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้งนับเป็นโครงสร้างสำคัญของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตซี่งกูเกิลเร่งลงทุนและพัฒนาบริการเพื่อให้ทันกับคู่แข่งอย่างอเมซอนและไมโครซอฟต์ โดยกูเกิลได้พัฒนาเซมิคอนดักเตอร์พิเศษที่เรียกว่า “Edge TPU” เพื่อใช้ในการประมวลผล Machine Learning สำหรับอุปกรณ์ IoT อีกทั้งยังได้พัฒนานวัตกรรม Quantum Computing และแพลตฟอร์มที่ล้ำหน้ามากที่สุดในเวลานี้

 

ปูทางสู่ดิสรัปชั่น

เมื่อกูเกิลใส่ AI ในทุกผลิตภัณฑ์และต่อยอดเข้ากับ Google Assistant ย่อมสร้างผลิตภัณฑ์และบริการอันชาญฉลาดเหนือระดับ รวมถึงนวัตกรรมแนวหน้าอย่างรถยนต์ไร้คนขับ ควอนตัมคอมพิวติ้งหรือสิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์ กูเกิลได้เร่งงานวิจัยและเข้าซื้อกิจการสตาร์ทอัพชั้นนำอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้ว่ากูเกิลกำลังสร้างนวัตกรรมที่อาจดิสรัปอุตสาหกรรมในอนาคต องค์กรจึงควรเลือกใช้เทคโนโลยีที่ตรงกับทางเลือกของธุรกิจ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรให้มีความเข้าใจและสามารถปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน