ดูงานท่องเที่ยวกันเยอะแต่เหมือนจะยังคิดกันน้อยไป

ดูงานท่องเที่ยวกันเยอะแต่เหมือนจะยังคิดกันน้อยไป

“คิดน้อย” ที่ว่าไม่ใช่ “คิดเล็กคิดน้อย” ฝรั่งถึงบ่นว่าเรียนภาษาไทยนี่ทำไมยากจัง วันก่อนมีคนส่งไลน์มาให้ผม

เป็นสถิติของประเทศที่เดินทางท่องเที่ยวศึกษาดูงานต่างประเทศมากที่สุดในโลก ประเทศไทย ของเราได้รับเกียรติเป็นแชมเปี้ยนของเรื่องนี้ 

ส่วนตัวผมไม่คัดค้านและส่งเสริมอย่างยิ่ง เนื่องด้วยเคยเขียนถึงความสำเร็จของหลายประเทศในโลกแม้แต่ จีนในปัจจุบันที่ก้าวมาไกลมากก็ด้วยที่เขาไม่สร้างกำแพงล้อมตัวเอง เขาส่งคนรุ่นราวคราวเดียวกับผมไปเรียนหนังสือไปศึกษาหาความรู้กันมาตั้งแต่ประเทศยังเป็นคอมมิวนิสต์แบบถอดตำรามาปกครองซึ่งต่างจากวันนี้มาก แต่นั่นคือผลที่นำมาซึ่งความสำเร็จในการพัฒนาชาติบ้านเมืองของเขา

ไม่ต่างกับอังกฤษที่เป็น “นักเดินทาง” ท่องเที่ยวไปทั่วโลก อันเป็นอุปนิสัยส่วนตัวที่ติดกันมาถึงคนในทุกวันนี้ที่เด็กเรียนจบมหาวิทยาลัยยังต้องมี “Gap year (ช่วงค้นหาตัวเอง)” สำหรับสังคมเราที่อะไรดูจะเร่งร้อนรีบเร่ง แต่เป็นเรื่องปกติของบ้านเมืองสมัยใหม่ที่มีอะไรให้ต้องขับเคลื่อนหมุนตัวเองให้ทันโลก  

การไปเรียนต่างประเทศ การเดินทางท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ จะบอกว่าเสียเงินเสียส่วนต่างขาดดุลการค้าอะไรก็เรื่องหนึ่ง แต่เราได้คนที่ไปร่ำเรียนไปหาความรู้แล้วนำมาใช้งานจริงอย่างได้ผล 

ตัวอย่างหนึ่งคือ ผมซ่อมรถเก่ากับช่างอู่ซ่อมรถที่ไม่จบมหาวิทยาลัย ที่อู่ซ่อมรถแห่งหนึ่ง ย่านเขตดุสิต แกขวนขวายหาความรู้เดินทางไปศึกษาดูงานด้วยทุนส่วนตัวของแกเองถึงเยอรมันนี เอาเทคโนโลยีอะไรซื้อได้ซื้ออะไรแพงไป แกนำมาดัดแปลง วันนี้ใครจะว่า disruption จะทำให้ธุรกิจแกต้องยุติลงกลายเป็นทางตรงข้าม เขายังยืนหยัดเปิดอู่ซ่อมรถยุโรปและมีคนแวะเวียนนำรถมาให้แกดูแล แทนที่จะเข้าศูนย์บริการราคาแพง

นี่เป็นตัวอย่างเดียวที่ผมเห็นว่า เป็นผลพวงมาจาก “ความใส่ใจและเอาจริง” ของคนเราที่ไม่อยากให้ประหยัดมัธยัสถ์กันเกินควร หลายแห่งมีทรัพยากรหรือแหล่งความรู้ให้คนศึกษาค้นคว้ามากมายแต่ไม่กล้าให้บริการเกินเวลาทำงานปกติของคนทั่วไป อ้างเรื่องเปลืองไฟ อ้างเรื่องค่าจ้างค่าล่วงเวลา ซึ่งเป็นเงินเล็กน้อยมาก หากเทียบกับผลสุดท้ายที่หากเรามี “คนใส่ใจ” มาใช้ประโยชน์กับทรัพยากรที่เรามีอยู่ได้อย่างเต็มที่ไม่จำกัดเวลา 

เหมือนมหาวิทยาลัยที่ผมเคยเรียนหนังสือ พวกเราจะมีกุญแจเข้าห้องสมุดคนละ 1 ดอก จะเปิดเข้าไปนั่งทำงานค้นคว้าได้ 24 ชั่วโมง นำน้ำไปดื่มได้ ห้ามนำอาหารเข้าไปรับประทาน สมัยนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีกล้องวงจรปิดไว้ตรวจสอบ แต่ไม่ต้องมีคนมานั่งเฝ้าหรือคอยแนะนำอะไร ยืมคืนหนังสือก็ทำด้วยตัวเอง เคยตรวจสอบความเสียหายเหมือนจะแทบไม่มีหรือมีน้อยมาก เป็นการฝึกหัดคนให้มีความซื่อสัตย์ มีวินัยกับตัวเอง เพราะเวลามีปัญหาเขาจะนำไปพูดในที่ชุมนุมรวมกัน ความละอายที่หากมีคนพูดเรื่องไม่ดีแบบนี้เป็นสิ่งที่บางสังคมเขาถือมาก

พวกเราเองมีเงินทุนสนับสนุนหรืออาจเป็นทุนทรัพย์ส่วนตัวได้เดินทางท่องเที่ยวศึกษาดูงาน อย่าเอาแต่ เช็กอิน (check-in location) หรือเอาแต่โชว์เพื่อนว่า มาแล้วปารีส ลอนดอน ปักกิ่ง แต่ต้องเก็บเกี่ยวเอาความรู้ใส่ตัวนำมาพัฒนาประเทศให้ได้เหมือนคนจีน เหมือนคนอังกฤษที่เล่าสู่กันฟัง

มาถึงวันนี้จะด้วยการไปดูงานมากไปแล้วอาจยังไม่เข้าใจบริบทสังคมไทยเช่นเดียวกับที่ นพ.ธนพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการ ศวปถ ของ สสส. กล่าวถึงแนวคิดของกระทรวงคมนาคมที่จะให้รถวิ่งต่ำกว่า 90 กิโลเมตร ห้ามวิ่งเลนขวา ซึ่งสะท้อนว่าผู้นำเสนอความคิดอาจไม่เข้าใจลักษณะทางกายภาพและสภาพความเป็นจริงของชุมชนเมืองและชนบท อีกทั้งอาจด้วยเพราะเห็นในบางประเทศ อย่างทางด่วนระหว่างเมืองที่เรียกว่า ออโต้บาห์น (Autobahn) ในเยอรมันนี หากไม่มีป้ายแจ้งจำกัดความเร็วจะวิ่งกัน 300 - 400 กิโลเมตรก็ไม่ผิดกฎหมาย 

แต่ปัญหาบ้านเราคือ คนส่วนใหญ่ยังไม่เคารพกฎจราจร และขาดจิตสำนึกในการใช้รถใช้ทางร่วมกับผู้อื่น ปัญหาของการ “ขับแช่ขวา” หรือการใช้เลนขวาเป็นเลนในการสัญจรตลอดการเดินทาง เป็นสิ่งที่พบเห็นชินตา ทั้งที่โดยกฎหมาย เลนขวาสุด คือ เลนให้เร่งแซง เมื่อแซงแล้วก็ให้ขับเข้าเลนปกติทางซ้ายมือ นี่คือสภาพปัญหาที่ทำให้การจราจรติดขัด และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพราะรถที่ขับเร็วอาจไม่ทราบว่ามีรถขับช้าอยู่เลนขวาสุด 

ดังนั้น หากสามารถบังคับใช้กฎหมายด้วยการ จับ ปรับ ด้วยภาพถ่ายหรือเทคโนโลยีอะไรก็ตามที่ดำเนินการกับคนที่ “ขับรถอยู่ในเลนขวาสุดโดยไม่เปลี่ยนเลนเมื่อมีโอกาสแซงรถทางซ้ายมือ” ได้เป็นผลสำเร็จแล้ว ทุกอย่างจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ไม่เกี่ยวอะไรกับการขับช้าขับเร็ว เพราะเลนขวาสุดไม่ได้บอกว่าพวกเราจะใช้ความเร็วได้ไม่มีขีดจำกัด เพราะกฎหมายยังคงจำกัดความเร็วอยู่เป็นปกติในเส้นทางต่างๆ จึงอยากให้เมื่อมีโอกาสไปศึกษาดูงานกันมามากแล้ว อยากให้คิดพิจารณาวิเคราะห์ศึกษากันให้รอบด้านและปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย