สงคราม กับการลงทุน

สงคราม กับการลงทุน

ความตึงเครียดด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปรากฏให้เห็นทั้งสงครามทางเศรษฐกิจ วาทกรรมสงคราม

และสงครามที่มีการประหัตประหารกันจริงๆด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์อันทรงอานุภาพ

Ben Carlson, CFA. Director of Institutional Asset Management at Ritholtz Wealth Management ได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสงครามครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันกับผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ (The Relationship Between Geopolitical Crises and Market Outcomes Isn’t Simple) โดยเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มขึ้นเมื่อพ.ศ. 2457 ตลาดหุ้นดาวโจนส์ปรับตัวลดลงกว่า 30% ในช่วง 6 เดือนแรก ถึงขนาดว่ามีการตัดสินใจปิดตลาดหุ้นเป็นระยะเวลาถึง 6 เดือน และภายหลังจากการเปิดการดำเนินการของตลาดอีกครั้งในปีถัดมา ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 88% ซึ่งนับว่าเป็นอัตราผลตอบแทนต่อปีที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของดัชนีดาวโจนส์ตราบจนถึงปัจจุบัน

และหากพิจารณาถึงผลกระทบต่อตลาดหุ้นตลอดช่วงระยะเวลาประมาณ 4 ปีของสงครามโลกครั้งที่ 1 ตลาดดาวโจนส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 8.7% ต่อปี

อีก 25 ปีถัดมา สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มอุบัติขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2482 (ซึ่ง ณ ขณะนั้นสหรัฐฯยังไม่ได้ร่วมเป็นคู่สงครามด้วย) ดัชนีดาวโจนส์ได้ปรับเพิ่มขึ้นทันทีถึงเกือบ 10% ภายในวันเดียว แต่ในวันที่ฐานทัพเรือสหรัฐฯ ณ อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ถูกโจมตีอย่างไม่คาดฝัน สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงกับกองทัพสหรัฐฯในช่วงต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 ตลาดเปิดขึ้นโดยปรับตัวลดลง 2.9% ภายในวันเดียว ก่อนจะกลับขึ้นมาที่ระดับเดิมภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือนหลังจากนั้น

และแม้กระทั่งในวัน D-Day ซึ่งทหารฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกได้ที่ชายฝั่งนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นปฏิบัติการรบครั้งยิ่งใหญ่ ที่ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มกลับเข้ายึดครองยุโรปตะวันตกจากนาซีเยอรมันได้ ดัชนีดาวโจนส์ก็มิได้สะท้อนถึงความสำเร็จในครั้งนั้นทันที แต่ปรับตัวขึ้นกว่า 5% ในเดือนถัดมา ซึ่งตลอดช่วงระยะเวลา 6 ปีของสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 50%

โดยตลอดระยะเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้นรวมกันสูงถึง 115%!!!

สงครามเกาหลีเริ่มต้นขึ้นในพ.ศ. 2493 และจบลงในพ.ศ. 2496 ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 16% ต่อปี ขณะที่ในสงครามเวียดนาม (พ.ศ. 2508 - 2516) ซึ่งเป็นสงครามไกลบ้านที่สร้างความบอบช้ำและแตกแยกให้กับอเมริกันชนเป็นอย่างมาก ดัชนีดาวโจนส์ก็ยังปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกือบ 5% ต่อปี

วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา เป็นการประจันหน้ากันของมหาอำนาจทางทหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุค อย่างสหรัฐฯและสหภาพโซเวียต ซึ่งทำให้โลกเกือบเข้าสู่สงครามนิวเคลียร์ ตลอดระยะเวลา 13 วันของการเผชิญหน้านั้น ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลดลงเพียง 1.2% เท่านั้น โดยที่ตลอดทั้งปีดัชนีปรับตัวขึ้นมากกว่า 10%

หันกลับมาดูเหตุการณ์การก่อการร้ายครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ซึ่งยังเป็นที่จดจำได้เป็นอย่างดีของคนยุคนี้ คือ การก่อวินาศกรรมเครื่องบินพุ่งชนอาคารเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯหยุดทำการซื้อขายชั่วคราวนานถึง 5 วันทำการ และเมื่อเปิดทำการซื้อขายแล้ว ตลอดการซื้อขาย 5 วันแรก ดัชนีดาวโจนส์ปรับลดลงถึง 17.5% แต่ก็ปรับตัวกลับมาสูงกว่าช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ได้ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน และปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีถัดมา

นี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไม วอร์เร็น บัฟเฟ็ตต์ นักลงทุนวัย 89 ปี ถึงได้เคยให้ข้อคิดเกี่ยวกับการลงทุนในภาวะสงครามไว้ว่า “สิ่งหนึ่งที่คุณจะแน่ใจได้ เมื่อเข้าสู่มหาสงคราม คือมูลค่าของเงินจะด้อยค่าลง และนั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในแทบจะทุกสงครามที่ผมเคยรับรู้มา….ดังนั้น สิ่งสุดท้ายที่คุณจะต้องการ คือ การถือเงินสดในช่วงสงคราม คุณอาจต้องการเป็นเจ้าของไร่ อพาร์ตเมนต์ หรือหลักทรัพย์...ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น และตลาดหุ้นก็จะค่อยๆปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะต่อๆไป”