'พิษ 8 ส.ส.งูเห่า' สภาวะลำบากฝ่ายค้าน

'พิษ 8 ส.ส.งูเห่า' สภาวะลำบากฝ่ายค้าน

ควันหลงหลังจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติท่วมท้น 253 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 196 เสียง

เพื่อ “ไฟเขียว” ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 ในวาระ 3 ตามมาด้วยปรากฏการณ์ “งูเห่ารีเทิร์น” 8 เสียง ที่ไปเทคะแนนไปให้ฝ่ายรัฐบาลจนทำให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านฉลุย

ไล่มาที่ในส่วนของพรรคเพื่อไทยทั้ง พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี ที่ลงมติสนับสนุน รวมถึง พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม.ที่ลงมติไม่ลงคะแนนเสียง

 เศรษฐกิจใหม่ 5 เสียง ได้แก่ นิยม วิวรรธนดิฐกุลภาสกร เงินเจริญกุล,มนูญ สิวาภิรมย์รัตน์,มารศรี ขจรเรืองโรจน์ และสุภดิช อากาศฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมทั้ง อนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี 1 เสียง จากพรรคประชาชาติ 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ย่อมสะท้อนนัยทางการเมืองหลังจากนี้ และเป็นการตอกย้ำว่าปรากฏการณ์งูเห่าที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน

ขณะที่มาตรการในการ “กำราบงูเห่า” โดยเฉพาะในส่วนของพรรคเพื่อไทย ขณะนี้ดูเหมือนว่าจาก “พิษงูเห่า” ที่เกิดขึ้นจะทำให้พรรคตกอยู่ในอาการ “คิดหนัก” 

เพราะมาตรการในการลงโทษ 3 ส.ส.ที่โหวตสวนมติพรรค(ขจิตร ชัยนิยม ส.ส.อุดรธานี โหวตแสดงตนในที่ประชุมเพื่อตั้งกมธ.ศึกษามาตรา 44 สวนมติพรรคก่อนหน้านี้) ทั้งการ “ขับออกจากพรรค” หรือ “ไม่ส่งลงเลือกตั้งสมัยหน้า” ล้วนมีผลต่อพรรคทั้งสิ้น

หากเป็นไปในแนวทางแรกคือ “ขับออก” อาจส่งผลดีในแง่ของการ “เชือดไก่ให้ลิง” ดูเพื่อไม่ให้ส.ส.คนอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง แต่ก็มีผลเสียตามมาเช่นกัน 

เพราะจะกลายเป็นไปเข้าทางรัฐบาลที่อาจอาศัยจังหวะนี้ดูดส.ส.เพื่อเติมเสียงฝั่งตนเอง ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีของ “4ส.ส.งูเห่า” จากพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งจะยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ฝ่ายค้านเสียเปรียบไปอีกต่อหนึ่ง 

ขณะที่มาตรการ “แบนลงสมัคร” ในการเลือกตั้งสมัยหน้า ดูเหมือนว่าจะยิ่งส่งผลเสียมากกว่ามาตรการแรกเพราะนอกจากจะเก็บส.ส.กลุ่มนี้ไว้เป็น “หอกข้างแคร่” ต่อไปแล้ว 

ขณะนี้ยังมีประเด็นที่ต้องถกเถียงกันว่า ทั้ง3เขตซึ่งถือเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย แท้จริงแล้วเกิดจาก“คะแนนนิยมส่วนตัว”ของส.ส. หรือ “คะแนนนิยมพรรค” เพราะหากเป็นคะแนนนิยมพรรคการแบนก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่หากเป็นคะแนนนิยมส่วนตัว เท่ากลับว่าหากพรรคตัดสินใจไม่ส่งลงสมัครก็จะกลายเป็นการผลักไปลงสมัครในนามพรรคอื่นแทน และจะกลายเป็นว่า เพื่อไทยจะต้องเสียที่นั่งเพิ่มขึ้นอีกด้วย

เมื่อสถานการณ์ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก คงต้องจับตาท่าทีจากพรรคเพื่อไทยและฝ่ายค้านว่าจะแก้เกมเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบให้กลับคืนมาได้อย่างไร?