การเงินดิจิทัลเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Digital Finance)

การเงินดิจิทัลเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Digital Finance)

สวัสดีปีใหม่ครับ  ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ผลักดันโลกการเงินให้มุ่งหน้าสู่ถนนดิจิทัลอย่างไม่มีวันถอยหลังกลับ

  ขณะที่กระแสแห่งการเงินที่ยั่งยืนได้ค่อยๆ ก่อตัวอย่างแข็งแกร่งและมีพลวัตมากขึ้น ดูเหมือนว่าปรากฏการณ์ทั้งสองกระแสนี้เกิดขึ้นแยกกันเป็นคนละเส้นทาง และอาจมีคำถามว่าเราสามารถที่จะ Green ไปพร้อมๆ กับความเป็น Digital ได้หรือไม่ ในความเป็นจริงศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลและแนวคิดการเงินที่ยั่งยืนสามารถส่งเสริมกันได้อย่างกลมกลืนในเส้นทางเดียวกัน

ในแวดวงการเงินการธนาคาร ความรุดหน้าทางด้านเทคโนโลยียังช่วยเพิ่มศักยภาพในการสร้างแหล่งเงินทุนที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน (Financial Inclusion) โดยสถาบันการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) ในการประเมินความสามารถการชำระคืนของลูกหนี้รายเล็กๆ ที่มักขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อาทิ วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (Micro, Small and Medium-sized Enterprise: MSME) ซึ่งช่วยสร้างงานและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงมาก นี่เป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างดีว่าเทคโนโลยีสามารถรังสรรค์ให้เกิดการธนาคารที่ยั่งยืนได้

 ในระดับนานาชาติเราได้เห็นตัวอย่างประเทศที่เริ่มต้นใช้เทคโนโลยีเพื่อการเงินที่ยั่งยืนแล้ว จากรายงานกรณีศึกษาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่นำเสนอโดย UN Environment เมื่อเร็วๆ นี้ เราจะพบว่าสวิตเซอร์แลนด์ถือเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจหลายด้าน รวมถึงการเงินสีเขียวและเทคโนโลยีการเงินดิจิทัล โดยเมืองซูริคและเมืองเจนีวาได้รับการจัดอันดับในลำดับที่ 8 และ 26 ภายใต้ Global Green Finance Index ประจำปี 2561 ตามลำดับ ในด้านฟินเทคสวิตเซอร์แลนด์อยู่ในอันดับที่ 1 ของ Global Innovation Index ประจำปี 2560 และอันดับที่ 7 ของ Global Fintech Hub Review ประจำปี 2559  ทั้งนี้ UN Environment ได้แบ่งผลการศึกษาโดยสรุปในกรณีของสวิตเซอร์แลนด์ออกเป็น 3 ด้านดังนี้

ด้านเทคโนโลยี

การเงินดิจิทัลสีเขียวในสวิตเซอร์แลนด์ส่วนใหญ่ใช้โทคโนโลยี Big Data รวมทั้ง Machine Learning & Artificial Intelligence (MLAI) มาช่วยประกอบการตัดสินใจในการลงทุน  โดยมีแพลตฟอร์มการจับคู่ธุรกิจให้เห็นมากขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการพลังงานทางเลือก ทั้งนี้สวิตเซอร์แลนด์เป็นหนึ่งในผู้นำด้าน Cryptocurrency และมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการเงิน Crypto สีเขียว โดยปัจจุบันเมือง Zug (Crypto Valley) และเมือง Chiasso (Cryptopolis) ถือเป็นศูนย์กลางของ Distributed Ledger Technology (DLT) และมีบริการการเงินผ่านมือถือและออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะบริการด้านการธนาคารจากบริษัทฟินเทคสามารถเชื่อมต่อบริการด้านการชำระเงิน การปล่อยกู้ หรือการรับเงินฝากเพื่อสนับสนุนการช้อปปิ้งออนไลน์ที่ยั่งยืนมากขึ้น การวางแผนการเงิน และการระดมเงินผ่าน Crowd Financing เพื่อส่งเสริมโครงการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ด้านการเงิน

  บริษัทฟินเทคและสตาร์ทอัพมีโอกาสที่จะใช้นวัตกรรมการเงินดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์และบริการ   สีเขียวเข้ากับสถาบันการเงิน และขยับขยายขอบเขตของบริษัทประกันไปใช้ Internet of Things (IoT) และ DLT เพื่อตอบโจทย์ด้านความปลอดภัย สุขภาพ ความเสี่ยงและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลอาจเพิ่มการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่สร้างผลกระทบเชิงบวก (Impact Investment) หรือเชื่อมโยงกับกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่มีนโยบายด้าน ESG  โดยอุตสาหกรรมธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์กำลังขยายตัวไปต่างประเทศและมีโอกาสที่จะขยายผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงินสีเขียวโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวผลักดัน แม้ว่าจะยังมีปริมาณไม่มากก็ตาม

ด้านสิ่งแวดล้อม

 เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยสนับสนุนการนำมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) มาปรับใช้ และช่วยขยายขอบเขตของการพิจารณาด้าน ESG ที่รวมถึงผลกระทบทั้งทางบวกและลบ โดยเทคโนโลยี MLAI ยังช่วยพัฒนาวิธีการประเมิน การอ้างอิงและการสร้างดัชนีของระดับ ESG นอกจากนี้ยังสามารถใช้ Blockchain และ IoT ในการค้นหาและติดตามสารพิษหรือสารอันตราย  เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่นน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ สารเคมี และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยเชื่อมโยงข้อมูลที่ได้รับการจัดโครงสร้างและข้อมูลที่มีแบบกระจัดกระจาย เพื่อนำมาพัฒนาบริการใหม่ๆ เทคโนโลยีดิจิทัลยังช่วยบริษัทประกันให้หาแนวทางในการติดตามภัยธรรมชาติและบริหารความเสี่ยงโดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่มาประเมินผลกระทบจากทั้งจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ความหลากหลายทางชีวภาพ ความขาดแคลนทรัพยากร และสารพิษตกค้าง

อย่างไรก็ตาม นอกจากโอกาสข้างต้น ยังมีความท้าทายที่เห็นได้ชัดจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ ผลข้างเคียงที่เกิดจากการผลิต การใช้และการทิ้ง Hardware และ Software นอกจากนี้ รัฐบาลและผู้กำกับดูแลต่างต้องพยายามหาความสมดุลในการสร้างกฎระเบียบ ความมั่นคงและความปลอดภัย โดยที่ไม่ลดทอนกิจกรรมด้านนวัตกรรมของตลาด

 นวัตกรรมดิจิทัลไม่เพียงแต่จะไปด้วยกันได้ดีกับการเงินที่ยั่งยืน แต่ยังเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมศักยภาพของสถาบันการเงินให้สามารถเดินตามแนวทางปณิธานสีเขียวที่ยั่งยืนและครอบคลุมทุกภาคส่วนได้อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน เราจะเห็นภาพการติดปีกการเงินสีเขียวด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลสู่การเงินที่ยั่งยืนได้ชัดเจนขึ้นในเวลาไม่นานแน่นอนครับ