จับตางาน 'ฝ่ายค้าน'

จับตางาน 'ฝ่ายค้าน'

หลังสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาทแล้ว

ขั้นตอนต่อไปจะต้องส่งให้ “วุฒิสภา” พิจารณาให้เสร็จภายใน 20 วันนับจากวันรับร่างฯ จากสภาฯ ซึ่ง “ประธานวุฒิสภา-พรเพชร วิชิตชลชัย” กำหนดวันอภิปรายของส.ว.ไว้ เป็นวันที่ 20 ม.ค.นี้จากนั้นจะลงมติรับรองต่อไป

  กับ 20 วันที่ ส.ว. ได้รับ แม้บทบาทจะเป็นเพียง “ตรายาง” แต่การให้ความเห็น ในทำนองที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดของการใช้จ่ายงบประมาณ วุฒิสมาชิก สามารถทำได้หรือไม่? กับสิ่งนี้ วุฒิสภา ซึ่งตั้งกรรมการเกาะติดไว้ ได้กำหนดให้ศึกษาตามประกบ ดังนั้นในแนวทางให้ความเห็นหลัก จะขึ้นอยู่กับกรรมการชุดนั้น

 และเมื่อ “ส.ว.” ประทับตรารับรองแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งฝั่งรัฐบาล เชื่อแน่ว่า จะอยู่ที่ราวเดือนมี.ค.ที่งบประมาณจะเบิกจ่ายสู่พื้นที่

ถึงตรงนี้ อาจดูเหมือนผ่านไปได้โดยละม่อม แต่เมื่อย้อนความ ประเด็นของฝ่ายค้านที่เตรียมการไว้ คือ การยื่นเอาผิดส.ส.ที่ลงมติสนับสนุน ร่างก.ม.งบฯ 63 ซึ่งตั้งประเด็นไว้ว่า ทำผิด ตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งการเสนอร่างพ.ร.บ.ฯ ที่ไม่ชอบ เพราะผู้นำรัฐบาลไร้ความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินจากประเด็นถวายสัตย์ต่อด้วยการทำเนื้อหาที่จัดสรรให้กองทุนที่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งขัดต่อก.ม.วิธีการงบประมาณ อีกทั้งยังจัดสรรให้หน่วยงานท้องถิ่นทางอ้อม โดยไม่ผ่านหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยเป็นต้น

ดังนั้นต้องตามดูฉากต่อไปว่า ฝ่ายค้านจะเอาจริง เพื่อดำเนินการใดๆ กับส.ส.ฝั่งที่หนุนร่างพ.ร.บ.งบฯ หรือเป็นเพียงแค่คำขู่เท่านั้น

ขณะที่ประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลรอกันอีกสัปดาห์เดียว “พรรคเพื่อไทย” จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ล่าสุดมีคำแถลงจากโฆษกพรรคเพื่อไทย ที่ระบุถึงกรอบอภิปราย คือ อภิปรายประเด็นความผิดสำเร็จแล้ว และส่งผลต่อเนื่องถึงปัจจุบัน, กลุ่มเครือข่าย 3 ป., อภิปรายรัฐมนตรีที่เข้ามาใหม่ แต่พบพฤติกรรมทำชาติ-ประชาชน เสียประโยชน์ และ การบริหาร และกำกับนโยบายที่ผิดพลาด แต่ล่าจะสุดยังไม่มีรายชื่อ “รัฐมนตรี” ที่เตรียมถูกขึง ออกมาอย่างเป็นทางการ

แต่เมื่อดูจากกรอบการอภิปรายแล้ว เชื่อแน่ว่า จะย้อนรอยไปถึงการบริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่ยุค “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” บริหารประเทศ

 ขณะที่การเตรียมพร้อมของ “รัฐบาล” ที่แกนนำ อย่าง “พรรคพลังประชารัฐ” เตรียมตั้งรับอยู่ในที่ แต่อาจเป็นเฉพาะการทำงานช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา หลังเลือกตั้ง เพราะหากเกินกรอบ อาจกำหนดบทให้พูดเพียงแค่ว่า “ไม่อยู่ในประเด็นที่ต้องชี้แจง”