อิหร่านจบแล้ว สหรัฐ-จีน เดินหน้ายุติสงครามการค้า

 อิหร่านจบแล้ว สหรัฐ-จีน เดินหน้ายุติสงครามการค้า

สวัสดีผู้อ่านทุกคนนะครับ ผมขออนุญาตเปลี่ยนชื่อคอลัมน์เพื่อความสดใหม่ และทำให้สามารถเขียนมุมมองการลงทุนได้ในมุมมองที่ต่างไปจากเดิมด้วย

โดยในปีนี้ ผมใช้ชื่อคอลัมน์คือ “รู้ให้ลึก” ซึ่งเนื้อหาของบทความ จะพยายามลงไปเจาะลึกถึงประเด็นเหตุการณ์ รวมถึงข่าวในช่วงนั้นๆ ที่เชื่อว่ามีผลต่อการตัดสินใจวางกลยุทธ์จัดพอร์ตการลงทุน ซึ่งสำหรับตอนแรกนี้ ก็ขอเริ่มด้วยเหตุการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับสหรัฐ รวมถึงปัจจัยที่อยู่ตรงหน้าหลังจากนั้นว่ามีอะไรต่อจากนั้นนะครับ

ย้อนกลับไปหลังจากที่อิหร่านตอบโต้สหรัฐด้วยการโจมตีฐานทัพสหรัฐด้วยขีปนาวุธพิสัยไกล แหล่งข่าวจากทั้งสองประเทศก็มีรายงานความเสียหายที่แตกต่างกัน คือ ฝั่งสหรัฐก็บอกว่า ไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ฝั่งอิหร่าน ก็รายงานข่าวว่า มี “ผู้ก่อการร้ายชาวสหรัฐ” เสียชีวิตรวม 80 ชีวิต ความจริงเป็นอย่างไรนั้น จากที่ทีมการลงทุนของ FINNOMENA ทำการเจาะลึก พบประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เป้าของการโจมตีฐานทัพสหรัฐ หากดูจากดามเทียม พบว่า เป้าหมายเป็นโรงงานเป็นอากาศยาน ซึ่งมีโอกาสน้อยมากๆ ที่จะมีทหารอเมริกันอยู่ในนั้นในยามวิกาล จึงสามารถตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า มาตรการตอบโต้ของอิหร่าน จริงๆแล้ว ก็มิได้หวังให้เกิดความเสียหายถึงชีวิตของทหารชาวอเมริกัน แต่ครั้นจะไม่มีมาตรการใดๆตอบโต้เลย ก็ไม่เป็นอันสมควร

กลับไปย้อนลองมองดู คำถามที่น่าสนใจคือ อิหร่านมีทางเลือกอื่นในการตอบโต้สหรัฐหรือไม่? การคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองในตะวันออกกลาง ให้ความเห็นว่า สิ่งหนึ่งที่อิหร่านสามารถทำได้ และมีผลกระทบต่อโลกและพันธมิตราของสหรัฐอย่างประเทศซาอุดีอาระเบียแน่ๆ ก็คือ การเข้าปิดช่องแคบฮอร์มุซ ช่องแคบที่กั้นระหว่างอิหร่านกับโอมาน เชื่อมอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมานและทะเลอาหรับ จุดที่แคบที่สุดกว้าง 33 กิโลเมตร แต่เส้นทางเดินเรือเข้าออกกว้างเพียงด้านละ 3.2 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศแถบตะวันออกกลาง

ที่ช่องแคบนี้สำคัญก็เพราะ แต่ละวันกำลังการผลิตน้ำมันดิบจำนวนเฉลี่ยราวๆ 18 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็น 20% ของการขนส่งน้ำมันทั้งหมดบนโลกจะต้องถูกขนส่งผ่านทางช่องแคบ ดังนั้นถ้าอิหร่านเลือกตอบโต้ด้วยการปิดช่องแคบนี้ เดือดร้อนกันทั้งโลกแน่นอน และเพราะนักลงทุนส่วนหนึ่งกลัวว่านี่จะเป็นท่าไม้ตายสุดท้ายของอิหร่าน ผลก็คือ ราคาน้ำมันดิบ Brent ก็ดีดขึ้นมากกว่า 10% ในช่วงที่สถานการณ์ตึงเครียดเพิ่มขึ้นมา

แล้วอิหร่านจะใช้ไม้ตายนี้หรือไม่ คำตอบที่ทางทีมการลงทุนของ FINNOMENA เชื่อก็คือ อิหร่านจะไม่ทำเช่นนั้น สาเหตุเพราะ 18 ล้านบาร์เรลที่ส่งออกผ่านช่องแคบฮอร์มุซ เกือบๆ 3 ล้านบาร์เรล ส่งไปให้แก่ประเทศจีน เรียกว่า จีน เป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบจากช่องแคบนี้รายใหญ่ที่สุดนั้นเอง และอย่างที่เรารู้กันว่า อิหร่านนั้นยังมีสายสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีกับจีน รวมถึงมีการค้าขาย และซื้ออาวุธจากประเทศจีน ซึ่ง ณ ตอนนี้ สิ่งที่จีนต้องการที่สุด น่าจะไม่ใช่การเดินเข้าไปยืนข้างอิหร่านแล้วอยู่ฝั่งตรงข้ามกับสหรัฐเต็มตัว ขณะที่ในประเทศตัวเอง ต้องเจอกับราคาน้ำมันนำเข้าที่พุ่งสูงขึ้นจากการที่อิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ

นั้นก็เป็นเพราะ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า จะเกิดการเซ็นสัญญาการค้าเฟส 1 ระหว่างสหรัฐ-จีน เกิดขึ้นแล้ว อันจะทำให้ยุติสงครามการค้าที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ต้นปี 2018 ยุติลงได้ การไปทำลายบรรยากาศการเจรจาตอนนี้ เป็นเรื่องที่ทางการจีนน่าจะอยากหลีกเลี่ยงให้ได้ ยิ่งทีมเจรจาทั้งสองประเทศตกลงกันแล้วว่าจะเริ่มเจรจาข้อตกลงเฟส 2 เลยในต้นเดือนก.พ. ก็ยิ่งเชื่อได้ว่า พัฒนาการเชิงบวกแบบนี้ ไม่มีฝ่ายไหนอยากจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นอีกครั้ง

มาถึงจุดนี้ ก็เลยเป็นข้อสรุปครับ ผมเชื่อว่า สงครามรุกรานบานปลายจะไม่เกิดขึ้นหลังจากนี้ ยิ่งมีเรื่องที่กองทัพอิหร่านประกาศยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของฝ่ายตนเองที่ไปยิงเครื่องบินเที่ยวบินพีเอส 752 ของ สายการบินยูเครน อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลนส์ ซึ่งประสบเหตุตกคร่าผู้โดยสารและลูกเรือยกลำ 176 ราย เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา จนเกิดการประท้วงของประชาชนอิหร่านในประเทศ กลายเป็นว่า เป้าโจมตีของชาวอิหร่าน จากเดิมเป็นสหรัฐ กลับกลายเป็นผู้นำของตนภายในไม่กี่วัน ยิ่งเป็นเช่นนี้ สิ่งที่อิหร่านต้องทำ ไม่ใช่พยายามตอบโต้กลับสหรัฐ แต่เป็นการทำให้ประชาชนชาวอิหร่านกลับมาเชื่อมั่นในรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งมากกว่า

ในฐานะนักลงทุน เราก็ไปดูเงื่อนไขของข้อตกลงการค้าเฟส 1 กันว่า รายละเอียดออกมา จะทำให้ตลาดประทับใจและเดินหน้าขึ้นต่อได้หรือไม่ แต่ถึงตลาดจะไม่ประทับใจ อย่าลืมว่า เจรจาเฟสสองก็รออยู่เดือนหน้าอยู่ดีนะครับ