การปฏิรูปด้านต่างๆ ตามรธน.ไม่ได้ครอบคลุมภาคเอกชนเท่าที่ควร

การปฏิรูปด้านต่างๆ ตามรธน.ไม่ได้ครอบคลุมภาคเอกชนเท่าที่ควร

ในการเข้าร่วมสัมมนาเรื่องประเด็นปฏิรูปเพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่จัดโดยฝ่ายวิชาการวุฒิสภา เมื่อปลายปีที่แล้ว

มีข้อสังเกตุว่า ผู้เข้าร่วมประชุมเกือบทั้งหมด ผู้อภิปรายทั้งบนเวทีและจากฟลอร์ที่ตั้งคำถามในประเด็นต่างๆ ก็เป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้งหมด ทั้งๆ ที่การปฏิรูปนี้เพื่อประโยชน์กับประชาชนทุกภาคส่วนของประเทศยิ่งไปกว่านั้น ผู้ทำหน้าที่บนเวทีก็ประกาศอนุญาตให้แต่เฉพาะกรรมาธิการและวุฒิสมาชิกถามเท่านั้น และแม้ในอนุ กมธ.ปฏิรูป ด้านสาธารณสุข ก็พบว่าอนุกรรมาธิการเกือบทั้งหมดเป็นข้าราชการหรืออดีตข้าราชการในระบบสาธารณสุขภาครัฐ ทั้งๆ ที่ระบบสุขภาพของบ้านเรานั้นมีผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเกือบจะเรียกว่าครึ่งต่อครึ่ง

งบประมาณสำหรับการดูแลระบบสุขภาพประชาชนภาครัฐนั้นมาจาก 3 ส่วนสำคัญ คือ เงินกองทุนสวัสดิการข้าราชการ เงินกองทุนประกันสังคม และเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบสวัสดิการข้าราชการใช้เงินงบประมาณปีละประมาณ 70,000 ล้านบาท ประกันสังคมนั้น รัฐสนับสนุนส่วนหนึ่งนอกเหนือจากผู้ประกันตนและนายจ้างปีละประมาณ 15,000 ล้านบาท และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ไม่รวมเงินเดือนค่าจ้างข้าราชการ กระทรวงสาธารณสุข) ใช้งบประมาณจากรัฐบาลประมาณ 130,000 ล้านบาทคร่าวๆ งบประมาณจากภาครัฐที่สนับสนุนระบบสุขภาพทั้งประเทศประมาณ 215,000 ล้านบาท ในขณะที่ระบบสุขภาพภาคเอกชนนั้นมีประชาชนใช้บริการผ่านการซื้อประกันสุขภาพทั้งเบี้ยประกันสุขภาพและประกันชีวิตปีละกว่า 200,000 ล้านบาท นอกเหนือจากการให้บริการสุขภาพชาวต่างชาติที่มาใช้บริการในประเทศไทยประมาณปีละ 100,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 300,000 ล้านบาท โดยประมาณ

เมื่อมาพิจารณาเรื่องจำนวนประชาชนที่ใช้บริการ พบว่ามีประชาชนใช้บริการสวัสดิการข้าราชการประมาณปีละ 7 ล้านคน ใช้บริการประกันสังคมประมาณปีละ 13 ล้านคน และใช้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหมุนเวียนอยู่ประมาณปีละ 20 ล้านคน รวมทั้งสิ้นประมาณ 40 ล้านคนโดยประมาณส่วนที่เหลือประมาณ 28 ล้านคนนั้น ใช้บริการระบบสุขภาพภาคเอกชน

ดูจากตัวเลขค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและจำนวนประชาชนที่ใช้บริการในแต่ละปีแล้ว จะเห็นได้ว่าแม้จำนวนประชาชนที่ใช้บริการภาคเอกชนจะน้อยกว่าภาครัฐประมาณ 2.8:4.0 แต่ค่าใช้จ่ายโดยรวมนั้นสูงกว่าภาครัฐที่ใช้งบประมาณแผ่นดินในอัตราส่วน 3:2 เลยทีเดียวแน่นอนว่า เพราะภาคเอกชนนั้น ผู้ใช้บริการจ่ายแพงกว่าภาครัฐที่รับบริการจากโรงพยาบาลรัฐที่เกือบไม่ได้จ่ายอะไรเลย

แต่เมื่อหันมามองประเด็นปฏิรูประบบสาธารณสุข ซึ่งควรจะเป็นการปฏิรูปทั้งประเทศ เพราะมีผลต่อประชาชนทั้ง 68 ล้านคน กลับพบว่าองค์ประกอบของคณะกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการมาจากเจ้าหน้าที่รัฐทั้งในปัจจุบันที่กำลังทำงานอยู่และผู้ที่เกษียณราชการเกือบทั้งหมดยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นย่อยๆ ก็เป็นประเด็นของระบบสาธารณสุขภาครัฐทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่อุตสาหกรรมสุขภาพเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้เอกชนเข้ามามีบทบาทที่เห็นได้ชัดคือ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือEEC ที่กำลังเกิดขึ้นเมื่อเป็นเช่นนี้ มุมมองในการปฏิรูปจึงมองในแง่ระบบสุขภาพภาครัฐเป็นสำคัญ และเกือบไม่ได้มองภาคเอกชนเลยทั้งๆที่อยู่ในระบบสุขภาพของประเทศเหมือนกัน

ระบบสุขภาพภาครัฐและเอกชนนั้นควรทำงานด้วยกัน และสอดประสานกัน เพราะประชาชนสามารถข้ามการใช้บริการได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ประชาชนที่มีความสามารถในค่าใช้จ่ายก็อยากใช้บริการจากภาคเอกชนที่ดีกว่า รวดเร็วกว่า คุ้มค่ากับเวลาในการตรวจรักษามากกว่า และพร้อมที่จะจ่ายทั้งจากการทำประกันและเงินส่วนตัวที่เกินสัดส่วนที่จะเบิกจากรัฐได้ยิ่งกว่านั้น สถานพยาบาลเอกชนก็สามารถช่วยลดสภาพความแออัดยัดเยียดจากการใช้บริการของสถานพยาบาลรัฐได้อีกเป็นจำนวนมากลองคิดดูว่า ถ้าไม่มีโรงพยาบาลเอกชนเลย ทุกคนต้องเข้าโรงพยาบาลรัฐทั้งหมด 68 ล้านคน จะทำอย่างไร

แนวคิดในการปฏิรูปในระบบสาธารณสุขของเรายังวนเวียนอยู่แค่เรื่องหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นหลัก ทั้งในแง่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ทั้งๆที่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพของประเทศซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ การปฏิรูปที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ก็คงเป็นเพียงการปฏิรูปเฉพาะระบบสุขภาพภาครัฐเท่านั้นและคำว่า สองนคราสาธารณสุขไทย ก็คงถูกตอกย้ำ เพราะต่างคนต่างเดิน