Digital Taylorism - โปรดระวัง

Digital Taylorism - โปรดระวัง

Digital Taylorism เป็นคำที่จะเริ่มได้ยินกันมากขึ้นในช่วงหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการบริหารองค์กรฟังดูเผินๆ เหมือนจะเป็นคำชื่นชม

แต่ในอีกนัยหนึ่งนั้น กลับเป็นคำที่แสดงให้เห็นถึงประเด็นข้อควรระวังของการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้กับการบริหารองค์กร

Taylorism นั้นหมายถึงรูปแบบและวิธีการบริหารแบบหนึ่งที่เฟื่องฟูในยุคการเติบโตของอุตสาหกรรมนั้นคือ การบริหารเชิงวิทยาศาสตร์(Scientific Management) ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาโดย Frederick Taylor ซึ่งก็เลยทำให้แนวคิดดังกล่าวเป็นที่รู้จักและเรียกกันภายใต้ชื่อ Taylorism

แนวคิดหลักๆ ของ Taylorism นั้น คือการที่นำหลักการและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการทำงาน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงงาน) เพื่อหาแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานไม่ว่าจะเป็นการศึกษาการเคลื่อนไหวของพนักงานการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลในการทำงานของพนักงานอย่างละเอียดการแสวงหาวิธีการในการทำงานที่ดีที่สุดเป็นต้น

แนวคิดของFrederick Taylor นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของพนักงานแต่ขณะเดียวกันองค์กรที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ก็นำไปสู่การลดจำนวนพนักงานในองค์กรลงอีกทั้งผู้บริหารก็จะปฏิบัติต่อพนักงานเสมือนเป็นเครื่องจักรทำให้หลังยุคของFrederick Taylor นั้นแนวคิดทางการจัดการที่เฟื่องฟูจะมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับเรื่องของคนมากขึ้น

ทีนี้พอมาถึงยุคปัจจุบันที่ดิจิทัลเทคโนโลยีพัฒนาก้าวหน้าไปมากขึ้นองค์กรธุรกิจต่างๆ ก็นำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในการหาหนทางเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพในการทำงานของพนักงานตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลของพนักงานออกแบบการทำงานวัดประเมินการทำงานของพนักงาน รวมทั้งหาหนทางในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน โดยใช้ข้อมูลเรียกได้ว่าเป็นการเน้นการหาหนทางในการเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงาน เหมือนกับยุคของFrederick Taylor แต่นำเอาดิจิทัลเทคโนโลยีและข้อมูลที่มีอย่างมากมายมหาศาล มาช่วยแทนวิธีการเก็บข้อมูลวิเคราะห์ในรูปแบบเดิมๆ นึกภาพการมีกล้องวงจรปิด หรือระบบเซนเซอร์ที่จับภาพการเคลื่อนไหวและทำงานของพนักงานตลอดเวลา รวมทั้งการตรวจติดตามการใช้คอมพิวเตอร์ของพนักงานเพื่อให้มั่นใจว่าการทำงานของพนักงานเป็นไปเพื่อประโยชน์ขององค์กรและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

บริษัทที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการนำเอาแนวคิดของ Digital Taylorism มาใช้มากที่สุด หนีไม่พ้น Amazon ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกออนไลน์ของโลกโดยทางAmazon ได้มีการนำข้อมูลที่เก็บผ่านระบบดิจิทัลมาใช้ในการผลักดันการทำงานของพนักงานในคลังสินค้าของAmazon มีการเก็บข้อมูลการทำงานและการเคลื่อนไหวของสินค้าต่างๆ อย่างละเอียดขณะที่ในสำนักงานนั้นก็มีการใช้เครื่องมือทางจิตวิทยาเพื่อใช้ในการวัดประเมินและจูงใจพนักงาน เช่น Amazon จะสนับสนุนให้พนักงานส่งผล Feedback ที่มีต่อพนักงานคนอื่นไปที่เจ้านายของคนที่จะถูกFeedback โดยตรงผ่านทางซอฟแวร์ที่ชื่อAnytime Feedback Tools (แนวคิดของTaylor นั้นจะสนับสนุนให้มีการFeedback ตลอดเวลา)

ถ้ามองในมุมบวกDigital Taylorism ของAmazon ก็นำไปสู่การสามารถรักษาคนเก่งไว้ได้และจากประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงก็นำไปสู่ความพอใจของลูกค้ายอดขายและกำไร อย่างไรก็ดี Amazon ก็ได้รับคำวิจารณ์ในเชิงลบเกี่ยวกับเรื่องนี้มาพอสมควร ทั้งเรื่องความพยายามของAmazon ในการผลักดันพนักงานให้ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่จนนำไปสู่ปัญหาความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวพนักงานเกิดอาการBurnout และลาออกจากบริษัทไปในที่สุด นอกจากนี้การมุ่งเน้นในเรื่องประสิทธิภาพเป็นหลักโดยมีการเก็บข้อมูลและวัดผลในแต่ละด้านอย่างละเอียดก็ทำให้พนักงานทำงานเหมือนหุ่นยนต์ขาดเรื่องของความคิดสร้างสรรค์

เป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการมานานแล้วว่า Taylorism มีทั้งข้อดีและข้อเสียยิ่งในปัจจุบันที่ดิจิทัลเข้ามามีส่วนสำคัญและนำไปสู่Digital Taylorism ก็ยิ่งเป็นโอกาสที่ทำให้องค์กรต่างๆ นำแนวคิดของTaylorism มาใช้ได้ง่ายขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องอย่าลืมประเด็นในเรื่องของความเป็นปัจเจกบุคคลที่แตกต่างกันของพนักงานแต่ละคนด้วย และการไม่ปฏิบัติต่อพนักงานเสมือนเป็นเครื่องจักร