'เด็กดีในวันนี้คือผู้ใหญ่ดื้อในวันหน้า'

'เด็กดีในวันนี้คือผู้ใหญ่ดื้อในวันหน้า'

4 ทักษะจัดการกับ “ผู้ใหญ่ดื้อ” เพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่อนาคต

ช่วงวันหยุดปีใหม่ที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสอ่านพ็อกเก็ตบุ๊คจบไปเล่มหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ชื่อ “วัยรุ่น 4.0” เขียนโดยนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เนื่องจากลูกสาวกำลังก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ดิฉันจึงอยากเข้าใจเพื่อจะได้เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ลูกผ่านวัยที่น่าตื่นเต้นนี้ไปได้

คุณหมอถ่ายทอดเรื่องราวผ่านประสบการณ์จริงทั้งจากตนเอง ผู้ป่วย และคนรอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่คุณหมอตอบคำถามพ่อแม่เกี่ยวกับวิธีการจัดการวัยรุ่นที่ร้ายกาจ ที่พ่อแม่เองก็หมดปัญญาแล้วเหมือนกัน อ่านดูหลาย ๆ ตัวอย่าง ดิฉันพบว่าสิ่งที่พ่อแม่เผชิญคือ “ลูกเปลี่ยนแปลงไป” จากเดิมมาก จากเด็กน่ารัก ขี้อ้อน เชื่อฟัง กลายเป็นไม่ฟังและมองพ่อแม่เหมือนศัตรู เด็กที่ “เปลี่ยนไป” มักถูกมองว่าเป็น “เด็กดื้อ”

ในทางตรงกันข้าม ในฐานะที่ดิฉันเป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผู้นำและองค์กรให้องค์กรต่าง ๆ ในเมืองไทย มักได้ยินได้ฟังเคส “ผู้ใหญ่ดื้อ” อยู่บ่อย ๆ แต่ต่างกันตรงที่ ผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง มักถูกมองว่าเป็น “ผู้ใหญ่ดื้อ” เช่น 10 ปีที่แล้วเคยทำงานอย่างไร ทุกวันนี้ยังทำเหมือนเดิม ไม่ทันยุคทันสมัย วัน ๆ นั่งคิดถึงอดีตอันแสนหวาน และหดหู่กังวลกับอนาคตที่กำลังจะเปลี่ยนไป

องค์กรส่วนใหญ่ในวันนี้ให้ความสำคัญทัศนคติ ทักษะและความสามารถในการเปลี่ยนแปลง (Change and Transformation) ของบุคลากรในองค์กร เพื่อช่วยปรับเปลี่ยน ปฏิรูปองค์กรให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลง สังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

157874401633

อย่างไรก็ดี แม้การเปลี่ยนแปลงจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่การเปลี่ยนแปลงในองค์กรนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย John Kotter กูรูด้านการเปลี่ยนแปลงบอกว่ามีองค์กรเพียง 30% เท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนแปลงสำเร็จ และจากการศึกษาของ McKinsey เมื่อ 4 ปีก่อน พบว่ามีเพียง 1 ใน 4 ของผู้บริหารที่มองว่าองค์กรของตนเองเปลี่ยนแปลงสำเร็จ

4 ทักษะจัดการกับ “ผู้ใหญ่ดื้อ” เพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่อนาคต

1. นำพาธุรกิจและบุคลากรด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiring Others) ในอดีตผู้นำมีหน้าที่กระตุ้นจูงใจพนักงาน (Motivate) ผ่านการให้คุณให้โทษ ในวันนี้องค์กรที่เปลี่ยนแปลงเร็วและทันคงไม่สามารถรอให้ผู้นำคอยไปกระตุ้นจูงใจพนักงานได้ตลอดเวลา เพราะเมื่อกระตุ้นก็จะทำ ไม่กระตุ้นก็แผ่ว ในทางตรงข้ามตัวพนักงานต่างหากที่สามารถกระตุ้นตนเองได้ตลอดเวลาผ่านแรงบันดาลใจจากผู้นำ เพราะแรงบันดาลใจมากกว่าการให้คุณให้โทษแต่คือการเรียกเอาพลัง ความปรารถนาและคุณค่าในตัวพนักงานออกมานำการเปลี่ยนแปลง

2. นำเทคโนโลยีมาสร้างประสบการณ์อันแสนพิเศษให้กับลูกค้าและเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร (Digitizing Business) หลาย ๆ องค์กรต้องการ Go Digital และพยายามจะดิจิทัลในทุก ๆ เรื่อง จนในที่สุดพังพร้อมกันหมด พอพังคนก็ไม่อยากเปลี่ยน ผู้นำควรแสดงให้เห็นว่าจุดไหนควร Go Digital โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 จุดสำคัญคือ จุดที่ Make More Money และ Save More Money เพราะเมื่อทำ 2 จุดนี้ได้สำเร็จ คนทั้งองค์กรจะเห็นตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบอันยิ่งใหญ่ มองการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องบวกและอยากจะเปลี่ยนแปลงตาม

3. เปิดโลกทัศน์ให้คนในองค์กร (Opening to the outside world) องค์กรที่เคยอยู่ในหนังสือ Good to Great หลายองค์กรที่ตอนนี้ได้ล่มสลายไปแล้ว ความสำเร็จในอดีตไม่ได้การันตรีความสำเร็จในปัจจุบันและอนาคตอย่างแน่นอน อยากให้พนักงานเปลี่ยนแปลง ก็ต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เขา เช่น ลองส่งพวกเขาไปอยู่ ไปพูดคุย ไปดู คนนอกอุตสาหกรรม

4. มีความตื่นตัวเห็นความจำเป็นในการนำการเปลี่ยนแปลง (Leading Transformation) การเห็นความจำเป็นในการนำการเปลี่ยนแปลง แปลว่าไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต รู้ว่าหากอยากประสบความสำเร็จเหมือนที่เป็นอยู่ตอนนี้ ในวันนี้จะต้องปฏิบัติต่างจากเมื่อวานอย่างไร

เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า

และเด็กดีในวันนี้อาจจะเป็นผู้ใหญ่ดื้อในวันหน้าก็ได้

สุขสันต์วันเด็กค่ะ