ปัจจัยพื้นฐานของการปะทะทางอารยธรรม

ปัจจัยพื้นฐานของการปะทะทางอารยธรรม

หลังผู้บัญชาการกองกำลังสำคัญที่สุดของอิหร่านถูกสังหารในอิรักตามคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สภาวการณ์โลกตึงเขม็งขึ้นอีกระดับหนึ่ง

 สภาวการณ์นี้อาจนำไปสู่สงครามที่อิหร่านถูกถล่มโดยตรง นอกจากนั้น มันก่อให้เกิดการพูดกันอีกครั้งหนึ่งถึงการปะทะระหว่างต่างอารยธรรมหลังสงครามเย็นยุติเมื่อปี 2534 ตามคำทำนายของ ศ.แซมมวล ฮันติงตัน

คำทำนายนั้นอยู่ในหนังสือชื่อ The Clash of Civilizations and the Remaking of the World Order ซึ่งพิมพ์เมื่อปี 2539 และคงถอดความเป็นไทยได้ว่า “การปะทะของอารยธรรมและการจัดระเบียบโลกใหม่” (ผมนำหนังสือเล่มนี้มาทำบทคัดย่อภาษาไทยเผยแพร่เมื่อปี 2549 ในปัจจุบัน ผู้สนใจอาจดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์วิทยาทานของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com)

จากมุมไกล สภาวการณ์ดังกล่าวอาจมองได้ว่ายืนยันความแม่นยำของคำทำนายของ ศ.ฮันติงตัน นั่นคือเป็นการปะทะกันระหว่างอารยธรรมตะวันตกและอารยธรรมอิสลาม อย่างไรก็ตาม หากมองใกล้ๆ ให้ละเอียดขึ้นอาจจะเห็นว่าไม่น่าจะถูกต้องนัก เนื่องจากในย่านตะวันออกกลางอันเป็นสมรภูมิหลักของสภาวการณ์ปัจจุบัน มีการปะทะกันอย่างเข้มข้นจนถึงขั้นสงครามระหว่างอิสลามด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศหรือระหว่างประเทศ

คู่ปรปักษ์หลักของการรบกันอันยาวนานในซีเรียและในเยเมนจนทำให้สองประเทศนี้ตกอยู่ในสภาวะรัฐล้มเหลวเป็นมุสลิม อิหร่านและซาอุดีอาระเบียซึ่งขัดแย้งกันมานานต่างก็อยู่ในโลกอิสลาม ฉะนั้น ความแตกต่างทางอารยธรรมอาจเป็นเพียงข้ออ้าง หรือภาพลวงภายนอกเท่านั้น ส่วนปัจจัยพื้นฐานของการขัดแย้งกันเป็นอย่างอื่น

เนื่องจากสมรภูมินั้นมีทรัพยากรน้ำมันปิโตรเลียมปริมาณมหาศาล การแย่งชิงทรัพยากรกันจึงอาจมองได้ว่าเป็นปัจจัยหลักของความขัดแย้งรุนแรง สหรัฐกับซาอุดีอาระเบียอยู่คนละขั้วของอารยธรรมตามแนวการแยกของ ศ.ฮันติงตัน แต่กลับร่วมมือกันในการสู้รบกับอิหร่านและบนเวทีโลก

ย่อมเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่าแรงจูงใจที่ทำให้สหรัฐทุ่มทุนและแรงคนลงไปในสมรภูมินี้ก็เพื่อที่จะรักษาการเข้าถึงทรัพยากรน้ำมัน อย่างไรก็ดี การเข้าถึงทรัพยากรน้ำมันอาจจะมิใช่ปัจจัยพื้นฐานจริงๆ ก็ได้ หากยังมีปัจจัยพื้นฐานในอีกระดับหนึ่งซึ่งก็น่าจะเป็นได้เช่นกัน ผมเสนอให้พิจารณาจำนวนประชากรโลกและการบริโภค หรือการเสพของแต่ละคนซึ่งยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ณ วันนี้องค์การสหประชาชาติคาดว่าโลกมีจำนวนประชากรเกิน 7,800 ล้านคนแล้ว ข้อมูลเชิงประจักษ์บ่งชี้ว่าคนส่วนใหญ่ต้องการบริโภค หรือเสพเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนออกมาทางการใช้ทรัพยากรโลก การบริโภคนี้มีทั้งแบบแฝงมาในวาทกรรมเรื่องการพัฒนาและที่แสดงออกมาอย่างแจ้งชัดโดยผู้มีรายได้และทรัพย์สินสูง การพัฒนาชี้วัดกันด้วยรายได้เป็นหลัก

ประเทศกำลังพัฒนาต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นให้ถึงระดับของประเทศก้าวหน้าจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะขยายการผลิต หรือฐานทางเศรษฐกิจของตน ส่วนประเทศที่ก้าวหน้าแล้วก็ยังผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปเพื่อสนองความต้องการของประชาชนแม้คนส่วนใหญ่จะบริโภค หรือเสพจนเกินความจำเป็นมากแล้วก็ตาม ผู้นำแนวคิดในด้านการบริโภคเพิ่มขึ้นแบบไม่ที่สิ้นสุดในยุคนี้คือสหรัฐ

ย้อนไปหลายทศวรรษ มหาตมะ คานธี พูดว่า โลกนี้มีทรัพยากรมากพอสำหรับสนองความจำเป็น แต่ไม่มากพอสำหรับสนองความโลภของทุกคน คำพูดนี้มีผู้นำมาอ้างบ่อยโดยไม่ได้คิดต่อไปว่านักสู้ผู้นั้นพูดไว้เมื่อใด หากย้อนไปมองวันที่มหาตมะ คานธี ถูกลอบสังหารเมื่อปี 2491 จะพบว่าประชากรโลกมีไม่ถึง 2,500 ล้านคน คำพูดนั้นจึงน่าจะถูกหากประชากรของโลกคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 2,500 ล้านคน แต่มันไม่ใช่

ส่วนด้านความโลภก็เป็นที่ประจักษ์ว่ายังไม่มีวันจะลดลง ตรงข้ามมันอาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกอารยธรรม รวมทั้งในอินเดียซึ่งเป็นบ้านเกิดของมหาตมะ คานธี และพุทธศาสนาซึ่งพร่ำสอนให้ละความโลภมากว่า 2560 ปีแล้ว

ทั้งหลายทั้งปวงนี้น่าจะชี้ชัดว่าปัจจัยพื้นฐานของการรบกันในย่านตะวันออกกลางมิใช่ความแตกต่างทางอารยธรรม หากเป็นจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นและแต่ละคนพยายามเสพแบบไม่รู้จักพอ หากไม่พิจารณาลด 2 ปัจจัยนี้ ชาวโลกไม่มีทางพบความสงบสุข