ผู้นำกับการให้ข้อมูล

ผู้นำกับการให้ข้อมูล

ผู้นำประเทศยุคนี้ต้องสวมหมวก 2 ใบ ใบแรกคือการทำหน้าที่บริหารประเทศเพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ใบที่สองคือการเป็นผู้ให้ข้อมูลข่าวสารแก่สังคมเพื่อสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากสวมหมวกใบที่สองแล้วทำหน้าที่ได้ไม่ดี คำพูดที่ไม่ระมัดระวังอาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว สามารถสร้างความเสียหายให้กับประเทศได้

นอกจากการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว ควรเป็นข้อมูลที่สังคมสนใจ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เมื่อ 20 ปีก่อนมีคนไทยแค่หยิบมือเดียวที่สนใจข้อมูลการว่างงาน นโยบายการลงทุนของรัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเก็บภาษีที่ดิน ปัญหามลพิษ อัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน ค่าเงินบาทสงครามการค้า ในปัจจุบันเรื่องเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารกลายเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิต ผู้นำของภาครัฐและภาคการเมืองในทุกระดับต้องให้ข้อมูลข่าวสารที่เหมาะสม ถูกต้อง และเพียงพอ จริงอยู่ประชาชนสามารถเลือกรับข้อมูลข่าวสารได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการอ่านข่าว ดูข่าว อินเทอร์เน็ต พูดคุยกับเพื่อน แต่ถ้าเป็นเรื่องภาพรวมของประเทศแล้วจะมีแหล่งข้อมูลไหนน่าเชื่อถือว่าข้อมูลที่เป็นทางการของภาครัฐอีก

ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน ถึงจะหาได้จากหลายแหล่ง แต่สุดท้ายข่าวสารส่วนใหญ่มักเริ่มมาจากต้นตอเดียวกัน นั่นคือข้อมูลจากภาครัฐ โดยเฉพาะข้อมูลซึ่งออกจากปากของผู้นำประเทศและคณะรัฐบาล

ประชาชนและภาคธุรกิจไม่ได้หลับหูหลับตาเสพข้อมูลที่ป้อนให้เขา พวกเขานำข้อมูลที่ได้ไปเปรียบเทียบกับประสบการณ์จริงของตัวเอง หากสิ่งที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับข้อมูล เขาก็จะให้ความเชื่อถือกับแหล่งข้อมูล ถ้าหากสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ตรงกับข้อมูลและไม่สามารถหากเหตุผลได้ว่าเหตุใดจึงไม่เป็นเช่นนั้น พวกเขาก็จะเริ่มระแวงสงสัยในความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลออกมาบอกว่าวันจันทร์หน้าจะออกกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามเล่นดอกไม้ไฟ ใครมีไว้ในครอบครองถือว่าผิดกฎหมายมีโทษเท่ากับการฆ่าคนตายโดยเจตนา

หลังจากได้ข่าวนี้ ใครอยากเล่นดอกไม้ไฟก็ต้องรีบไปซื้อมาตุนไว้ เสาร์อาทิตย์นี้ต้องขนออกมาจุดให้หมด คนขายก็ต้องรีบเทขายของให้หมดเร็วๆ เพราะเก็บไว้ก็ติดคุกหัวโต โรงงานดอกไม้ไฟหยุดผลิต ลูกจ้างตกงานกันเป็นแถว วันเสาร์อาทิตย์ไม่เป็นอันได้หลับได้นอนเพราะมีแต่คนจุดดอกไม้ไฟสั่งลากันทั้งวันทั้งคืน

พอถึงวันจันทร์ คนที่เคยให้ข่าวกลับออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้พูด หรือโบ้ยไปว่าสื่อตีความผิดไปเอง ถามว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะทำอย่างไร และถามต่อไปว่าหลังจากนี้จะมีสักกี่คนที่เชื่อถือคำพูดของผู้นำประเทศเหมือนเดิม อย่างน้อยเจ้าของโรงงานและพ่อค้าแม่ค้าขายดอกไม้ไฟคงไม่เผาผีด้วยอย่างแน่นอน

ผลกระทบไม่ได้มีแค่ความเสียหายทางธุรกิจเท่านั้น คำพูดแค่ประโยคเดียวอาจส่งข้อความมากกว่าหนึ่งข้อความไปให้กับผู้รับสาร ข่าวเรื่องการออกกฎหมายส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจดอกไม้ไฟ แต่การออกมาปฏิเสธในสิ่งที่ตนเองได้พูดออกไปเป็นการส่งข้อความแฝงให้กับสังคมไทยว่า การไม่พูดความจริงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เพราะขนาดผู้นำของภาครัฐยังทำเลย

หากว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นด้วยความไม่ตั้งใจหรือเข้าใจผิด แล้วผู้ให้ข้อมูลออกมายอมรับความผิดพลาดของตนเอง ถึงจะมีคนแคลงใจบ้าง อย่างน้อยความน่าเชื่อถือของตัวเขาก็ไม่ตกลงไปมาก แต่เขาเองก็ต้องคอยระวังตัว ไม่ทำความผิดพลาดซ้ำรอย ให้แต่ข้อมูลข่าวสารตรงกับความเป็นจริง สักพักหนึ่งก็จะสามารถเรียกความน่าเชื่อถือกลับคืนมาได้

ตรงกันข้าม การทำผิดซ้ำซากระดับประเทศอีกไม่กี่ครั้งก็เพียงพอที่จะทำลายความน่าเชื่อถือจนถึงจุดที่ไม่สามารถจะกู้คืนได้อีก เมื่อมีแต่ความแคลงใจ สุดท้ายอาจจะขยายผลไปถึงความรู้สึกในภาพรวมว่าข้อมูลของภาครัฐก็ขาดความน่าเชื่อถือ เลยไม่ใช้ข้อมูลเหล่านี้

พอขาดข้อมูล ประชาชนและภาคธุรกิจก็ต้องตัดสินใจกันเอาเอง คาดเดาไปต่างๆ นานา ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าที่เดากันนั้นอาจมีโอกาสถูกน้อยกว่าครึ่งเสียอีก ความหวาดหวั่นเพราะขาดข้อมูลที่ถูกต้องทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจเกิดความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง มีข่าวอะไรนิดหน่อยก็อาจกลายเป็นกระแสข่าวลือใหญ่โตจนเกินจะควบคุมได้

ในยุคที่ข้อมูลกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลานุภาพที่สุด หากรัฐสามารถใช้พลังของข้อมูลข่าวสารไปในทางที่เหมาะสม ก็จะเป็นแรงเสริมในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า ทำให้คนในสังคมร่วมแรงร่วมใจกัน เกิดความเชื่อมั่นในประเทศ แต่ถ้าข้อมูลที่ออกมาสับสน เชื่อถือไม่ได้ การขับเคลื่อนประเทศก็ไม่ต่างอะไรกับการเดินเรือที่ไร้ทิศทาง การเดินเรือแบบนี้ จะหวังให้ผู้โดยสารรู้สึกมั่นใจศรัทธาคงยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา