แก้รัฐธรรมนูญ : ประเด็นวุฒิสภาและอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี

แก้รัฐธรรมนูญ : ประเด็นวุฒิสภาและอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญ(รธน.) เป็นกติกาสูงสุดที่กำหนดที่มาและที่ไปของผู้ใช้อำนาจทางการเมือง แบ่งออกเป็น 3 ขา อันได้แก่ อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

 เนื่องจากระบอบการปกครองของเราเป็นระบบรัฐสภา และระบบรัฐสภาในโลกนี้ก็แบ่งออกเป็น 2 แบบ แบบแรกที่เก่าแก่กว่าคือระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ กับแบบที่ 2 ที่ใหม่ขึ้นมาหน่อย คือระบบที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ

แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบ 1 หรือ 2 ผู้ที่จะเป็นนายกฯ จะต้องได้รับเสียงไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร นั่นหมายความว่า นายกรัฐมนตรีในแบบนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ก็ยังยึดโยงกับประชาชนโดยผ่านตัวแทนของประชาชน โดย ส.ส.ในสภาจะเป็นผู้ลงคะแนนเลือกนายกฯ ให้เป็นประมุขของฝ่ายบริหาร 

 ระบบรัฐสภายังแยกออกได้เป็น 2 แบบ นั่นคือแบบมีสภาเดียวกับแบบมีสองสภา โดยทั่วไปการมีสองสภาก็เพื่อให้สภาที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบกลั่นกรองร่างกฎหมายจากสภาแรก และอาจรวมไปถึงอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารและตุลาการได้ แล้วแต่จะกำหนด 

ส่วนที่มาของสภาทั้ง 2 นี้แน่นอนว่าสภาผู้แทนราษฎรจะต้องมาจากการเลือกตั้ง ส่วนสภาที่ 2 หรือมักเรียกว่าสภาสูงหรือวุฒิสภา ก็มีทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง อย่างในกรณีของอังกฤษที่อิงอยู่กับประเพณีการปกครองดั้งเดิม สภาสูงของเขามาจากการแต่งตั้ง มีทั้งที่เป็นโดยสถานะทางตระกูล คือเป็นอภิชน กับที่แต่งตั้งขึ้นมาใหม่ อย่างเช่นอดีตนายกฯ บางคน เป็นต้น 

ปัจจุบัน วุฒิสภาของไทยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เหตุผลที่ไม่เป็นเช่นนั้นเพราะเราเคยมี รธน.ปี 2540 ที่กำหนดให้วุฒิสมาชิกต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ปรากฏว่าวุฒิสภาได้กลายเป็น “สภาผัวเมีย” ไป สภาผัวเมียหมายถึงวุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่งเป็นสามีหรือภริยาหรือเป็นเครือญาติของบรรดา ส.ส.ในสภาผู้แทน ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลร่างกฎหมายจากสภาผู้แทนฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งก็ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของนายกฯ ได้อีกด้วย เพราะนายกฯ มาจากเสียงข้างมากของ ส.ส.ในสภาผู้แทน และหากวุฒิสมาชิกในวุฒิสภามีที่มาจากการเลือกตั้งโอกาสที่จะเป็นภาพสะท้อนจำนวน ส.ส.ในสภาก็เป็นไปได้สูง ซึ่งแปลว่าวุฒิสมาชิกส่วนใหญ่ก็เป็นพวกเดียวกับ ส.ส.ส่วนใหญ่ และก็ย่อมเป็นพวกเดียวกับนายกรัฐมนตรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากไม่สามารถวางกติกาการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกให้ได้ผลลัพธ์เป็นอื่น 

สาเหตุที่วุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งกลายเป็น วุฒิสมาชิกผัวเมียกับ ส.ส.ก็เพราะประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเลือกผู้สมัครวุฒิสมาชิกที่เป็นญาติกับ ส.ส. แม้ว่ากฎหมายจะระบุห้ามไม่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกสังกัดพรรคการเมือง แต่ก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้เป็นสามีภริยาหรือญาติสนิท เท่าที่ลงพื้นที่สอบถามผู้คนจำนวนหนึ่งในภูมิภาคหนึ่ง ได้คำตอบว่าการที่เขาเลือกญาติ ส.ส.เป็นวุฒิสมาชิก ก็เพราะ “จะได้ช่วยๆ กันทำงานได้ดี”

ซึ่งมีนัย 3 ประการคือ

1.ประชาชนไม่เข้าใจว่าหน้าที่ของวุฒิสภาคืออะไร

2.ตัววุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่งไม่เข้าใจว่าตนมีหน้าที่อะไร และไม่สามารถแยกแยะเรื่องส่วนตัวกับเรื่องบ้านเมืองออกจากกันได้

3.รู้ทั้งรู้ แต่ไม่สน เพราะถ้าวุฒิสมาชิกเหล่านั้นแยกแยะเป็นและรู้หน้าที่ของตน แม้จะเป็นผัวเมียพ่อแม่พี่น้องลุงป้าน้าอาก็ไม่เป็นไร แต่เมื่อวุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งจำนวนมากไม่รู้หรือไม่สน จึงทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤติการเมืองไป ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นส่วนที่แก้วิกฤติและไม่ต้องบานปลายไปสู่การรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย.2549 

 หลังรัฐประหาร 2549 นักออกแบบ รธน.ก็หาทางแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการให้ที่มาของวุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง และมาจากการสรรหาอีกครึ่งหนึ่ง โดยหวังว่าน่าจะเป็นส่วนผสมที่จะช่วยไม่ให้เกิดปัญหาสภาผัวเมียซ้ำ อีกทั้งห้ามไม่ให้วุฒิสมาชิกเป็นผัวเมียญาติกับ ส.ส. แต่กระนั้นวุฒิสภาแบบผสมนี้ก็ไม่สามารถตอบโจทย์วิกฤติการเมืองได้อยู่ดี พอหลังรัฐประหาร 2557 คราวนี้ นักออกแบบ รธน.ก็เลยกำหนดให้ที่มาของวุฒิสภาไม่มาจากการเลือกตั้งเสียเลย แต่มาจากการสรรหา 

ถ้าพิจารณาไล่เรียงมาตั้งแต่ รธน.2540, 2550 จน 2560 จะสังเกตเห็นแรงเหวี่ยงที่เกิดขึ้นจากวิกฤติการเมืองที่เหวี่ยงออกจากการให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง 100% มาเหลือแค่ครึ่งหนึ่ง จนไม่เหลือเลย โดยหวังว่าวุฒิสมาชิกจะสามารถตรวจสอบถ่วงดุล ส.ส.ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เข้าข่ายได้อย่างเสียอย่าง

ที่ว่าได้ก็คือได้การตรวจสอบแน่นอนเพราะวุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพราะถ้ามาจากการเลือกตั้ง และไม่สามารถหากติกาที่จะทำให้วุฒิสมาชิกไม่โยงใยกับ ส.ส. แบบที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มันก็จะลงเอยเป็นพวกเดียวกัน ก็ไม่รู้ว่าจะมีสองสภาไปทำไม? แต่ที่เสียก็คือ เสียการยึดโยงกับประชาชนไป หรือไม่เป็นประชาธิปไตยเลย

 นอกจาก รธน.2560 จะแก้ปัญหาการเมืองที่ผ่านมาโดยให้วุฒิสภาไม่ยึดโยงกับประชาชนเพื่อจะได้ไม่เป็นพวกเดียวกับ ส.ส.แล้ว ก็ยังให้อำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกฯ อีกด้วย ซึ่งการให้อำนาจนี้มาจาก คำถามพ่วง” ที่ให้ประชาชนลงคะแนนเห็นหรือไม่เห็นชอบตอนลงประชามติรับหรือไม่รับร่าง รธน. การให้วุฒิสภามีอำนาจเลือกนายกฯ นี้ถือเป็นการถ่วงดุลกับอำนาจในการเลือกนายกฯ ของสภาผู้แทนฯ นั่นเอง

ทำให้นายกฯ มาจากการผสมความเห็นชอบของสองสภา ซึ่งผลการลงประชามติปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนยอมรับให้วุฒิสภาไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง และยอมให้วุฒิสภามีอำนาจผสมกับสภาผู้แทนในการกำหนดตัวนายกฯ และประชาชนก็รู้ว่าที่มาของวุฒิสภาจะผ่านการกลั่นกรองของ คสช. 

 แต่ตอนลงประชามติ ประชาชนไม่ได้รับรู้ว่าจะมีการตั้งพรรคพลังประชารัฐ และก็ไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรับเป็นผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ และก็ไม่รู้ว่าในที่สุดแล้ว พล.อ.ประวิทย์ วงศ์สุวรรณ จะมาเป็นประธานยุทธ์ศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา จะมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยในโควตาของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งทั้งสามท่านนี้เป็นบุคคลสำคัญใน คสช.  

ดังนั้น จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ “สืบทอดอำนาจ” ตอนร่าง รธน.และออกคำถามพ่วง ไม่มีใครทราบ ประชาชนก็พาซื่อ ไม่คิดว่าจะเอากันถึงขนาดนั้น แต่ตอนนี้มันชัดมากๆ ว่าออกแบบทุกอย่างมาเพื่อสืบทอดอำนาจ ไอ้หลักที่จะให้วุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งตรวจสอบถ่วงดุลสภาผู้แทนมันจึงเลือนๆ ไป ไม่เท่ากับภาพให้วุฒิสภาใช้อำนาจสนับสนุนหัวหน้า คสช.ให้เป็นนายกฯ และมันก็กลับมาวงจรเดิมคือ วุฒิสภาเป็นพวกเดียวกับนายกฯ ที่เป็นอดีตหัวหน้า คสช.และทำหน้าที่คัดกรองคนจะมาเป็นวุฒิสมาชิก 

 เท่ากับหนีเสือ (นักการเมือง) ปะจระเข้ (คณะรัฐประหารที่ต้องการสืบทอดอำนาจ) อย่างนี้ หาข้อแก้ต่างให้ลำบากและก็สมควรแล้วที่พรรคการเมืองอื่นๆ เขาเรียกร้องหาเสียงว่าจะต้องมีการแก้ไข รธน. ที่จริงถ้าไม่มีการสืบทอดอำนาจ ก็น่าจะให้วุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่ดู ซึ่งอาจจะดีกว่าให้วุฒิสภาทำหน้าที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ

ดังนั้น ถ้าจะแก้ ก็ไม่ต้องไปแก้ที่มาของวุฒิสภาให้เป็นแบบนี้ต่อไป แต่ยกเลิกอำนาจในการเลือกนายกฯ เสีย หรือไม่อดีต คสช.ก็ยุติบทบาททางการเมือง ก็จะไม่มีจุดให้ครหาว่าสืบทอดอำนาจ เพราะถ้าแก้ให้วุฒิสมาชิกต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ไม่สามารถสร้างกฎกติกาที่ทำให้วุฒิสภาเป็นภาพสะท้อนอัตราส่วนคะแนนเสียงของ ส.ส.พรรคต่างๆ ในสภาผู้แทนฯ ก็ป่วยการ มันก็กลับไปอีหรอบเดิมที่เป็นปัญหา 

สรุปคือ 1.ยกเลิกอำนาจเลือกนายกฯ ของวุฒิสภา 2.ไม่ต้องยกเลิก แต่ให้ลุงตู่ ลุงป้อม อาป๊อก ยุติบทบาททางการเมืองเสีย...ถ้าไม่ทำหรือทำไม่ได้...แม้ว่าจะยังไม่มีการชุมนุมใหญ่ตอนนี้...แต่ก็น่าจะเป็นระเบิดเวลาให้เกิดความวุ่นวายครั้งใหญ่ต่อไปอยู่ดี