การประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการชิมช้อปใช้

การประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการชิมช้อปใช้

การประเมินโครงการชิมช้อปใช้อย่างไม่เป็นทางการของเฟสสอง ที่รัฐบาลให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนรับเงินผ่านระบบออนไลน์คนละ 1,000 บาท

พบว่ามีประชาชนลงทะเบียนรวมประมาณ 13 ล้านคน รัฐบาลประกาศว่าสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายระยะสั้นของประชาชนได้ถึง 3 เท่าของเงินที่รัฐโอนให้ นั่นหมายความว่าจากเงินที่รัฐโอนให้ 1,000 บาทต่อรายนั้น สามารถทำให้เกิด Multiplication Effect หรือหมุนเวียนเงินในตลาดได้ถึง 3,000 บาทเลยทีเดียว

และจากการเก็บตัวเลขการใช้จ่ายของประชาชน พบว่าไม่ได้มีการกระจุกตัวของการใช้เงินเฉพาะที่เมืองใหญ่ที่มีห้างสมัยใหม่เท่านั้น แต่มีการกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค เงินที่เข้าห้างใหญ่นั้นมีประมาณ 600 กว่าล้านบาท แต่อีก 3,000 กว่าล้านบาทกระจายไปสู่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ นั่นหมายความว่า การกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงปลายปีถือว่าประสบความสำเร็จ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และที่ยิ่งดีไปกว่านั้นคือการได้รับข้อมูลขนาดใหญ่จากประชาชนที่กรอกเพื่อลงทะเบียนรับเงินโอน ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์มหาศาลกับรัฐบาลในการดำเนินโครงการอื่นๆ ให้ตรงจุดตรงเป้าหมายได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตบางประการที่อยากจะให้พิจารณา

1.ในจำนวนประชาชนที่ลงทะเบียน 13 ล้านคนนี้ มีประชาชนแฝงมากน้อยเพียงไร ยกตัวอย่างกรุงเทพฯที่มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน แต่มีประชากรแฝงที่เป็นคนต่างจังหวัดถือบัตรประชาชนต่างจังหวัด แต่มาทำงานที่กรุงเทพฯ ประมาณ 7 ล้านคน แบบนี้ก็เท่ากับว่าเงินไม่ได้กระจายไปต่างจังหวัดเท่าไร เพราะลงทะเบียนในกรุงเทพฯ ใช้จ่ายในกรุงเทพฯ

2.การกระจายการใช้จ่ายไปต่างจังหวัดทุกจังหวัดของประเทศนั้นมีความเป็นไปได้ แต่สัดส่วนการกระจายไปต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีความเจริญน้อยนั้น น่าจะมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับการกระจุกตัวการใช้จ่ายในเขตเมืองใหญ่ประชากรมากทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ทั้งหลาย

3.น่าคิดว่าผลของการโอนเงินเข้ากระเป๋า 1,000 บาทนี้ ทำให้ประชาชนใช้เงินของตัวเองเพิ่มขึ้นเพื่อใช้จ่ายมากน้อยเพียงไร หมายความว่า 1,000 บาทสามารถเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการนำเงินส่วนตัวออกมาเพิ่มการใช้จ่ายอย่างไรหรือไม่ และมากน้อยเพียงไร

4.รัฐบาลจะสามารถนำข้อมูลจากผู้ลงทะเบียนชิมช้อปใช้ไปทำอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะในเรื่องการขยายฐานภาษี เพื่อให้ผู้ลงทะเบียนชิมช้อปใช้ที่ไม่ได้ยื่นแบบภาษี ได้เข้ามาในระบบภาษีมากขึ้น ซึ่งเท่ากับว่ายิงนกทีเดียวได้นกหลายตัว

เห็นปลัดกระทรวงการคลังออกมาให้ข่าวเรื่องการจัดเก็บภาษีปีนี้ว่าเก็บได้เพิ่มขึ้น และกำลังขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมประชาชนอีกจำนวน 4 ล้านคนที่ไม่ได้ยื่นแบบภาษีประจำปี ที่ปัจจุบันมียื่นประมาณ 11 ล้านคน ซึ่งถ้าเพิ่มได้ทั้งหมดจะสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น

เรื่องการเก็บภาษีนี้ ถือเป็นช่องโหว่สำคัญของงานจัดเก็บภาษีบ้านเรามานานแล้ว ทำให้เกิดการหนีภาษีและการรั่วไหลมหาศาลจากข้อมูลที่ปลัดกระทรวงการคลังอ้างถึง ในปัจจุบันประเทศไทยมีบุคคลธรรมดายื่นแบบภาษีประมาณ 11 ล้านคนเท่านั้น ถ้าสามารถให้ประชาชนที่ไม่ยื่นแบบมาเข้าระบบได้ทั้งหมด จะขยายฐานภาษีได้ครอบคลุมถึง 15 ล้านคน

ในขณะเดียวกัน รัฐเก็บภาษีนิติบุคคลทั้งประเทศได้ประมาณ 4 แสนราย ซึ่งจัดเก็บรายได้ประมาณ 67% ของทั้งประเทศ แต่ยังมีอีกประมาณ 2 แสนรายที่ยังไม่เข้าระบบภาษี ถ้าสามารถทำให้ทุกนิติบุคคลเข้าระบบรวม 6 แสนราย ก็จะเพิ่มภาษีได้มหาศาล ในจำนวนนิติบุคคลทั้งประเทศที่รัฐจัดเก็บภาษีนิติบุคคลจำนวน 4 แสนรายนี้ เป็นนิติบุคคลรายใหญ่คิดเป็นจำนวนไม่ถึง 1% หรือประมาณ 4,000 ราย จากทั้งหมด 4 แสนรายเท่านั้น

ก็คิดว่ารัฐบาลจะออกมาตรการอะไรใหม่ๆ มากระตุ้นอีกเพื่อให้ยอดการเติบโตเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 3% อย่างที่ตั้งเป้าไว้ และสุดท้ายรัฐบาลจะทำอย่างไรเพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดาที่ควรเสียภาษีอีกกว่า 4 ล้านคน และนิติบุคคลที่ยังไม่เข้าระบบภาษีอีก 2 แสนราย