เปิดสาระสำคัญ กฎหมายคอมพิวเตอร์(จบ)

เปิดสาระสำคัญ กฎหมายคอมพิวเตอร์(จบ)

สรุปสาระสำคัญในการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

 มาเป็น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 (ตอนที่ 9 : ตอนสุดท้าย) 

อ้างอิงข้อความบางส่วนจากเอกสารสรุปจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)

ต่อจากตอนที่ 8 ว่าด้วย อํานาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ 

ข้อความเดิมใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 

“มาตรา 13 ให้ยกเลิกความในมาตรา 18 และมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน”

“มาตรา 18 ภายใต้บังคับมาตรา 19 เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนในกรณีที่มี เหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทําความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ หรือในกรณีที่มีการร้องขอตามวรรคสองให้พนักงาน เจ้าหน้าที่มีอํานาจอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ เฉพาะที่จําเป็นเพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทําความผิดและหาตัวผู้กระทําความผิด

(1) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดมาเพื่อให้ถ้อยคํา ส่งคําชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสาร ข้อมูล หรือหลักฐานอื่นใดที่อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้

(2) เรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากผู้ให้บริการเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หรือจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง

(3) สั่งให้ผู้ให้บริการส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการที่ต้องเก็บตามมาตรา 26 หรือที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมของผู้ให้บริการให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือให้เก็บข้อมูลดังกล่าวไว้ก่อน

(4) ทําสําเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากระบบคอมพิวเตอร์ที่มี เหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทําความผิดในกรณีที่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นยังมิได้อยู่ในความครอบครองของพนักงานเจ้าหน้าที่

(5) สั่งให้บุคคลซึ่งครอบครองหรือควบคุมข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่

(6) ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใดอันเป็นหลักฐาน หรืออาจใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทําความผิดหรือเพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทําความผิดและสั่งให้บุคคลนั้นส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จําเป็นให้ด้วยก็ได้

(7) ถอดรหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใดหรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทําการถอดรหัสลับ หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการถอดรหัสลับดังกล่าว

(8) ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์เท่าที่จําเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทราบรายละเอียดแห่งความผิดและผู้กระทําความผิด

เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในบรรดาความผิดอาญาต่อกฎหมายอื่นซึ่งได้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นองค์ประกอบหรือเป็นส่วนหนึ่งในการกระทําความผิดหรือมีข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดอาญาตามกฎหมายอื่น พนักงานสอบสวนอาจร้องขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่งดําเนินการตามวรรคหนึ่งก็ได้ หรือหากปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รีบรวบรวมข้อเท็จจริงและหลักฐานแล้วแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อดําเนินการต่อไป

ให้ผู้ได้รับการร้องขอจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง (1) (2) และ (3) ดําเนินการตามคําร้องขอโดยไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกิน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอ หรือภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กําหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 7 วันและไม่เกิน 15 วัน เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสมควร ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ รัฐมนตรีอาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากําหนดระยะเวลาที่ต้องดําเนินการที่เหมาะสมกับประเภทของผู้ให้บริการก็ได้”

2.การกระทําความผิดนอกราชอาณาจักร

ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการกระทําความผิดต่อคอมพิวเตอร์โดยแท้ หรือใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการกระทําความผิด ย่อมเป็นการกระทําที่ปราศจากข้อจํากัดทางด้านดินแดน หากปรากฏว่าการกระทําความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ย่อมไม่สามารถนําตัวบุคคลผู้กระทําความผิดมาลงโทษได้ จึงได้นําเสนอให้ เพิ่มเติม “หลักดินแดน” โดยเทียบเคียงมาตรา 5 แห่ง ประมวลกฎหมายอาญา เพื่อให้ตรงตามเจตนารมณ์ของเรื่องในการขยายหลักดินแดนในกรณีที่มีการกระทําความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ดังนี้

“มาตรา 5 ความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ที่การกระทำแม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทําในราชอาณาจักรก็ดี ผลแห่งการกระทําเกิดในราชอาณาจักรโดยผู้กระทําประสงค์ให้ผลนั้นเกิดในราชอาณาจักร หรือโดยลักษณะแห่งการกระทําผลที่เกิดขึ้นควรเกิดในราชอาณาจักร หรือโดยลักษณะแห่งการกระทําผลที่เกิดขึ้นควรเกิดในราชอาณาจักรหรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดในราชอาณาจักรก็ดี ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทําในราชอาณาจักร และต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร”

สำหรับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ไม่ได้มีการปรับแก้ เนื้อหาใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ยังคงข้อความเดิมไว้ในมาตรา 17 ดังนี้

“มาตรา 17 ผู้ใดกระทําความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ นอกราชอาณาจักรและ

(1) ผู้กระทําความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้นหรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ

(2) ผู้กระทําความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหายและผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร”

สรุปในภาพรวมได้ว่า การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มีวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงจุดอ่อนของกฎหมายว่าด้วยการกระทำเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างสิทธิเสรีภาพและการเคารพสิทธิของบุคคลอื่น เพื่อให้มีความรอบคอบและคำนึงถึงทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ จึงมีการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 

สรุปเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2560 คือ โดยที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมต่อการป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ซึ่งมีรูปแบบการกระทําความผิดที่มีความซับซ้อนมากขึ้นตามพัฒนาการทางเทคโนโลยีซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินภารกิจในการกําหนดมาตรฐานและมาตรการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมทั้งการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ