อธิปไตยทางอินเทอร์เน็ต การโต้กลับของจักรวรรดิ

อธิปไตยทางอินเทอร์เน็ต การโต้กลับของจักรวรรดิ

สมรภูมิแห่งสงครามการค้าในยุคดิจิทัลมิใช่มีเพียงระหว่างสหรัฐและจีน

ระหว่างสหรัฐและกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ก็เริ่มทวีความดุเดือดอย่างที่ไม่แพ้กัน โดยเริ่มต้นจากกรณีของการส่งออกข้อมูลส่วนบุคคลของชาวยุโรป GDPR และการหลบเลี่ยงภาษีและกฎหมายอื่นๆ ของธุรกิจดิจิทัลข้ามชาติจากสหรัฐ

แม้แต่ประเทศอื่นๆ ที่อาจทรงอิทธิพลน้อยกว่ายุโรป อย่างเช่น อินเดีย ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฯลฯ ต่างก็มีนโยบายโต้กลับ ในรูปแบบที่คล้ายกัน

ล่าสุด รัสเซีย ได้กลับกลายมาเป็นอีกสมรภูมิหนึ่ง เมื่อประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ได้ลงนามในกฎหมาย เพื่อปกป้องอธิปไตยทางอินเทอร์เน็ตของชาติรัสเซีย โดยกฎหมายดังกล่าว ให้อำนาจรัฐบาล ในการตัดขาดระบบอินเทอร์เน็ตของชาติ ออกจากโลกภายนอก

โดยให้เหตุผลว่า เป็นการป้องกันจากการจู่โจมไซเบอร์ และเป็นการทำให้อินเทอร์เน็ตในประเทศ สามารถใช้งานต่อไปได้ เมื่อชาติตะวันตกต้องการปิดกั้นรัสเซียออกจากโลกอินเทอร์เน็ต

โดยบริการอินเทอร์เน็ตพื้่นฐานอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต่อระบบของอินเทอร์เน็ต อย่างเช่น โดเมนเนม ที่ยังคงต้องอาศัยการเชื่อมโยงจากโลกภายนอก รัสเซียจำเป็นต้องพัฒนาระบบสำรอง ที่สามารถใช้งานได้ทันที เมื่อถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

และต้องอย่าลืมว่า ในโลกใบนี้ มีเพียง จีน และ รัสเซีย เท่านั้น ที่มีบริการพื้นฐานด้านดิจิทัลเป็นของตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยโลกตะวันตก

สำหรับประเทศจีน Baidu, WeChat และ Yorku คือ เสิร์ช์เอนจิน โซเชียลเน็ตเวิร์ค และ วีดีโอแชร์ริ่ง ที่ครองตลาด และเกิดขึ้นมาจากสตาร์ทอัพภายในประเทศจีนเอง

สำหรับประเทศรัสเซีย Yandex และ Vk คือ เสิร์ช์เอนจิน และ โซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่ครองตลาด และเกิดขึ้นมาจากสตาร์ทอัพภายในประเทศรัสเซีย

จึงเป็นแต้มต่อให้ ความฝันสู่อธิปไตยทางอินเทอร์เน็ตของรัสเซียนั้น อาจทำให้เกิดขึ้นจริงได้

เท่านั้นยังไม่พอ หนึ่งสัปดาห์ให้หลัง ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ได้ลงนามในอีกกฎหมายหนึ่ง ที่กำหนดให้สมาร์ทโฟนทุกเครื่อง ที่วางขายในรัสเซีย จะต้องโหลดแอปที่ถูกกำหนดโดยรัฐบาลรัสเซีย

ฝ่ายที่สนับสนุนกฎหมายนี้ ได้อ้างเหตุผลว่า เป็นการสนับสนุนแอปของรัสเซียเอง ที่มีความสามารถไม่แพ้แอปที่มักถูกโหลดมากับเครื่อง หรือแอปของชาติตะวันตกที่เป็นที่รู้จักเป็นการทั่วไป ให้สามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม

ธุรกิจที่ไม่ทำถามกฎหมายฉบับนี้ จะต้องถูกปรับ $3,100 ต่อกรณี ซึ่งเป็นค่าปรับที่สูงกว่ารายได้จากการขายสมาร์ทโฟนอีก จึงเป็นจุดที่ต้องตัดสินใจของผู้ผลิตสมาร์ทโฟนทั้งหลาย รวมทั้งแอปเปิลจากสรัฐอเมริกาด้วย ว่าจะปฏิบัติตามหรือจะเลิกขายสมาร์ทโฟนในประเทศ เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ในเดือนก.ค.นี้

ด้วยความเข้มแข็งของประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ธุรกิจข้ามชาติจากโลกตะวันตก โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา อาจต้องมาเผชิญศึกหนัก ซึ่งหากยักษ์ใหญ่อย่างเช่นแอปเปิลยอมอ่อนข้อ ย่อมต้องเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นๆ ที่ยอมเสียเปรียบสหรัฐมานาน จะต้องขอทำตาม

เรื่องนี้คงยังไม่จบง่ายๆ