Business Transformation การแปลงร่างธุรกิจ

Business Transformation การแปลงร่างธุรกิจ

คำศัพท์ที่ฮอตฮิตอีกคำหนึ่งในวงการธุรกิจปัจจุบัน เห็นจะหนีไม่พ้นคำว่า Business Transformation 

ที่อาจใช้คำภาษาไทยให้ใกล้เคียงที่สุดก็คือ การแปลงร่างให้กับธุรกิจ

การ “แปลงร่าง” ให้กับธุรกิจอาจทำได้หลายประเภทหลายวิธี แต่หลักสำคัญก็คือ การทำให้บริษัท หรือทำให้ธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งเดิมๆ ที่เป็นอยู่มาจนเป็นปกติวิสัย

ซึ่งอาจเป็นการเปลี่ยนแบบเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงการเปลี่ยนร่างแบบพลิกโฉมจนจำร่างเดิมไม่ได้

ทำให้คำว่า Transformation สามารถนำไปใช้ได้เป็นอย่างดีกับนักบริหารธุรกิจ เนื่องจากเป็นคำที่มีขอบเขตกว้างขวาง ไม่ว่าจะทำอะไรก็อาจเข้าข่ายการทำ Transformation ทั้งนั้น และนิยมใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษไปเลย เพื่อให้ดูขลังเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น

การแปลงร่างธุรกิจ มีได้หลายประเภท ที่มักจะทำกันอยู่ในปัจจุบัน อาจได้แก่ การแปลงร่างของโมเดลธุรกิจ การแปลงร่างของกระบวนการหรือวิธีการทำธุรกิจ หรือ การแปลงร่างธุรกิจโดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้แทนกระบวนการแบบใช้มนุษย์หรือแรงงานเป็นผู้ลงมือทำ

ถ้าจะเริ่มตั้งแต่การแปลงร่างที่เกิดขึ้นภายในธุรกิจหรือภายในบริษัทเอง โดยไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอก ผู้บริหารมักจะให้ความสำคัญกับ การแปลงร่างของวิธีการทำงาน ขั้นตอนการทำงาน หรือ ประสิทธิภาพของการทำงาน อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างของบริษัท

โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การทำให้การทำงานทำได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น ประสิทธิภาพงานสูงขึ้น หรือทำให้ลดต้นทุนการทำงานลง

อย่างไรก็ตาม การแปลงร่างของกระบวนการทำงานภายใน มักจะไม่ทำให้บุคคลภายนอกเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของธุรกิจในทิศทางที่ดีขึ้น อาจได้ผลเพียงการทำให้พนักงานหรือผู้ปฏิบัติงานเห็นว่า องค์กรให้ความสำคัญกับสภาพการทำงานของพนักงานเท่านั้น

ยกเว้นการแปลงร่างกระบวนการทำงานอย่างพลิกโฉม สร้างผลกระทบเชิงบวกได้สูง และสะท้อนไปยังผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการได้อย่างชัดเจน

เช่น การแปลงร่างโฉมการทำงานในการทำพาสปอร์ตหรือหนักงสือเดินทาง ของกระทรวงการต่างประเทศที่ได้รับความชื่นชมจากประชาชนผู้ใช้บริการได้อย่างท่วมท้น

ประเภทต่อมาของการแปลงร่างธุรกิจ ได้แก่ การเปลี่ยนรูปแบบของโมเดลธุรกิจ ซึ่งโมเดลธุรกิจที่จะประสบควาวมสำเร็จ มักจะมีรูปแบบที่โดดเด่นเป็นของตนเอง และแตกต่างจากโมเดลธรรมดาทั่วไปที่ธุรกิจส่วนใหญ่ใช้ตามๆ กันมา

โมเดลธุรกิจ จะให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานภายใน กลุ่มเป้าหมายทางการตลาดของผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการ ช่องทางการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย คุณค่าเพิ่มที่จะส่งมอบให้กับกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนแผนการหรือวัตถุประสงค์ในการสร้างรายได้และต้นทุนทรัพยากรที่ต้องใช้

การแปลงร่างโมเดลธุรกิจ จึงเป็นการแปลงร่างที่จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างสูงต่อบริษัท โดยอาจเป็นการพลิกสถานการณ์จากสภาพเดิมๆ ของธุรกิจ ให้กลายมาเป็นธุรกิจโฉมใหม่ในสายตาของตลาดและบุคคลภายนอกได้

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือ โมเดลธุรกิจรถแท็กซี่ หรือโมเดลธุรกิจบริการการรับซื้ออาหาร ที่เปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิม จนได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน

ส่วนการแปลงร่างธุรกิจ ที่เรียกกันว่า การแปลงร่างแบบดิจิทัล หรือ Digital Transformation นั้น มีความหมายโดยตรงถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีความรวดเร็ว แม่นยำ และมีโครงข่ายที่ครอบคลุมกว้างขวาง มาใช้ในการทำธุรกิจเพื่อให้ตอบสนองกลยุทธ์การเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

กระบวนการแปลงร่างธุรกิจแบบดิจิทัล มักจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความซับซ้อน เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ที่นำมาใช้ อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนวิธีการทำงาน และวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรได้ และมักต้องค่าใช้จ่ายในการทำให้ธุรกิจเปลี่ยนรูปโฉมที่มีราคาแพง

การแปลงร่างธุรกิจแบบดิจิทัลนี้ มักจะนำมาอ้างถึงกับวงการการเงินและการธนาคาร และการทำธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่

ไม่ว่าจะเกิดการ “แปลงร่าง” หรือ “แปลงโฉม” หรือแม้กระทั่งการ “แปลงรูป” ของธุรกิจไปมากน้อยอย่างไร หลักธรรมชาติของธุรกิจก็คือ ความสามารถในการปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้อยู่รอดและเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ท่ามกลางสถานการณ์รอบด้านที่ผันผวนและคาดเดาได้ยากว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต

ธุรกิจที่ไม่พร้อมตั้งรับกับการปรับตัวจากธุรกิจที่ทำอยู่ในลักษณะเดิมๆ ก็อาจประสบอุปสรรคต่างๆ ได้มากมาย เหมือนกับที่เห็นกันอยู่ในขณะนี้

เนื่องในวารดิถีขึ้นปีใหม่ 2563 นี้ ขอให้ท่านผู้อ่านประสบแต่ความสุข ความสมหวัง ในสิ่งดีงามที่ประสงค์ไว้ทุกประการ เทอญ