แสงสว่างข้างหลังความมืดสลัว

แสงสว่างข้างหลังความมืดสลัว

บทความในคอลัมน์นี้ตลอดเดือนที่ผ่านมา พูดถึงเรื่องเกี่ยวเนื่องกับปัญหาจากภาวะโลกร้อน

 เนื้อหาจึงสะท้อนภาพทางลบของสภาพการณ์ในด้านต่างๆ ของสังคมมนุษย์ที่ทำให้ไม่สามารถป้องกันปัญหามิให้ร้ายแรงขึ้นได้ เช่น ด้านสังคม มนุษย์เรายังไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมอันเป็นต้นเหตุของปัญหา นั่นคือ การบริโภค หรือการเสพสรรพสิ่งที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งที่สัดส่วนที่เกินความจำเป็นสำหรับดำเนินชีวิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านเศรษฐกิจ การผลิตสินค้าและบริการสะท้อนความต้องการอันเกินความจำเป็นดังกล่าวนั้น ส่งผลให้ไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงสู่ระดับที่จะป้องกันมิให้โลกร้อนขึ้นจนเกิดปัญหาร้ายแรงแบบหมดทางแก้ไข ส่วนด้านการเมือง ระบบและบุคคลไม่อำนวยให้เกิดการตัดสินใจที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในแนวที่ฝ่ายวิชาการแนะนำ

ท่ามกลางรายงานต่างๆ เกี่ยวกับแนวโน้มที่ดูจะนำไปสู่ความมืดสลัวเพิ่มขึ้นนี้ นิตยสารไทม์ รวบรวมข้อมูลมาเสนอเพื่อชี้ว่า มีสิ่งที่น่ายินดีเกิดขึ้นมาก หากมองจากมุมของวิวัฒนาการระยะยาว เช่น ชาวโลกลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวมทั้งแสงแดด แรงลมและกระแสน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไฟฟ้าจากแหล่งเหล่านี้เข้ามาแทนที่ไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งที่ทำให้อากาศสกปรก รวมทั้งน้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน เทคโนโลยีใหม่ ทำให้ต้นทุนการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนลดลงอีกอย่างต่อเนื่องซึ่งกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นในอัตราสูง รวมทั้งจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการน้ำมันปิโตรเลียม ณ วันนี้ ไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งใหม่ได้เพิ่มขึ้นไปถึง 11% ของไฟฟ้าที่ผลิตทั่วโลก จำนวนชาวโลกที่เสียชีวิตจากโรคภัยที่เกิดจากอากาศสกปรกก็ลดลงเป็นปีที่ 27 ติดต่อกันและพร้อมกันนั้นชาวโลกเกือบ 90% มีกระแสไฟฟ้าใช้ในชีวิตประจำวัน กระนั้นก็ตาม นิตยสารไทม์เตือนว่าปัญหายังสาหัส ชาวโลกมีภาระที่จะต้องทำอีกมากนักหากจะรอดพ้นจากปัญหาที่มาจากภาวะโลกร้อน

พร้อมกับการเข้าถึงกระแสไฟฟ้ามากขึ้นนั้น แนวโน้มสำคัญๆ ก็เป็นไปในทางบวกด้วย รวมทั้งการเข้าถึงน้ำสะอาด การรักษาพยาบาลและการศึกษา ในด้านการศึกษา เยาวชนเพศหญิงมีโอกาสเข้าถึงสถาบันการศึกษาในอัตราที่สูงขึ้นส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างการศึกษาของสองเพศลดลงอีก การมีการศึกษาสูงมีผลดีต่อโอกาสในการทำงานที่มีรายได้สูงขึ้นส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของชาวโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โอกาสเข้าถึงการศึกษาที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในด้านการสร้างความเท่าเทียม สตรีทั่วโลกมีโอกาสทำงานบริหารกิจการและด้านการเมืองเพิ่มขึ้นส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างสองเพศลดลง กระนั้นก็ดี ข้อมูลชี้ว่า จะต้องใช้เวลาอีกราว 100 ปีก่อนที่สองเพศจะบรรลุความเท่าเทียมกัน

การมีการศึกษาสูงขึ้น มีรายได้มากขึ้น พร้อมกับเข้าถึงไฟฟ้า น้ำสะอาดและการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้นส่งผลให้อัตราการตายของทารกช่วงแรกเกิดและสตรีที่ตายในตอนคลอดลูกลดลงไปอีก ทั้งหลายทั้งปวงนี้มีผลทำให้คนเราโดยเฉลี่ยมีอายุยืนยาวขึ้น กระนั้นก็ตาม นิตยสารไทม์ชี้ว่า แนวโน้มเหล่านี้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจเพราะราว 1 ใน 3 ของชาวโลกยังขาดระบบดูแลสุขภาพที่ดีพอ

ภาพความย้อนแย้งกันระหว่างเหตุการณ์ด้านร้ายรายวัน กับแนวโน้มไปในทางดีในระยะยาวนี้มิใช่ของใหม่ ย้อนไปกว่า 10 ปี คอลัมน์นี้พูดถึงหนังสือซึ่งชื่อบ่งบอกถึงความย้อนแย้งแนวเดียวกันชื่อ The Progress Paradox: How Life Gets Better While People Feel Worse (มีบทคัดย่อภาษาไทยในเว็บไซต์ www.bannareader.com) ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาพเช่นนี้มีทั้งความจริงและความรู้สึก เช่น รายได้และความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น พร้อมกันมีหลักฐานยืนยันว่าจริง แม้รายได้จะทำให้กลุ่มรายได้ต่ำสามารถเลี้ยงชีพได้อย่างดี แต่คนกลุ่มนี้ยังรู้สึกไม่พอใจเมื่อเห็นผู้อื่นมีรายได้สูงกว่าจนอยู่อย่างหรูหราได้ ความไม่พอใจมีส่วนทำให้มองเหตุการณ์รอบด้านไปในทางลบ หรือเร้าใจให้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้านด้านต่างๆ รวมทั้งด้านการเมือง

เรื่องการเปรียบเทียบสถานะของตัวเองกับผู้อื่นแล้วเกิดความไม่พอใจนี้มีนาน นักเศรษฐศาสตร์ได้ศึกษามาเกือบศตวรรษ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้มากเนื่องจากคนส่วนใหญ่มักใช้เหตุผลน้อยกว่าอารมณ์ การไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งที่รู้ว่ามันจะทำให้โลกร้อนจนเผาตัวเองมาจากรากเหง้าเดียวกัน