อาเซียนกับความร่วมมือเพื่อขจัดปัญหาแรงงานประมงผิดกฎหมาย

อาเซียนกับความร่วมมือเพื่อขจัดปัญหาแรงงานประมงผิดกฎหมาย

กลุ่มประเทศอาเซียนขึ้นชื่อมานานในด้านการเป็น Maritime Nations โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมประมง (Fishing Industry)

ความต้องการกำลังการผลิตเพื่อให้สอดรับกับปัจจัยการผลิตซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมากนั้น ในด้านหนึ่งช่วยสร้างอาชีพให้แก่แรงงานในภูมิภาค แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ได้นำมาซึ่งปัญหาการละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในประเภทกิจการประมงด้วย

การจะก้าวข้ามผ่านและสร้างจุดเปลี่ยนต่อปัญหานี้ได้จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาภายในประเทศร่วมกับความร่วมมือของกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

เมื่อพิจารณาถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับภายในประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับสากลตระหนักดีถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานในอุตสาหกรรมประมงในทุกขั้นตอน เพื่อร่วมคิด ร่วมขับเคลื่อน บนหลักนิติธรรมและหลักคุณธรรมโดยมีเป้าประสงค์เพื่อขจัดแรงงานผิดกฎหมาย การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย การเอารัดเอาเปรียบ การบังคับใช้แรงงานซึ่งเป็นประเด็นเชื่อมโยงการค้ามนุษย์ด้านแรงงานให้หมดสิ้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเหล่านี้มีความละเอียดอ่อน มีการเชื่อมโยงและซับซ้อนในหลายมิติ การแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะในระดับภูมิภาคนั้นไม่สามารถดำเนินการได้โดยหน่วยงานหรือองค์กรภายในประเทศจากเพียงประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในอาเซียน รวมทั้งในแต่ละประเทศก็จำเป็นต้องมีแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมด้วย

สำหรับประเทศไทยนั้น หากวิเคราะห์รายงานสถานการณ์ด้านแรงงานในภาคประมงและข้อชี้แจงจากกระทรวงการต่างประเทศในช่วงระยะหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงอย่างจริงจัง และได้ออกมาตรการหลายอย่างเพื่อคุ้มครองแรงงานทั้งในด้านกฎหมาย นโยบาย และการบังคับใช้ โดยได้ทำงานร่วมกับทั้งภาคเอกชนและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ด้านแรงงานในภาคประมงเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหลายด้าน

ตัวอย่างหนึ่งของจุดเปลี่ยนสำคัญก็คือ การบังคับใช้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 ที่กำหนดโทษปรับการใช้แรงงานผิดกฎหมายบนเรือประมงต่อหัวที่สูงมาก ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายด้านแรงงานและการป้องปรามการค้ามนุษย์ในประเด็นการป้องกันแรงงานบังคับ รวมถึงมีมาตรการใหม่หลายด้าน อาทิ การออกหนังสือคนประจำเรือให้กับแรงงานต่างด้าว การกำหนดให้เจ้าของเรือจัดทำหนังสือสัญญาจ้าง การรับรู้สิทธิของแรงงาน มีระบบรับเรื่องราวร้องทุกข์ซึ่งให้บริการเป็นภาษาประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

ในประเด็นการตรวจแรงงานนั้นก็มีการดำเนินการอย่างครอบคลุม ทั้งที่ท่าเรือ บนเรือ และโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อให้หาเป้าหมายได้ตรงจุดเพื่อให้การตรวจแรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการเพิ่มจำนวนผู้ตรวจ ล่าม และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง เมื่อพบกรณีการละเมิดสิทธิของแรงงานให้ดำเนินคดีอาญาทันทีโดยไม่ต้องรอออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องซึ่งเป็นแนวปฏิบัติในอดีตที่เคยให้โอกาสนายจ้างได้ทำให้ถูกกฎหมายก่อน

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้แรงงานบังคับ และการดำเนินการยกร่างพ.ร.บ.ป้องกันและขจัดแรงงานบังคับ เพื่อรองรับการให้สัตยาบันพิธีสารภายใต้อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับของอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. 1930 โดยไทยเป็นประเทศลำดับที่ 24 ของรัฐสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่ยื่นสัตยาบันพิธีสารฯ ดังกล่าว อีกทั้งมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงทะเล 

แม้ประเทศไทยจะมีการดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างจริงจัง แต่ปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมประมงเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข เนื่องจากประกอบด้วยประเด็นปัญหาทางกฎหมายจากหลากหลายกฎหมายสารบัญญัติและต้องอาศัยความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่มีประเทศใดที่จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

สาเหตุที่บทบัญญัติกฎหมายมีความสำคัญก็เนื่องจากแรงงานบังคับ ทั้งแรงงานพม่าและกัมพูชา ต่างถูกข่มเหงอยู่บ่อยครั้งในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการไม่อาจออกจากเรือได้เพราะเอกสารถูกยึด การไม่ได้ค่าจ้างเป็นเวลา รวมถึงไม่มีสัญญาว่าจ้างใด ๆ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้มีการรับรองอนุสัญญาแรงงานบังคับ รวมถึงการต่อยอดโดยมีกฎหมายมารองรับเพื่อเป็นต้นแบบและมีการบังคับใช้ที่เข้มข้นในระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งไม่เพียงแต่การคุ้มครองแรงงาน แต่จำต้องมีมาตรการทางกฎหมายโดยเฉพาะการมีบทลงโทษที่เหมาะสม

รวมถึงควรต้องมีการกำหนดนิยามของคำว่า ‘แรงงานบังคับ’ ให้มีลักษณะสอดคล้องกับคำนิยามตามพิธีสาร เนื่องจากรูปแบบการบังคับใช้แรงงานมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น การมีนิยามที่กว้างจะสามารถครอบคลุมถึงรูปแบบการบังคับใช้แรงงานต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอนาคตได้และจะสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในวาระที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน ไทยควรใช้โอกาสนี้เป็นผู้นำในการผลักดันความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อช่วยปกป้องแรงงานต่างด้าวที่ถูกละเมิดสิทธิในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการปกป้องคุ้มครองผู้ใช้แรงงานจากประเทศต่าง ๆ ในชาติอาเซียนเองและช่วยส่งเสริมการจ้างแรงงานอย่างถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม รูปแบบกฎหมายที่ออกมาเพื่อพันธกิจร่วมกันนี้ควรสอดคล้องกับบริบททางสังคมของแต่ละประเทศ รวมถึงสอดรับกับกลไกทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมประมง รวมทั้งคำนึงถึงศีลธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งจะเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการให้ความคุ้มครองผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมงจากการถูกเอารัดเอาเปรียบได้อย่างยั่งยืนต่อไป.

โดย... 

ดร.ณัชชา สุขะวัธนกุล