Multi Asset Allocation Model ทางออกในยุคที่ ไร้ LTF

Multi Asset Allocation Model ทางออกในยุคที่ ไร้ LTF

เริ่มต้นศักราชใหม่ หลังจากกลับจากฉลองเทศกาลกันมาแล้ว ในด้านการลงทุน ผมมองว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม หากจะเริ่มต้นทยอยลงทุนระยะยาว

เพราะต้องเริ่มกันตั้งแต่เนิ่นๆ และกองทุนที่ถูกกล่าวถึงกันมากในช่วงนี้คือ Super Saving Fund (SSF) ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเน้นการออมระยะยาวนะครับ เงื่อนไขคือ ลงทุนได้สูงสุด 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท วงเงินเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันบำนาญ กองทุน RMF และ กองทุน SSF รวมกันต้องไม่เกิน 500,000 บาท และต้องถือ 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ สามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้หลายประเภท ทั้งหุ้นทุน ตราสารหนี้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และรีท นั่นคือ กฎกติใหม่ที่ย้ำเตือนผู้ลงทุนกันอีกครั้งตั้งแต่ต้นปี

ถ้าถามผมว่ากองทุน SSF เหมาะกับใคร สำหรับผมมองว่าขึ้นอยู่กับมุมมองและความสนใจในรายบุคคล แต่ประเด็นที่ผมขอกล่าวถึงในส่วนที่สำคัญอยากให้พิจารณาไว้ คือ  ข้อแรก วงเงินรวม กองทุน SSF กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และประกันบำนาญ ไม่เกิน 500,000 บาท แต่ขยายจากที่ไม่เกิน 15% ของรายได้ เป็น 30% ของรายได้ ทำให้ท่านสามารถเพิ่มเงินลงทุนในกอง RMF ได้มากขึ้น  ข้อสอง รายได้น้อยถึงปานกลาง เหมาะสมที่จะลงทุนในกองทุน SSF เพราะสามารถลงทุนได้สูงสุด 30% ของรายได้(ก่อนหน้านี้ 15%) ข้อสาม ผู้ที่มีอายุเกิน 45 ปี ขึ้นไปมองว่า กองทุน RMF เป็นตัวเลือกที่ดีนะครับ เพราะเทียบกับระยะเวลาลงทุนที่ใกล้เคียงกันการถือครองยังสั้นกว่าการเลือกลงทุนในกองทุน SSF ครับ (กองทุน RMF ไถ่ถอนได้เมื่อครบอายุ 55 ปีบริบูรณ์และถือครองเกิน 5 ปี) นอกจากนั้น ยังมีการลงทุนรูปแบบอื่นที่น่าสนใจให้เลือกหลากลายเช่นกัน ยกตัวอย่างลงทุนในรูปแบบประกันชีวิต(ไม่นับรวมวงเงินเพดาน 500,000 บาทข้างต้น) และประกันบำนาญ(นับรวมเพดานลงทุน 500,000 บาทข้างต้น)

จากที่ผมกล่าวมาทั้งหมด ก็พออนุมานได้ว่ากองทุน SSF เป็นกองทุนที่เน้นสร้างวินัยการออม และเป็นตัวเชื่อมที่ดีไปยังกองทุน RMF แต่จำนวนเงินลดหย่อนเดิมที่สูงสุด 1 ล้านบาท จะเหลือแค่ 5 แสนบาท แต่ขยายฐานต่อรายได้จากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 30 ทำให้คาดหวังกันว่าจะได้จำนวนคนเข้ามายังกองทุน  SSF มากกว่าจำนวนเงิน ดังนั้น คนที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงก็คงมีตัวเลือกลงทุนที่น้อยลงและเข้าเกณฑ์การจ่ายภาษีมากขึ้น  

หากไม่มีกองทุน LTF แล้วจะเป็นยังไง เมื่อกองทุน SSF ยังไม่ได้แทนได้ 100% ส่วนที่เคยออมในกองทุน LTF อีก 5 แสนบาทจะไปลงทุนอะไรดี ผมมองว่าลงทุนแบบหลากหลายสินทรัพย์ (Multi Asset ) ภายใต้ กลยุทธ์การกระจายสินทรัพย์เพื่อการลงทุน โดยพิจารณาถึงค่าความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้ (Asset Allocation Model Under Risk Base Concept) ผลตอบแทนที่ได้จะแตกต่างไปตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งปัจจุบันมีกองทุนประเภทนี้มากมาย อีกทั้งปัจจุบันก็มีกอง Multi Asset ที่ให้สิทธิประโยชน์ในเรื่องของสุขภาพเกี่ยวกับการได้รับสิทธิ์รักษาผู้ป่วยนอก

ในส่วนของบลจ.วรรณ เรามีกลยุทธ์การลงทุนแบบ Multi Asset  โดยจัดแบ่งจากเสี่ยงต่ำขึ้นไปจนถึงระดับ ที่เรียกว่า SAA หรือ Strategic Asset Allocation ณ จุดที่สมดุลที่สุดระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทน โดยมีทั้งหมด 4 ระดับ ได้แก่ ระดับแรก รับความเสี่ยงได้ไม่มาก แต่ยังมองหาผลตอบแทนแบบสม่ำเสมอแต่ยังอยากได้ประกันสุขภาพอยู่ก็อาจจะผสมด้วยกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นผสมกับกองทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางประกันสุขภาพ ระดับสอง รับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้นบ้าง เน้นผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย  สามารถปรับพอร์ตโดยเพิ่มสัดส่วนลงทุนในกองทุนอสังหาฯได้ ระดับสาม มีความรู้ความเข้าใจในหุ้นอยู่บ้าง เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทยเน้นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนหุ้นปันผล ระดับสี่ เป็นระดับที่เหมาะสมตามสถานการณ์ปัจจุบัน สามารถเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้นและปรับลดน้ำหนักการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ลงเล็กน้อย เพื่อรับผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากหุ้น

อย่างไรก็ดี ผู้ที่สนใจในรายละเอียดของแต่ละกองทุนภายใต้การบริหารของบลจ.วรรณ ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของบลจ.วรรณ ซึ่งจะมีปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เหมาะสมตามสถานการณ์เป็นรายสัปดาห์ ดังนั้นการลงทุนในหลายสินทรัพย์ โดยใช้ Asset Allocation Model ที่ได้รับการ ดูแล โดยผู้เชี่ยวชาญ ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี สำหรับ การออมหรือการลงทุนในยุคที่ผลตอบแทนต่ำต้นทุนการออมเพิ่มและไม่มี LTF มาช่วยเรื่องภาษี