สมคิด พุ่มพวง ให้อะไรกับสังคมยุค 4.0

สมคิด พุ่มพวง ให้อะไรกับสังคมยุค 4.0

จากอาชญากรรมสะเทือนสังคมไทยด้วยน้ำมือของอดีตนักโทษคดีฆาตกรรมต่อเนื่องนาม “สมคิด พุ่มพวง” นำมาสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์ครั้งใหญ่จากคนในสังคม

 โดยมีกระบวนการยุติธรรมตกเป็นจำเลยหลัก

ผู้เขียนมองปรากฏการณ์ด้วยความสนใจ และเข้าใจดีว่าในยุค 4.0 ใครๆ ก็ต้องการความรวดเร็ว แต่ทั้งนี้ เมื่อสังเกตจากข้อเรียกร้องของหลายๆ ฝ่าย อาจกล่าวได้ว่าประเด็นหลักของข้อวิจารณ์มุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาในระยะสั้น กล่าวคือ การมองปัญหาที่เกิดจาก “การลดโทษ” และ “การอภัยโทษ” เป็นหลัก มากกว่าที่จะสนใจวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาอย่างจริงจังที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

หลายคนบอกว่ากระบวนการยุติธรรมไม่เด็ดขาดพอ ลดโทษให้กับคนที่มีสันดานโจรมานักต่อนัก หรือบางคนบอกว่าไม่มีนักโทษคนไหนได้รับโทษเต็มที่จริงๆ จากเรือนจำ ประเดี๋ยวก็ได้รับการอภัยโทษแล้วก็ออกมากระทำความผิดซ้ำเดิมอีก

ไม่แปลกที่จะมีการตั้งคำถามในประเด็นนี้ หากเราแก้โดยการลงโทษ “ประหารชีวิต” ก็จะไม่มีสมคิดออกมากระทำความผิดอีก หรือ “จำคุกตลอดชีวิต” โดยไม่มีเงื่อนแห่งการอภัยโทษ สมคิดก็จะแก่ตายในคุกไม่ออกมาเพ่นพ่านและมีโอกาสกระทำผิดซ้ำ

ข้อเรียกร้องนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาแบบมองเพียงผลสรุป ซึ่งผู้เขียนขอเรียกว่า “ทางแก้ปลายเหตุ” โดยมองว่ากระบวนการยุติธรรมมีแนวคิดที่ล้าสมัย“การลดโทษ” ตามเหตุลดโทษที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 และ 78 กลายเป็นอุปสรรคต่อการมีสังคมในอุดมคติ ส่งผลไปยังความไม่พอใจในคำพิพากษา รวมความไปถึงการขออภัยโทษที่บัญญัติอยู่ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259 ถึง 267 ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้ คือ บทกฎหมายแห่งการให้สิทธิ์แก่ผู้ที่หลงผิดแต่กลับใจในการกระทำผิด

ประเด็นนี้ที่จริงแล้วก็แก้ไม่ยาก นั่นคือการแก้กฎหมาย ปรับปรุงในส่วนที่คิดว่าบกพร่องไม่ตอบโจทย์ของสังคม

แต่หากลองคิดทบทวนให้ดี มันก็แค่การจัดการกับบุคคลที่กระทำความผิด "เฉพาะราย เฉพาะกลุ่ม” เท่านั้น เช่นนี้สังคมจะดีขึ้นอย่างที่เราต้องการหรือไม่ กระบวนการยุติธรรมจะสวยงามขึ้นอย่างที่เราวาดฝันหรือไม่ ประเด็นนี้ต่างหากที่น่าสนใจยิ่งกว่าควรประหารสมคิดหรือไม่

พูดให้เข้าใจโดยง่าย สังคมปัจจุบันต้องการตัดสมคิดออกจากวัฏจักรของสังคม เพื่อให้เกิด “สังคมในอุดมคติ” ที่ปราศจากอาชญากรซึ่งแนวคิดแบบนี้อาจจัดได้ว่าเป็นแนวคิดแบบทัณฑวิทยาสมัยโบราณ ที่สนใจแค่บทลงโทษที่รุนแรงเพื่อให้สังคมหวาดกลัวไม่กระทำเอาเยี่ยงอย่าง

แต่กระนั้น การมี “กระบวนการยุติธรรม” ที่เด็ดขาดรุนแรงก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดของการมี “สังคมที่ดี” และ “สังคมที่ดี” ก็ไม่ใช่สังคมที่มีกระบวนการยุติธรรมที่ต้องลงโทษรุนแรงเสมอไป เพราะผลที่เรากำลังต้องการอาจไม่ได้แปรผันตรงซึ่งกันและกันสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจก็คือเราจะแก้ปัญหานี้ที่ต้นเหตุอย่างไร

ในความเห็นของผู้เขียนทางออกที่จะแก้ปัญหาอาชญากรรมได้อย่างยั่งยืนคือ การทำความเข้าใจ "อาชญาวิทยา” ในรูปแบบสหวิชาการ ที่ไม่ใช่แค่ใช้การลงโทษมาเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ประสงค์

กล่าวคือ อาชญาวิทยาต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้กระทำความผิด เพื่อนำแรงจูงใจอันเป็นต้นเหตุแห่งพฤติกรรมไม่ดีเหล่านั้นมาวิเคราะห์และหาแนวทางในการลงโทษที่เหมาะสม ที่สามารถแก้ไขผู้กระทำผิดไปพร้อมกับป้องกันอาชญากรรมด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเป็นต้นเหตุ

ตามทฤษฎีอาชญาวิทยา สามารถอธิบายสาเหตุแห่งการกระทำผิดโดยแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ตามต้นเหตุอันเป็นแรงจูงใจ ดังนี้..

1) กลุ่มทฤษฎี Classical สนใจสาเหตุที่ผู้กระทำความผิดตัดสินใจลงมือกระทำด้วยตนเอง ผ่านการคิดไตร่ตรองข้อดีข้อเสียแล้วก่อนลงมือทำ

2) กลุ่มทฤษฎี Positive สนใจสาเหตุที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายหรือจิตใจที่ทำให้ไม่สามารถไตร่ตรองข้อดีข้อเสียของการกระทำผิดได้เหมือนคนปกติทั่วไป

3) กลุ่มทฤษฎี Sociological สนใจสาเหตุที่เกิดจากถูกแรงกดดันของสังคมที่เปลี่ยนแปลงหรือมีทัศนคติบีบเค้นให้เขาต้องกระทำผิด

จะเห็นได้ว่า หากเราไม่จำแนกต้นเหตุแห่งการกระทำผิดก็จะเป็นการยากที่จะใช้กฎหมายแก้ปัญหาการกระทำความผิดที่อาจเกิดขึ้นซ้ำได้ พูดแบบภาษาชาวบ้านก็คือต้องเข้าใจปัญหาก่อนวางกรอบกฎหมาย มากกว่าแค่ใช้บทลงโทษเป็นตัวนำ

หากเราเลือกใช้เครื่องมือในการแก้ปัญหาโดยไม่คำนึงถึงเหตุแห่งอาชญากรรมและปราศจากการขัดเกลาที่ดีของสังคม (social bonding) กฎหมาย (formal control) ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ของมันแบบเต็มประสิทธิภาพ เช่นนี้ ทางแก้ทั้งสองจึงเปรียบเสมือนยาที่ต้องรับประทานควบคู่กันไป ใช้ยาแก้ที่ปลายเหตุแก้ไขอาการของโรคในระยะสั้น ไปพร้อมๆกับรับยาแก้ที่ต้นเหตุอันเป็นยาทานระยะยาวที่จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการแสดงอาการของโรคให้ดีขึ้นจนกระทั่งหายขาดในสักวัน

ผู้เขียนจึงอยากให้สังคมไทยลองมองปัญหาที่เกิดขึ้นให้กว้างออกไปและในที่สุดอาจจะพบว่าปัญหาแท้จริงแล้วอาจไม่ได้เกิดจากกฎหมาย เช่นนี้ การแก้ปัญหาโดยใช้กฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวก็อาจล้มเหลวที่จะนำพาสังคมไปสู่การเป็น “สังคมที่ดีในยุค 4.0” แต่กลับเป็นเพียงการนำพาเราไปเจอกับอีกปัญหาที่จะตามมาไม่มีวันจบสิ้นนักโทษล้นคุก การกระทำความผิดซ้ำ วนกันไปไม่รู้จบ

สุดท้าย ขอฝากไว้ด้วย แนวคิดทางอาชญาวิทยาที่ว่า “หากระบบการขัดเกลาแห่งสังคมใดไม่สามารถทำงานให้เกิดผลดีด้วยตัวของมันเองได้ จะแปลกอะไรที่เราก็จำต้องอยู่ในสังคมแบบนั้นต่อไป โดยที่กฎหมายไม่สามารถช่วยอะไรเราได้”

ประเด็นนี้ ผู้เขียนคิดว่านักกฎหมายบางท่านก็ยังไม่เข้าใจ 

โดย... 

ว่องวิช ขวัญพัทลุง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์