ส่งท้ายปี 2019 ต้อนรับปี 2020

ส่งท้ายปี 2019 ต้อนรับปี 2020

บทความ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” อาทิตย์นี้คงเป็นบทความสุดท้ายของปีนี้ ปีที่ผมได้เคยให้ความเห็นว่า เป็นปีของความผิดหวังทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง

ในทางเศรษฐกิจ เราเริ่มต้นปีด้วยความหวังว่า เศรษฐกิจปีนี้จะดีขึ้นต่อเนื่องจากปี 2018 จากที่ภาวะเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น เพราะปัญหาข้อพิพาทระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่นำมาสู่สังครามการค้าจะมีข้อยุติ ความไม่แน่นอนด้านนโยบายต่างๆ เช่น ปัญหา Brexit จะมีทางออก ทำให้เศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวและเศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์จากการขยายตัวของการค้าและการส่งออก นอกจากนี้ การลงทุนของภาครัฐ และการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เข้าใจปัญหาที่ประชาชนมี เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะเป็นปัจจัยบวก สิ่งเหล่านี้ทำให้มีความหวังว่าเศรษฐกิจ ปี 2019 จะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากปี 2018 ในอัตรา 3 - 4%

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง คือปัญหาต่างๆ ที่มีในเศรษฐกิจโลกไม่ได้คลี่คลายในทางที่ดีขึ้น ปัญหายังเป็นปัญหาอยู่ ทั้งเรื่องสงครามการค้า ปัญหาความไม่แน่นอนที่เศรษฐกิจโลกมี กระทบการส่งออกและการท่องเที่ยวของประเทศ ภายในประเทศเอง การผลิตของภาคเกษตรก็ขยายตัวได้น้อย การลงทุนภาคเอกชนติดลบและการลงทุนภาครัฐเคลื่อนไหวได้ช้า ทั้งหมดทำให้รายได้หรือกำลังซื้อของประชาชนอ่อนแอ การขยายตัวจึงลดต่ำกว่าเป้าทั้งปี ตอนนี้ ส่วนใหญ่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2019 จะขยายตัวประมาณ 2.5 - 2.7% ซึ่งจะเป็นอีกปีที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ

ที่สำคัญ การชะลอตัวของเศรษฐกิจปีนี้ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนเพราะต้องปรับตัวมาก รายได้เติบโตไม่พอกับการใช้จ่าย คนไทยกว่า 60% ต้องปรับตัวด้วยการลดการใช้จ่าย ขณะที่มาตรการของภาครัฐที่ออกมาช่วยเหลือ หรือกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะไปตามเป้าหมายทางการเมืองของแต่ละพรรคเพื่อคะแนนเสียง มากกว่าที่จะเป็นมาตรการที่ถูกกลั่นออกมาเพื่อแก้ไขเศรษฐกิจที่ประเทศมี ทำให้ความตกต่ำของเศรษฐกิจมีต่อเนื่องในปี 2019 และรัฐบาลไม่สามารถเป็นความหวังให้กับประชาชนและภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคในประเทศลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน พ.ย.ต่ำสุดในรอบ 67 เดือน ชี้ให้เห็นความหมดหวังที่ประชาชนมีต่อสถานการณ์ของประเทศขณะนี้ โดยเป็นผลจากความผิดหวังทั้งต่อเศรษฐกิจและต่อการเมืองของประเทศ

นี่คือสถานการณ์ปัจจุบันที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจไทยในปี 2020

ผมคิดว่านักธุรกิจและนักลงทุนส่วนใหญ่ขณะนี้ มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในปีหน้าว่า อาจเลวร้ายลง เพราะดูจากปัจจัยต่างๆ แล้ว ความสามารถที่เศรษฐกิจจะกลับหลังหัน หรือกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นในปีหน้ามีน้อยมาก ไม่ว่าจากปัจจัยในประเทศหรือปัจจัยต่างประเทศ

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ อย่างที่ได้เขียนไว้ในบทความอาทิตย์ที่แล้ว แรงปฏิสัมพันธ์ระหว่างสามแนวโน้มที่กำลังมีบทบาทมากในเศรษฐกิจการเมืองโลกขณะนี้ คือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การเติบโตของการเมืองแบบอำนาจนิยม และช่องว่างในภาวะผู้นำโลก จะเป็นปัจจัยกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า ซ้ำเติมโดยความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองโลกและปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ ความไม่แน่นอนเหล่านี้กระทบความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ปีหน้าดีที่สุด เศรษฐกิจโลกคงจะขยายตัวใกล้เคียงกับปีนี้ หรือไม่ก็ชะลอตัวลงกว่าปีนี้เล็กน้อย

แนวโน้มดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2020 เพราะเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งภาคต่างประเทศมาก ทั้งการค้าและการท่องเที่ยว การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะทำให้การส่งออกของเราถูกกดดันต่อไป ไม่สามารถขยายตัวได้ ทำให้ความอ่อนแอของรายได้และกำลังซื้อในประเทศจะมีต่อไป กระทบภาวะการทำกำไรของภาคธุรกิจ และความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทเอกชนและครัวเรือน

ปีหน้าจึงเป็นปีของการบริหารเศรษฐกิจขาลง และประเด็นที่ต้องจับตามากปีหน้า คือ ผลของการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่จะมีต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ที่จะกระทบหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และฐานะของสถาบันการเงินจากปัญหาหนี้เสีย ในอดีตประสบการณ์ในหลายประเทศชี้ชัดเจนว่า เมื่อเศรษฐกิจไม่ขยายตัว หรือขยายตัวต่ำต่อเนื่อง ความสามารถในการชำระหนี้จะถูกกระทบ เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ทั้งในภาคครัวเรือนและบริษัทธุรกิจ ซึ่งถ้ารุนแรงก็จะเป็นชนวนไปสู่การสูญเสียความเชื่อมั่นของนักลงทุน การไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ และยกระดับความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่เกิดให้เห็นบ่อยในเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่องและมีหนี้มากจากการใช้จ่ายเกินตัว

ประเด็นนี้ประเทศไทยจะประมาทไม่ได้ เพราะประเทศเรามีปริมาณหนี้สูง ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ และเป็นความอ่อนแอสำคัญของเศรษฐกิจของเราขณะนี้ อัตราส่วนระหว่างหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ประชาชาติล่าสุด อยู่ที่ 78% ความเป็นหนี้ของประชาชนเพิ่มขึ้นทุกปี ประมาณว่า โดยเฉลี่ย หนี้ครัวเรือนได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 90% ของปริมาณสินทรัพย์ที่ครัวเรือนมี หมายความว่า ปริมาณหนี้สูงจนถึงระดับที่อาจจะไม่สามารถกู้หรือก่อหนี้ได้อีกเพราะสินทรัพย์สุทธิของภาคครัวเรือนมีน้อยมาก หนี้เหล่านี้ต้องมีการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นตามกำหนด ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจไม่ขยายตัวหรือขยายตัวต่ำ ความสามารถในการชำระหนี้ก็จะถูกกระทบ เกิดปัญหาหนี้เสียและการผิดนัดชำระหนี้อย่างกว้างขวาง ซึ่งจะไม่ดีเลยต่อระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ

นี่คือ ความเสี่ยงที่รออยู่ข้างหน้า ทำให้ไม่แปลกใจเลยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาพูดเรื่องนี้บ่อยมากในปีนี้ เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนและความสามารถในการชำระหนี้ของทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนจะเป็นจุดอ่อนไหวของเศรษฐกิจเราในปีหน้า ทำให้ภาคธุรกิจและผู้ทำนโยบายต้องระมัดระวังและไม่ประมาทกับความเสี่ยงนี้ในปี 2020 ที่กำลังจะมาถึง

สวัสดีปีใหม่ และขอส่งความสุขให้กับผู้อ่านทุกท่าน