ฝนตกขี้หมูไหล?

ฝนตกขี้หมูไหล?

การได้มาซึ่งนิติบุคคลอาคารชุด​ ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด​ และนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร​ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน

 มีที่มาแตกต่างกันอย่างชัดเจน​ คือเมื่ออาคารชุดได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมาย ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นนิติบุคคล​ ​ภายใต้มติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม​ มีผู้จัดการ​ 1 คน​ และมีคณะกรรมการ​จำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน​ แต่ไม่เกิน 9 คน​ ปฏิบัติหน้าที่ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ​ และที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม​

ผู้ซื้อ​ เมื่อจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามสัญญาจะซื้อจะขาย​กรรมสิทธิ์ห้องชุด​ ถือเป็นเจ้าของร่วม​ ตามข้อบังคับและกฎหมาย​ สำหรับห้องชุด​ "เหลือขาย" อาจอยู่ระหว่างการขายกรรมสิทธิ์​ ถือกรรมสิทธิ์โดยผู้ขาย​ ผู้ประกอบการ​ ถือเป็นเจ้าของร่วม​ อยู่ภายใต้ข้อบังคับ​และกฎหมาย ว่าด้วยอาคารชุดเช่นเดียวกัน

ทั้งผู้ซื้อ​ และผู้ขาย​ มีหน้าที่ชำระ "ค่าส่วนกลาง" และ​ "ค่ากองทุน" ตามที่กำหนดในข้อบังคับ​ กรณีพบว่าผู้ขาย​ ชำระ​ค่าส่วนกลาง​ "รายเดือนและไม่จ่ายค่ากองทุนให้แก่นิติบุคคลอาคารชุด​ ด้วยการเขียนข้อบังคับ​ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตน​ ในขณะที่จำนวนห้องชุดเหลือขาย​ของผู้ขาย​มีจำนวนมาก​ "หลายแห่ง" ​อาจมี​ 40 - 60% ของจำนวนทั้งหมด​ โดยผู้ขายใช้สิทธิของตน​ ออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม​ ตามจำนวนห้องชุดที่ถือกรรมสิทธิ์ เป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้ซื้อ​หรือไม่​ ในขณะที่คะแนนเสียงดังกล่าว​ สามารถแทรกแซงมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม​ กรณีมีญัตติ​ หรือวาระพิจารณาการแก้ไข​ เปลี่ยนแปลงข้อบังคับ​ หมวดว่าด้วยการออกค่าใช้จ่ายของ เจ้าของร่วม​ ถามว่าจะเกิดประโยชน์​ เป็นธรรมแก่ผู้ซื้อหรือไม่​ ? 

เชื่อว่าอาคารชุด​ ผู้ซื้อ​ นักลงทุน "จำนวนไม่น้อย" ประสบปัญหาข้างต้น​ 

การได้มาซึ่งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร​ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน​ เมื่อโครงการจัดสรรที่ดินขายกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงย่อยให้แก่ผู้ซื้อจำนวนไม่น้อยกว่า​ "กึ่งหนึ่ง" ของแปลงจำหน่ายทั้งหมด​ ระบบสาธารณูปโภค​และบริการสาธารณะ​ ตามที่ผู้จัดสรรที่ดิน​ ผู้ขาย​ จัดทำขึ้น​ ได้รับการตรวจสอบ​ การจัดทำเสร็จสมบูรณ์​ถูกต้อง​ครบระยะเวลาการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค​(อย่างน้อย​ 1​ ปี)​ และผู้ขาย​ ผู้จัดสรรที่ดิน​ มีความประสงค์ขอพ้นหน้าที่การบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าว​ ตามที่จัดทำขึ้น​ตามมาตรา​ 44 ผู้จัดสรรที่ดิน​ ผู้ขาย​ มีหน้าที่แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ซื้อร่วมกันจดทะเบียน​ "นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร" หรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น​ ขึ้นมารับโอนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภคจากผู้ขาย​ ผู้จัดสรรที่ดินต่อไป

นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร​ มีวัตถุประสงค์เพื่อบำรุงรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภค​ หรือบริการสาธารณะตามที่จัดทำขึ้น​ ตามข้อบังคับ​ ภายใต้มติที่ประชุมใหญ่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร​ และพ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน​ มีคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรเป็นตัวแทนผู้ซื้อ​ ทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สิน​ ตามข้อบังคับ​ ตลอดจนมติที่ประชุมใหญ่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร​ เป็นต้น

ค่าส่วนกลาง​ จัดเก็บตามอัตราส่วนกรรมสิทธิ์​ กับทั้งผู้ซื้อ​ผู้ขาย​หรือผู้จัดสรรที่ดิน​ มีบทกำหนดโทษแก่ผู้ค้างชำระเช่นเดียวกัน​ เหมือนกันทั้ง ผู้ซื้อ​ผู้ขาย​ ผู้จัดสรรที่ดิน​ การออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่​ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร​ โดยใช้อัตราส่วนกรรมสิทธิ์ตามที่จดทะเบียนเป็นหลักเกณฑ์​เช่นเดียวกับระบบอาคารชุด

การแทรกแซงกิจกรรมการบริหารทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภคของผู้ขาย​ ผู้จัดสรรที่ดินต่อผู้ซื้อ​คณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรร​ อาจกระทำด้วยความยากลำบาก​ เหตุเพราะคะแนนเสียงของฝ่ายผู้ขาย​ ผู้จัดสรรที่ดิน​ มีจำนวนน้อยกว่า​ "กึ่งหนึ่ง" ของแปลงจำหน่ายทั้งหมด​ อีกทั้ง​ ผู้ขายผู้จัดสรรที่ดิน​ ไม่จำเป็นต้องอาศัย​ "ใบปลอดหนี้" จากคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรร​ เพื่อจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ที่ดินจัดสรรให้แก่ผู้ซื้อ​ ประกอบกับนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรที่จดทะเบียน​ มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อบุคคล​หรือนิติบุคคลภายนอก​ เมื่อกระทบสิทธิ์ทันที​ เมื่อผู้ซื้อรวมตัวกัน​จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ราย​ ตามที่ข้อบังคับ​และกฎหมายเปิดช่อง​ 

ดังนั้น​ การแทรกแซงฯ จึงไม่ควรกระทำ​ เหตุเพราะทั้งข้อบังคับ​ และกฎหมาย​ มี​ "ดาบอาญาสิทธิ์" ปกป้องสิทธิ​ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรตราบเท่าที่โครงการหมู่บ้านจัดสรร​ ยังไม่จดทะเบียนเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร​ ปัญหาด้านการบริหารทรัพย์สิน​ จึงไม่เกิดมากมาย​ ดังเช่นนิติบุคคลอาคารชุดในปัจจุบัน

"ตัวอย่าง" ข้อพิพาท​ในระบบอาคารชุด​คอนโดมิเนียม"บางกรณี" ได้แก่​ การชำระค่าส่วนกลาง​ และค่ากองทุนตามข้อบังคับ​ ผู้ซื้อทุกรายถูกบังคับจ่ายค่าส่วนกลางล่วงหน้า​ "รายปี"  และค่ากองทุน​ แต่ผู้ขาย​ ชำระค่าส่วนกลาง​ "รายเดือน" และยังไม่ต้องจ่าย "ค่ากองทุน" อ้างว่าตนปฏิบัติตามข้อบังคับ​ ในขณะที่คะแนนเสียงของผู้ขาย​ ผู้ประกอบการ​ มีจำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่ง​ของทั้งหมด​ หรืออาจมากกว่าผู้ซื้อกับห้องชุดเหลือขาย​ การออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมต่อการแก้ไข​ข้อบังคับ​​ ฝ่ายผู้ซื้อ​ "แพ้วันยังค่ำ" ยิ่งมีผู้จัดการ​ เป็น​ "นอมินี"ด้วยแล้ว​ โอกาสการถูกแทรกแซงการบริหารทรัพย์ส่วนกลาง​ คณะกรรมการอาจไม่สามารถตรวจสอบกิจกรรมทรัพย์ส่วนกลางดังกล่าวได้เลย

พนักงานเจ้าหน้าที่​ ตอบ​ ชี้แจงหนังสือการชำระค่าส่วนกลาง​ "รายเดือน" และไม่ชำระ ค่าส่วนกลาง​ ค่ากองทุน "รายปี" ดังเช่นผู้ซื้อ​ ของผู้ขาย​ ผู้ประกอบการ​ "ฉบับแรก" จากสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา​ "ฉบับที่สอง" จากสำนักส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์​ "กรมที่ดิน" สำนักงานใหญ่​ กรุงเทพมหานคร​ ความสรุป​ ดังนี้

*ฉบับแรก* ผู้ขายชำระค่าส่วนกลางครบถ้วน​ ถูกต้องตามที่ผู้จัดการอ้าง​ จึงสามารถใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมได้

*ฉบับที่สอง* เมื่อผู้ขายชำระค่าส่วนกลาง​ และค่ากองทุน​ ไม่เป็นไปตามพ.ร.บ. อาคารชุด​ ตามมาตรา​ 18​ และ​ 40​ ผู้ขาย​ จึงไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม

ยิ่งน่ากลัวไปมากกว่านั้น​ สำนักงานที่ดินจังหวัด​ หรือจังหวัดสาขา​ "บางแห่ง" จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ​ให้แก่ผู้ขอ​ ผู้จัดการ​ ในขณะที่ผู้จัดการ​ ครบวาระการดำรงตำแหน่ง​ตามข้อบังคับ​ หรือผู้จัดการไม่มีอำนาจ​ โดยปฏิเสธคำขอการจดทะเบียนกรรมการปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการ​ ตามข้อบังคับ และกฎหมาย​ อ้างในหนังสือว่าผู้จัดการครบวาระยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการไว้ก่อนหน้า​การครบวาระ แต่หนังสือคำขอจดทะเบียน​ดังกล่าว ลงวันที่ที่ผู้จัดการครบวาระตามข้อบังคับ​ เช่นนี้​ จะไม่สามารถกล่าว​ "ฝนตกขี้หมูไหล... ได้อย่างไร ? "

โดย... 

พิสิฐ ชูประสิทธิ์

นายกสมาคมนักบริหารอาคารชุด – หมู่บ้านจัดสรรไทย

“ที่ปรึกษา” ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ

[email protected]