ทิศทางภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจในยุค 5.0

ทิศทางภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจในยุค 5.0

เมื่อไม่นานนี้ ผมได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง “ทิศทางและความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ เพื่อก้าวสู่ประเทศไทย 5.0”

ในงานประชุมวิชาการระดับชาติในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยพาณิชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

คำถามที่เกิดขึ้นจากหัวข้อการบรรยาย คือ ประเทศไทย 5.0 คืออะไร ในเมื่อทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย กำลังมุ่งไปสู่ยุค 4.0 เท่านั้น

เพื่อตอบคำถามนี้ ผมขออธิบายด้วย “ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านทางสังคม : คลื่นอารยะ 7 ลูก” ที่ผมได้เสนอไว้ในหนังสือ คลื่นลูกที่ 5 ปราชญสังคม: สังคมไทยที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21(2542) ซึ่งกล่าวถึงคลื่นอารยธรรม 7 ลูก ตั้งแต่คลื่นลูกที่ 0 ถึง 6 ได้แก่สังคมเร่ร่อน สังคมเกษตร สังคมอุตสาหกรรม สังคมสารสนเทศ สังคมความรู้สังคมปัญญา และสังคมความดี

ปัจจุบันโลกอยู่ในคลื่นลูกที่ 3 คือ สังคมสารสนเทศ และกำลังเคลื่อนเข้าสู่คลื่นลูกที่ 4 คือ สังคมความรู้ และคลื่นลูกที่ 5 คือ สังคมปัญญาในอนาคต ดังนั้นประเทศไทย 4.0 ในความหมายของผม คือ สังคมความรู้ และประเทศไทย 5.0 ก็คือ สังคมปัญญา ซึ่งปัญญา ในความหมายของผม คือ การรู้จักประยุกต์ใช้ความรู้ให้เหมาะสม ถูกที่ ถูกเวลา ถูกโอกาส ถูกสถานการณ์ ถูกบริบท และถูกระบบแวดล้อม

การเปลี่ยนแปลงของคลื่นอารยธรรมโลก ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่ออธิบายทิศทางการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น ผมจะเปรียบเทียบลักษณะสำคัญในมิติต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจตั้งแต่ยุค 2.0 ถึง 5.0ดังนี้

1.จาก แข่งขันสู่ ร่วมมือ

การผลิตและบริโภคในยุค 2.0 เป็นการผลิตโดยผู้เชี่ยวชาญในองค์กร และบริโภคโดยฝูงชน มีการแยกบทบาทระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคผู้ผลิตแข่งขันกันเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการแก่ผู้บริโภคผ่านกลไกตลาด

ในยุค 3.0 เป็นการผลิตและบริโภคโดยฝูงชนบุคคลและองค์กรเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคข้อมูลข่าวสาร โดยแข่งขันกันผลิตและนำเสนอเนื้อหา เพื่อดึงดูดจำนวนผู้เข้าชมหรือแข่งขันกันเสนอซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ

ในยุค 4.0เป็นการร่วมผลิตโดยผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมบริโภคโดยฝูงชนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะเกิดจากกระบวนการร่วมสร้างสรรค์(co-creation) นวัตกรรมส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในระบบนิเวศน์นวัตกรรม

ในยุค 5.0จะเป็นการร่วมผลิตโดยผู้คนจำนวนมาก เนื่องจากปัญญาเกิดจากการปฏิสัมพันธ์ทางความคิด และการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ ธุรกิจจะมีบุคลากรเชี่ยวชาญหลายสาขามาทำงานร่วมกันขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลจะเอื้อให้ผู้คนเข้ามาร่วมสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.จาก รวมศูนย์สู่ กระจาย

องค์กรในยุค 2.0 เป็นแบบลำดับชั้นและรวมศูนย์การขับเคลื่อนองค์กรใช้การสั่งการ กฎระเบียบ การควบคุมและวัดผลงานจากปัจจัยนำเข้า(input)เช่น จำนวนชั่วโมงทำงาน เนื่องจากงานส่วนใหญ่เป็นงานที่ใช้แรงกายและทำแบบเดิมซ้ำ ๆ

ในยุค 3.0 มีการกระจายอำนาจมากขึ้น หรือเป็นโครงสร้างแบบเมทริกซ์(matrix)เพื่อให้เกิดการไหลของข้อมูลและการประสานงานข้ามสายงาน การขับเคลื่อนองค์กรใช้กระบวนการทำงานหรือระเบียบวิธีปฏิบัติงานและวัดผลงานจากกระบวนการ (process)และผลผลิต(output)เช่น แนวปฏิบัติที่ดี วิธีปฏิบัติทางเทคนิคเนื่องจากงานส่วนใหญ่ใช้ความรู้มากขึ้น เช่น การวัดและประมวลผลข้อมูลการสื่อสารข้อมูล เป็นต้น

ในยุค 4.0 องค์กรมีลักษณะเป็นเครือข่ายเพื่อเอื้อต่อการปฏิสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งในและระหว่างองค์กร การขับเคลื่อนงานใช้วิสัยทัศน์ เป้าหมายตารางเวลาส่งมอบงาน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานส่วนการวัดผลใช้ผลผลิตและผลลัพธ์ (outcome) เนื่องจากงานมีลักษณะเป็นการสร้างนวัตกรรม และมีการทำงานทางไกลมากขึ้น

ในยุค 5.0องค์กรเป็นระบบที่ซับซ้อนและมีพลวัตร องค์ประกอบต่าง ๆ เชื่อมโยงและพึ่งพาอาศัยกัน ดังระบบนิเวศน์หรือระบบสมองทำให้มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยน เพื่อบรรลุผลลัพธ์ที่ดีที่สุดและสร้างสมดุลของเป้าหมายต่าง ๆ การขับเคลื่อนงานใช้อุดมการณ์และค่านิยมร่วม การอำนวยการ ความร่วมมือการท้าทายและสร้างแรงบันดาลใจส่วนการวัดผลใช้ผลลัพธ์ผลลัพธ์ที่เลอค่า (outdo) การขยายผลลัพธ์นอกขอบเขต(outbound) การทวีคูณผลลัพธ์ (outburst)และความยั่งยืนของผลลัพธ์(outlast)

  1. จาก ทำกำไรสู่ ทำเพื่อสังคม

ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจในอนาคต จะมีเป้าหมาย(bottom line)เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีผู้มีส่วนได้เสียที่มีอิทธิพลต่อธุรกิจเพิ่มขึ้นและผู้บริโภคให้ความสำคัญกับคุณค่าอื่น(extrinsic value)นอกเหนือจากคุณค่าจากตัวสินค้าและบริการ(intrinsic value)

การอธิบายแนวโน้มเป้าหมายของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ผมจะใช้“Dr. Dan’s Corporate Mission Spectrum” ซึ่งอธิบาย ระดับของธุรกิจที่มีส่วนในการสร้างชาติ 5 ระดับ ได้แก่

ยุค 2.0ธุรกิจสร้างกำไรเป็นหลักธุรกิจในสังคมอุตสาหกรรมเน้นการผลิตจำนวนมาก เพื่อสร้างผลกำไรเป็นหลักแต่ละเลยผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

ยุค 3.0 ธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมเมื่อสังคมเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ทำให้เกิดแรงกดดันต่อภาคธุรกิจ ให้ต้องรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นธุรกิจจะพยายามทำกิจกรรมCSR เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และพัฒนาไปสู่การหลอมรวม CSR ในทุกกระบวนการของธุรกิจ ขณะที่ผู้บริโภคยินดีจ่ายแพงขึ้น เพื่อซื้อสินค้าและบริการจากธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง

ยุค 4.0ธุรกิจที่มีธรรมาภิบาลคนในสังคมมีความรู้มากขึ้น และเรียกร้องให้ภาคธุรกิจไปไกลกว่าความรับผิดชอบต่อสังคม กล่าวคือ มีธรรมาภิบาล ในขณะเดียวกัน ยังมีการพัฒนาองค์ความรู้ในการผลิตและดำเนินธุรกิจที่ไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสังคมเช่น เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาตรฐานด้านธรรมาภิบาล และแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินธุรกิจเป็นต้น

ยุค 5.0ธุรกิจที่สร้างคุณค่าต่อสังคม ธุรกิจในสังคมปัญญาไม่เพียงไม่สร้างผลกระทบเชิงลบแต่ต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมในทุกกระบวนการขององค์กรด้วย ธุรกิจต้องเข้าใจบริบทและความต้องการของท้องถิ่นและสามารถประยุกต์ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กร เพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายได้

ผมขอคาดการณ์ไปถึง ธุรกิจในสังคมความดีหรือยุค 6.0 ซึ่งจะเป็นธุรกิจเพื่อการสร้างชาติคือ ธุรกิจที่จัดตั้งขึ้น โดยที่ทุกสิ่งในธุรกิจมีผลต่อการขับเคลื่อนการสร้างชาติสู่ “สยามอารยะ” และไม่ได้แสวงหากำไรเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่นำกำไรที่ได้ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก

เราไม่ได้อยู่ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง แต่เรากำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงยุค การทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็น แต่การมีความเข้าใจแล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ก็เป็นเพียงมีความรู้ แต่ไม่มีปัญญา ดังคำกล่าวที่ว่า “ความรู้ที่ปราศจากการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ปัญญา