เงินบาทแข็งเพราะอะไร แก้อย่างไรบอกที

เงินบาทแข็งเพราะอะไร แก้อย่างไรบอกที

หนึ่งในปัญหาสำคัญทางเศรษฐกิจที่คนพูดถึงมากในปีนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง บทความนี้ขอตั้งคำถามว่า เงินบาทแข็งเพราะอะไร

แนวทางที่ภาครัฐและเอกชนควรร่วมกันปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้

บาทแข็งเพราะเหตุใด?ถ้าดูจากที่มาของเงินตราต่างประเทศจากรายการสำคัญในดุลการชำระเงินซึ่งมักสะท้อนความสมดุลของความต้องการแลกเงินบาทกับเงินสกุลต่างประเทศในช่วงเวลาต่างๆ จะพบว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ดุลบัญชีเดินสะพัด[1]เกินดุล29,300ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ. ส่วนเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ[2] ไหลเข้า 9,000ล้านดอลลาร์สหรัฐฯขณะที่เงินลงทุนโดยตรงของคนไทยในต่างประเทศ[3] เงินลงทุนในหลักทรัพย์สุทธิของทั้งคนไทย[4]และนักลงทุนต่างชาติ[5]ไหลออกถึง12,5000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ7,600ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ตัวเลขนี้จึงสะท้อนว่าเงินบาทแข็งค่าตามเงินไหลเข้าสุทธิจากดุลบัญชีเดินสะพัดและ FDI เป็นหลักและไม่ใช่เงินไหลเข้ามาเพื่อซื้อหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ

บาทแข็งแบบนี้บอกอะไร?หลายท่านอาจสงสัยต่อว่า ทั้งที่เศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวจากพิษของสงครามการค้าแต่ทำไมมูลค่าการส่งออกของไทยยังสูงกว่าการนำเข้า สาเหตุข้อหนึ่งเพราะไทยมีการนำเข้าสินค้าทุนน้อยตามการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำกว่าอดีตและต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนามซึ่งทำให้การผลิตของประเทศไม่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการแข่งขันกับเพื่อนบ้านจึงอาจกล่าวได้ว่าแม้เงินบาทจะแข็งค่าจากภาพลักษณ์สถานะด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่งแต่ที่จริงแล้วกลับสะท้อนความไม่สมดุลและไม่ยั่งยืนของประเทศเพราะไทยเก็บออมรายได้มากกว่านำไปใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรหรือลงทุนพัฒนาค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพการสร้างรายได้ของประเทศในอนาคต

เมื่อดูบริบทด้านอื่นประกอบด้วยจะเห็นว่า แม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ในระยะต่อไป แต่การขยายตัวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินไว้เมื่อตอนต้นปี รวมถึงการส่งออกอาจฟื้นตัวได้ช้าทั้งจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก ทั้งการเข้าสู่สังคมสูงวัย และปัญหาทักษะแรงงานไม่ตรงความต้องการของนายจ้างขณะที่ต้นทุนค่าจ้างแรงงานไทยก็สูงกว่าประเทศคู่แข่ง จึงพอสรุปได้ว่าการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

แล้วจะแก้ไขเงินบาทแข็งค่าได้อย่างไร?โดยทั่วไปแล้วค่าเงินที่แข็งกว่าปัจจัยพื้นฐานมักปรับตัวอ่อนค่ากลับมาได้ในเวลาต่อมาโดยเฉพาะหากมีการปรับตัวให้เงินไหลเข้าและออกสมดุลกันมากขึ้นโดยต้องอาศัยการปรับโครงสร้างการออมและการลงทุนในประเทศจากความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งจะช่วยปรับสมดุลความต้องการแลกเงินบาทและปรับมุมมองของนักลงทุนในตลาดการเงินต่อแนวโน้มค่าเงินได้ สำหรับกรณีของไทยหลายภาคส่วนรวมทั้ง ธปท. ดำเนินการเพื่อปรับสมดุลดังกล่าวบ้างแล้วดังนี้

157718049072

(1) ส่งเสริมการลงทุนและการเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้ของประเทศโดยเฉพาะการเร่งดำเนินการโครงการลงทุนขนาดใหญ่และการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัลของภาครัฐและภาคเอกชนที่จะต้องนำเข้าสินค้าทุน เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ก่อสร้าง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมากในปัจจุบันซึ่งเอื้อต่อการลงทุน นอกจากจะช่วยยกระดับคุณภาพและเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการของไทยแล้ว ยังช่วยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลน้อยลงต่อเนื่องจากที่ได้ปรับลดลงมาบ้างแล้วในปีนี้

(2) ธปท. ได้ออกมาตรการเฝ้าระวังเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้นโดย(1) ลดช่องทางในการพักเงินและเก็งกำไรค่าเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติโดยลดยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทณ สิ้นวันของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ สำหรับบัญชีNon-resident Baht Account(NRBA)และNon-resident Baht Account for Securities(NRBS)(2) เพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติโดยให้ระบุชื่อผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงเพื่อติดตามพฤติกรรมอย่างใกล้ชิดซึ่งการออกมาตรการดังกล่าวบวกกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย 0.50% ในปีนี้ ช่วยลดปริมาณเงินทุนไหลเข้าเพื่อการเก็งกำไรในช่วงที่ผ่านมาได้ระดับหนึ่ง ในระยะหลังนักลงทุนต่างชาติเริ่มขายหลักทรัพย์ในไทยอย่างต่อเนื่องขณะที่ยังสนใจซื้อหลักทรัพย์ของประเทศอื่นในภูมิภาคอยู่

(3) ธปท. ได้ทยอยผ่อนคลายเกณฑ์กำกับดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายโดย (1) ให้ผู้ส่งออกสามารถเก็บรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศไว้ในบัญชีในต่างประเทศได้โดยไม่ต้องนำเงินกลับมาในไทย (2) ให้ผู้ส่งออกสามารถรับจ่ายเงินในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD)ได้สะดวกขึ้น โดยไม่ต้องแยกบัญชี FCD ตามแหล่งที่มาของเงินตราต่างประเทศตามเกณฑ์เดิมแล้ว (3) ให้คนไทยสามารถนำเงินออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้สะดวกขึ้นโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางในประเทศและสามารถโอนเงินออกนอกประเทศได้โดยเสรี โดยไม่ต้องแสดงเอกสารประกอบการโอนเงินอีกต่อไปการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ดังกล่าวน่าจะช่วยให้ผู้ส่งออกพักเงินรายได้จากการส่งออกในต่างประเทศเพื่อทำธุรกรรมในภายหลังได้ โดยไม่ต้องนำเงินกลับประเทศเพื่อแลกเป็นเงินบาทและเปิดทางให้เงินออมของคนไทยไหลออกไปลงทุนซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศได้มากขึ้น เมื่อเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกมากขึ้นจะช่วยลดแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าที่มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้อีกทางหนึ่ง

จะเห็นได้ว่าการปรับตัวเพื่อลดแรงกดดันค่าเงินบาทของภาคส่วนต่างๆ และให้เงินทุนไหลเข้าออกมีความสมดุลมากขึ้นได้เริ่มเกิดขึ้นบ้างแล้วและยังต้องอาศัยความร่วมมือในการปรับตัวจากทุกภาคส่วนมากขึ้นอีกเพราะกระบวนการปรับตัวบางส่วนต้องใช้เวลา ถ้าผู้เล่นในตลาดการเงินมองว่าการปรับตัวของทุกฝ่ายจะทำให้เงินบาทไม่แข็งค่าต่อเนื่องอีกหลังจากที่แข็งค่ามาพอสมควรแล้ว ค่าเงินบาทก็อาจเคลื่อนไหวได้สองทิศทางมากขึ้นเหมือนที่เกิดขึ้นในระยะหลังๆ รวมทั้งจะส่งผลดีต่อการยกระดับศักยภาพของประเทศไทยในระยะยาวได้อีกด้วย

[บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด]

โดย... 

รัชชพล ศุภวิวรรธน์

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ

นลิน หนูขวัญ

เศรษฐกรอาวุโส

จิรายุ จันทรสาขา

เศรษฐกรอาวุโส ส่วนกลยุทธ์นโยบายการเงิน

ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย